เซนเปลี่ยนโลกเปลี่ยนใจ

20 ก.ค. 2565 | 20:30 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2565 | 01:18 น.

คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย​ ราช รามัญ

ความจริงแล้วธรรมะที่เป็นกึ่งปรัชญา ที่สามารถนำมาใช้กับชีวิตได้อย่างแท้จริง ในรูปแบบของเซน นับได้ว่าใกล้เคียง และเหมาะสม ที่จะนำมาให้ มนุษย์ ได้ศึกษาและปฏิบัติ

 

ในประเทศไทยนี้ท่านเจ้าคุณพุทธทาส พระภิกษุแห่งสวนโมกข์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้ที่นำความรู้ทางด้านปรัชญาในแนวเซนมาเผยแพร่เป็นบุคคลแรก และได้รับการตอบรับอย่างดีในนามหนังสือเว่ยหล่างและฮวงโป​เมื่อหลายสิบปีก่อน

 

ปรัชญาแห่งเซน ได้แตกแขนงมาจากพุทธศาสนามหายาน เริ่มที่ประเทศจีนโดยพระภิกษุที่มีนามว่าตั๊กม้อ​ ที่เดินทางจากชมพูทวีปตอนใต้ของอินเดียไปเผยแพร่ยังประเทศจีน

 

ปรัชญาแห่งเซนนั้น ปราศจากพิธีกรรมที่จุดธูป จุดเทียน อ้อนวอนและร้องขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง ตลอดทั้งวิธีการปฏิบัติที่ไร้รูปแบบ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎธรรมชาติ

จากหนังสือประวัติท่านตั๊กม้อ​ มีหลายความ หลายตอนที่น่าคิดและน่าสนใจอย่างมาก​

 

คราวหนึ่งพระในวัดเส้าหลินนั่งสมาธิในห้องกรรมฐานเพื่อหวังที่จะบรรลุโสดาบัน ท่านตั๊กม้อได้เอาก้อนหินมาถูบนโต๊ะจนเกิดเสียงดัง

 

"ท่านทำอะไรเสียงดัง​พระเขานั่งสมาธิกันอยู่"

 

"เอาหินมาถูให้เป็นกระจก" ท่านตั๊กม้อตอบ

 

"จะบ้าหรอเอาหินมาถูแล้วจะเป็นกระจกได้"

 

"พวกท่านจะบ้าหรอ​ที่นั่งสมาธิเพื่อที่จะให้บรรลุธรรมได้" ท่านตั๊กม้อตอบโต้ไป

 

พระภิกษุรูปนั้นถึงกับตะลึงในคำสนทนาในครั้งนั้น​ แล้วขอโอกาสเรียนรู้ศึกษากับท่านตั๊กม้อถึงวิธีที่จะทำให้เข้าถึงจิตของโสดาบัน

 

แต่ท่านตั๊กม้อเรียกว่า​ จิตเดิมแท้ มิได้ใช้คำว่า​ จิตโสดาบัน​หรือ​ จิตอรหันต์ใดๆ​ เพราะ​ จิตเดิมแท้​ เป็นจิตที่มนุษย์ทุกคนมีมาตั้งแต่เกิดแล้ว​

 

"จิตเดิมแท้" คือจิตประภัสสรที่สงบเย็น ไม่มีสิ่งใดเข้าไปรุมเร้าในเชิงอกุศล ซึ่งจิตชนิดนี้ทุกคนมีมาแล้วตั้งแต่เกิด เท่าเทียมกัน เพียงแต่ประสบการณ์ชีวิต ความรู้การศึกษาและสังคม ทำให้จิตชนิดนี้หายไปจากการสัมผัสได้ ด้วยตัวเราเอง

เป้าหมายหลักของปรัชญาแห่งเซนจึงเรียนรู้ ศึกษาและปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงจิตเดิมแท้ที่มีแต่ความสงบปิติและปัญญารวมอยู่ในนั้น โดยไร้ซึ่งอกุศลทั้งปวง โดยที่ไม่ต้องอาศัยพิธีกรรมและรูปแบบ

