“ผ่าตัดกระเพาะอาหาร” ปลดล็อก “โรคอ้วน” ได้จริงหรือ

31 ธ.ค. 2567 | 01:07 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ธ.ค. 2567 | 01:39 น.

“ผ่าตัดกระเพาะอาหาร” ปลดล็อก “โรคอ้วน” ได้จริงหรือ : Tricks for Life

“โรคอ้วน” เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพ ส่วน “ไขมันส่วนเกิน” ไม่ได้แค่ทำให้ดูอ้วนขึ้น แต่ยังเป็นต้นเหตุของโรคร้ายแรงที่ค่อยๆกัดกินร่างกายจากภายใน โดยไม่รู้ตัว จนก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง

นายแพทย์วรพงศ์ อนุพงศ์อนันต์ ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคอ้วน (Obesity) คือภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันมากเกินปกติจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคข้อเสื่อม และโรคมะเร็ง

นายแพทย์วรพงศ์ อนุพงศ์อนันต์

การวินิจฉัยโรคอ้วนสามารถทำได้โดยการวัดดัชนีมวลกาย (BMI - Body Mass Index) ซึ่งคำนวณจากน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง  ซึ่งคนทั่วไปควรมีค่า BMI อยู่ระหว่าง 18.5 – 22.9 kg/m2 หากค่าเกินกว่า 25  จะถือว่าผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะโรคอ้วน และหากว่าค่าเกินกว่า 30 ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ควรเข้าสู่กระบวนการลดน้ำหนักอย่างเร่งด่วน

หนึ่งในวิธีการรักษาโรคอ้วนที่นิยมในปัจจุบันคือ “การผ่าตัดกระเพาะอาหาร” (Bariatric Surgery) ซึ่งเป็นการรักษาทางการแพทย์ที่สามารถช่วยลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะโรคอ้วนขั้นรุนแรงและไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยวิธีอื่นๆ

ปัจจุบันการผ่าตัดกระเพาะอาหารจะใช้วิธีการผ่าตัดโดยใช้เทคโนโลยีการส่องกล้อง (Laparoscopic surgery) เป็นเทคนิค แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว โดยมี 2 วิธีดังนี้

  • การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร (Laparoscopic Sleeve Gastrectomy : LSG) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมที่สุดในปัจจุบัน โดยจะเป็นการตัดกระเพาะอาหารออกประมาณ 75-80% ให้เหลือปริมาตรประมาณ 150 cc พร้อมกับตัดกระเพาะส่วนที่ผลิตฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความหิวออกไปด้วย วิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ไม่ค่อยหิว และทำให้น้ำหนักลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหาร (Laparoscopic Roux-en Y Gastric bypass) เป็นการปรับโครงสร้างกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กใหม่ โดยทำให้กระเพาะอาหารมีขนาดเล็กลงและเชื่อมต่อกับลำไส้โดยตรง วิธีนี้จะทำให้การดูดซึมอาหารลดลงและลดปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายสามารถรับได้ แต่ในระยะยาวอาจต้องได้รับการฉีดวิตามินบางชนิดเสริม เนื่องจากร่างกายดูดซึมวิตามินได้ไม่เพียงพอ

ซึ่งการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักด้วยเทคโนโลยีการส่องกล้อง Laparoscope  จะต้องทำการรักษาโดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้การผ่าตัดมีความปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน

“ผ่าตัดกระเพาะอาหาร” ปลดล็อก “โรคอ้วน” ได้จริงหรือ

ใครที่สามารถผ่าตัดกระเพาะอาหารได้

  • การผ่าตัดกระเพาะอาหารเหมาะกับ
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
  • คนที่มีภาวะอ้วน หรือมีดัชนีมวลกายสูงกว่า 32.5 กก./ตร.ม. ขึ้นไป
  • ผู้ที่พยายามลดน้ำหนักด้วยตัวเอง ทั้งควบคุมอาหารและออกกำลังกายมาแล้วแต่ไม่ได้ผล

หลังจากที่ผ่าตัดกระเพาะอาหาร จะต้องมาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแผลผ่าตัด และวางแนวทางการกินอาหารในระยะแรกอย่างเหมาะสม ดังนี้

สัปดาห์ที่ 1 จะให้รับประทานอาหารเหลวใสที่รับประทานได้ง่ายเพื่อปรับสภาพกระเพาะ

สัปดาห์ที่ 2 จะให้รับประทานอาหารที่ข้นขึ้น เช่น ซุป

สัปดาห์ที่ 3 จะให้รับประทานอาหารอ่อนนุ่ม เช่น เยลลี่ คัสตาร์ด ไข่ตุ๋น

สัปดาห์ที่ 4 สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ผลการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันไม่ให้กลับมามีภาวะอ้วนลงพุงได้อีก

ทั้งนี้การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วนเป็น ทางเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นได้และกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน สำหรับผู้ที่สนใจควรเข้ามาปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัยสูงสุด