ลังกาประเทศต้นแบบพุทธศาสนาไทย

17 ก.ค. 2565 | 08:09 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2565 | 15:55 น.

ลังกาประเทศต้นแบบพุทธศาสนาไทย : คอลัมน์สังฆานุสติ โดย... บาสก

ศรีลังกา เป็นประเทศที่คนทั่วโลกจับตามอง ด้วยความเห็นอกเห็นใจ เพราะเศรษฐกิจล่มสลาย ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมัน รถยนต์ แก๊สหุงต้ม และยารักษาโรคในโรงพยาบาลขาดแคลนหนัก


เมื่อเดือดร้อนหนักๆ ประชาชนจึงหันไปหารัฐบาล ชี้หน้าให้รับผิดชอบ ในที่สุดชุมนุมขับไล่ให้ลาออก ตอนนี้ประธานาธิบดี นายโกตาบายา ราชปักษา หนีออกนอกประเทศและประกาศลาออกไปแล้ว เป็นประเทศที่ไม่มีประธานาธิบดี ส่วนประธานาธิบดีรักษาการ ที่เป็นนายกรัฐมตรีด้วย ชาวบ้านก็ขับไล่เช่นกัน ศรีลังกาเจอสภาพเลวร้ายเช่นนี้เพราะบริหารผิดพลาด รวมทั้งการทุจริตคอร์รัปชันด้วย

ที่ผมยกศรีลังกามาเขียน เพราะรู้สึกเห็นใจชาวศรีลังกาที่เป็นพุทธศาสนิกชนเช่นกัน และเป็นพันธมิตรทางพุทธศาสนากับไทยมาแต่ต้นและยาวนาน จนสามารถเรียกว่าเป็นประเทศต้นแบบพุทธศาสนาของไทยได้เลย


พระพุทธศาสนาเข้าสู่ลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ.235 โดยพระเจ้าอโศกมหาราช ส่งพระมหินทร์เถระ และภิกษุณี สังฆมิตตาเถรี ทั้งสองเป็นพระโอรส และพระธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ไปเผยแผ่พุทธศาสนาในลังกาทวีป
 

วัดธรรมาราม อยุธยา ที่พระอุบาลีกับพระอริยมุนี อยู่จำพรรษาก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ จะส่งไปศรีลังกา เพื่อเผยแผ่และฟื้นฟูพุทธศาสนาในศรีลังกา

ในครั้งนั้นทั้งสองได้นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยาไปด้วย หน่อนั้นปลูกที่เมืองหลวง ชื่อ อนุราธปุระ เติบโตกลายเป็นต้นไม้อายุยืนยาวที่สุดในโลกในปัจจุบัน วัดไทยเคยขอหน่อมหาโพธิ์ปลูกในไทย เรียกยกย่องว่า โพธิลังกา ดูได้ที่วัดพระเชตุพนฯ
 

ในช่วงนั้นสมณทูตคณะที่ 8 นำโดยพระโสณะและพระอุตระ มายังสุวรรณภูมิ แต่ชื่อสยามยังไม่มีในแผนที่โลก จนกระทั่ง พ.ศ.1800 จึงมีชื่อสุโขทัย เป็นราชธานีแห่งหนึ่งของสยาม และมีพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระองค์ได้ยินกิตติศัพท์ว่ามีพระสงฆ์จากลังกามาเผยแผ่พระศาสนาที่นครศรีธรรมราช จึงให้คนนิมนต์มาสุโขทัย


นับแต่นั้นพุทธศาสนาหยั่งรากในสุโขทัย เป็นต้นแบบทั้งศาสนา และวัฒนธรรมหลายอย่างในไทย รวมทั้งพุทธเจดีย์และพุทธศิลป์ เช่นพระพุทธชินราช พระชินสีห์ และพระศาสดาที่มีความงามเป็นเอก ก็เกิดในยุคนี้ รวมทั้งพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี คัมภีร์อรรถกถา ฎีกา ว่ามาจากลังกาในยุคนี้เช่นกัน


ความเข้มแข็งสมณลังกา ที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส โดยให้การอุปสมบทชาวสุโขทัยจำนวนมาก พุทธศิลป์ส่วนหนึ่งได้แบบจากลังกา เช่นเจดีย์ช้างล้อม สงฆ์จากลังกาถูกเรียกว่า ลังกาวงศ์


ในสมัยสุโขทัยเช่นกัน ความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนามาก ถึงขนาดที่พระเจ้าแผ่นดิน พระนามว่า พระธรรมราชาลิไทย ทรงผนวช เมื่อ พ.ศ.1905 ไม่ได้ทรงผนวชเฉยๆ แต่ทรงศึกษาพระไตรปิฎกแตกฉาน ถึงกับนิพนธ์หนังสือชื่อเตภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาภาษาไทยเล่มแรกขึ้นมาเป็นปฐม
 

อย่างไรก็ตาม ลังกาประเทศต้นแบบพุทธศาสนาของไทย ก็ประสบปัญหาหนัก จนไม่มีพระภิกษุหลงเหลือในประเทศ นอกจากสามเณรโข่ง (อายุมาก) มีนามว่า สรณังกร รูปเดียว พระเจ้ากิตติสิริราชสีหะ(ครองราชย์ พ.ศ.2290-2324) จึงส่งสมณทูตมาไทย เพื่อขอพระสงฆ์ไปให้การอุปสมบท และฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา 


พระเจ้าบรมโกษฐ์ พระมหากษัตริย์ในช่วงตอนปลายอยุธยา โปรดฯ ให้ส่งสมณทูตไป 2 ชุด ชุดแรก มี 29 รูป เป็นภิกษุ 18 รูป สามเณร 7 รูป มีพระอุบาลีเป็นหัวหน้าอุปสมบทกุลบุตรลังกา จำนวนมาก เรียกพระคณะนี้ว่า อุบาลีวงศ์ หรือสยามวงศ์ ซึ่งเกิดใน พ.ศ.2295 เป็นเกียรติแก่สงฆ์ไทยทุกวันนี้


สมณทูตชุดที่ 2 ประกอบด้วยพระสงฆ์ 20 รูป และสามเณร 20 รูป มีพระสิวิสุทธาจารย์และพระวรญาณมุนี เป็นหัวหน้า เดินทางจากอยุธยาไปศรีลังกา พ.ศ.2298
 

ฝ่ายลังกาชื่นชมสมณทูตไทยมาก จึงบันทึกไว้ในหนังสือชื่อ สยามูปสัมปทวัต เล่าเรื่องพระสงฆ์สยามออกไปให้การอุปสมบทแก่ชาวลังกา หรือชาวสิงหล สถาปนาสังฆมณฑลในลังกาให้กลับมาเข้มแข็งเหมือนเดิม
 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เกิดวิกฤตทางพุทธศาสนาในลังกา คือมิชชั่นนารีใช้ความได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ พิมพ์หนังสือโจมตีพระพุทธศาสนาและบทบาทพระสงฆ์จนทางลังกาไม่มีทางแก้ รัชกาลที่ 4 ทรงทราบ และทรงหาทางช่วยพระสงฆ์ลังกา จึงจัดหาซื้อแท่นพิมพ์ส่งไปให้พระสงฆ์ลังกาพิมพ์หนังสือตอบโต้ มิชชั่นนารี จนเป็นที่ซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณถึงทุกวันนี้


นับว่าเป็นตัวอย่างที่พุทธช่วยพุทธ ที่มีพ่อคือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน พุทธศาสนาจึงจะมั่นคงแข็งแรงต่อไป