 

คราวหนึ่งจักรพรรดิ์ได้พบกับตั๊กม้อแล้วพร่ำพรรณนาว่าตนเองทำทานถวายอาหารพระ ส่งเสริมการศึกษา ส่งเสริมให้คนบวชพระมากมายน่าจะได้บุญอย่างมาก

 

"พระองค์ไม่ได้บุญอะไรเลย" ตั๊กม้อกล่าว

 

จักรพรรดิจึงได้ถามตั๊กม้อว่าไม่ขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือ ตั๊กม้อตอบว่า "ไม่ขัด"

 

"แล้วท่านที่อยู่เบื้องหน้าเราเนี่ยเป็นใคร" จักรพรรดิ์ได้ถามตั๊กม้อ แต่คำตอบที่ได้รับคือ "ไม่รู้"

 

จักรพรรดิคิดในใจว่าตั๊กม้อองค์นี้น่าจะไม่สมบูรณ์ทางสติปัญญา จากนั้นท่านตั๊กม้อก็เดินทางออกจากวัง แล้วไปนั่งสมาธิในถ้ำนานหลายปี จักรพรรดิได้ถามนักพรตรูปหนึ่งที่ตนเองเคารพนับถือ แล้วเล่าเรื่องราวที่สนทนานี้ให้ฟังนักพรตรูปนั้นได้กล่าวว่า

 

"พระรูปนั้นพูดถูกต้องทุกอย่าง​ และยิ่งบอกว่า​ไม่รู้ ​เมื่อถามว่าท่านเป็นใคร​ นี่คือ​ อาการแห่งเป็นอรหันต์แล้ว​ เพราะไร้อัตตาตัวตน​ พระแบบนี้นับเป็นบุญของฝ่าบาทยิ่งนักที่ได้พบและสนทนาธรรมกัน

 

จักรพรรดิ์ อึ้งในคำกล่าวของนักพจน์ จึงได้ให้ทหารองครักษ์ไปนิมนต์ท่านตั๊กม้อกลับมา แต่ไม่ว่าจะทำด้วยวิธีไหนก็ไม่สามารถทำให้ตั๊กม้อกลับมาได้อีก​ นี่คือแนวปรัชญาแห่งเซนโดยแท้จริง​

 

คำสอนของท่านตั๊กม้อได้สอนและเผยแพร่จนมีพระภิกษุสามารถเข้าถึงภาวะจิตเดิมแท้ได้ จากนั้นท่านก็มอบบาตรและจีวรที่ได้นำมาจากอินเดียให้กับพระที่มีจิตเข้าถึงภาวะจิตเดิมแท้ได้ และบาตรนี้ก็กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการมอบต่อๆ กันไปจนถึงผู้ที่ได้รับบาตรและจีวรอันตกทอดกันมาหลายอายุคนของท่านตั๊กม้อ

 

ท่านเจ้าคุณพุทธทาส​ นำเรื่องราวของปรัชญาแห่งเซนจากภาษาอังกฤษมาเขียนเป็นภาษาไทย ในนามหนังสือเว่ยหล่างได้อย่างน่าสนใจ เพราะเว่ยหล่างเป็นคนจีนตอนใต้ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่สามารถเข้าถึงภาวะจิตเดิมแท้ได้ นั่นหมายความว่าฐานะ ความรู้ การศึกษา มิได้เป็นสิ่งชี้วัดว่าจะทำให้ผู้นั้นเข้าถึงสภาวะธรรมอันสูงได้เสมอไป​

 

ทุกอย่างเริ่มต้นที่ใจทั้งสิ้น​ ทุกข์​ สุข ลำบาก​ สบาย เพราะความอกุศลและทุกข์ทั้งปวง​ อยากที่จะจากไปแต่ใจเราไม่คอยยอมปล่อย​ ความทุกข์ทั้งปวงจึงยังคงอยู่​

 

ราชรามัญ​