ศิลปะ&ตำนานพระสิวลี

16 ธ.ค. 2565 | 21:40 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2565 | 23:29 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนมีโอกาสได้พระสิวลีไม้แกะมาจากเมืองเหนือ สล่าผู้แกะสลักรูปพระสิวลีนี้แลท่าแล้วเปนผู้มีความตั้งใจจะทำงานสร้างสรรค์งานพุทธศิลปะเปนอย่างสูง แม้จะอัตคัตเครื่องมือเครื่องไม้แลเงินทอง ก็ตั้งใจรังสรรค์หาทางสร้างผลงานออกมาโดยเต็มหน้าความพยายาม หาทางซ่อมแซมบูรณะต่างๆ


ผู้ที่พอมีความรู้ทางศิลปะท่านก็ว่า งานนี่ฝีมือสล่าไทใหญ่ คะเนอายุน่าจะเกินห้า-หกสิบปี แต่ไม่น่าจะเกินร้อยปีมากนัก มีลักษณะจำเพาะของฝีมือไทยใหญ่คือ ใช้แผ่นโลหะอย่างสังกะสีมาทำแต่งประดับประดา พร้อมด้วยวัสดุมีค่าแวววามอย่างพวกแก้ว มุกดา กระจก เรียกว่างาน “ปานถ่อง-ปานซอย” 
 

National Geographic ในประเทศไทยให้ความสรรเสริญงานฝีมือปานถ่อง-ปานซอยนี้มาก ธีรภาพ โลหิตกุล พาคุณผู้อ่านไปแม่ฮ่องสอน เพื่อทัศนาซึมซับความปราณีตบรรจงศิลป์ของปานถ่อง-ปานซอยที่วัดหัวเวียงกลางเมือง อันเปนอารามสำคัญสร้างขึ้นด้วยพุทธศิลป์ไทใหญ่อลังการ พร้อมกับการสร้างตัวจังหวัดเมื่อ 160 กว่าปีก่อน
 

ท่านว่า ‘โดยเฉพาะหลังคาโบสถ์ วิหารที่โดดเด่นเป็นพิเศษ นอกจากประดับปานซอย-ปานถ่องที่ชายคาแล้ว ยังนิยมทำหลังคาซ้อนกันหลายชั้น โดยยกจั่วขึ้น แล้วมีหลังคาขนาดเล็กกว่าทิ้งชายครอบลงมา ถ้ามีสองจั่ว และหลังคาซ้อนสามชั้น เรียก “อาคารสองคอสามชาย” หรือในภาษาไทใหญ่เรียก “เจตบุน” แต่ถ้าเป็นอาคารสามคอจั่ว ซ้อนหลังคาสี่ชาย จะเรียกอาคาร “ยอนแซก” ‘ซึ่งหาชมได้ยาก เพราะหากจะทำหลังคาสูงเกินกว่าสองชั้นแบบ “เจตบุน” ก็มักนิยมทำเป็นหลังคาทรงปราสาทซ้อนกันขึ้นไปห้าหรือเจ็ดชั้นไปเลย โดยเป็นทรงปราสาทแบบ “ปราสาทยืด” คือแต่ละชั้นมีฝาสูงเป็นศอกคั่นไว้ แล้วประดับโลหะฉลุลายดอกไม้หรือดวงดาว ไว้ที่ฝาคั่น แลอลังการยิ่งขึ้นไปอีก
 

ปลายยอดของหลังคาทรงปราสาทยืดจะเรียวแหลมคล้ายยอดเจดีย์สวมฉัตรโลหะที่แขวนกระดิ่งโดยรอบ ยามลมพัดพลิ้วเสียงกระดิ่งดังกังวานหวานจับใจ ซึ่งทั้งหลังคาทรงปราสาทและฉัตรครอบปลายยอดนี้ กล่าวได้ว่าชาวไทใหญ่รับอิทธิพลพุทธศิลป์แบบมอญ-พม่ามาอย่างชัดเจน รวมถึงเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบมอญ ตั้งบนฐานซ้อนสามชั้น ชั้นหนึ่งเป็นทรงกลม อีกชั้นเป็นสี่เหลี่ยมและอีกชั้นเป็นแปดเหลี่ยม’

 


 

อันว่าตรงชายคาของหลังคาวัดศิลปะแบบไทยใหญ่ นี่ล่ะจะนิยมประดับด้วย “ปานถ่อง และปานซอย” ซึ่งเป็นแผ่นโลหะตอกลายศิลปะไทใหญ่ผสมผสานกับล้านนา มองดูคล้ายกับลายกนกของไทย ในอดีตใช้แผ่นเงินตีบางเปนวัตถุดิบในการทำ แต่ปัจจุบันแร่เงินราคาสูงลิ่ว แถมกรรมวิธีซับซ้อน สล่าตอกลายจึงนำเอาสังกะสี อลูมิเนียม ตลอดจนวัสดุโลหะแผ่นที่หาได้ในพื้นที่มาตอกลายแทน ช่างสล่าอธิบายว่า “ปานซอย” คือสังกะสีตอกลายที่ห้อยลงมาชายหลังคา ส่วน “ปานถ่อง” คือสังกะสีที่ปลายชี้ขึ้นไปด้านบน

ในยุคที่อังกฤษเข้ามายึดครองพม่าได้ไว้นั้น งานศิลปะเชิงศาสนามีความเกี่ยวข้องอย่างว่าได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมฝรั่งอยู่มาก การจะสร้างอาคารวัดวาอารามใดๆ ก็ใช้เสาโรมันดอริค มาประสม ใส่โค้ง arch เข้าไปก่ออิฐถือปืน เอ๊ย ถือปูน ดังรูปประกอบนำมาลงไว้ให้ท่านชม
 

กลับมาที่เรื่องพระสิวลี หากว่าย้อนไปสมัยกรุงศรีอยุธยา หลักฐานทางโบราณคดีไทยท่านว่าไม่ค่อยพบการสร้างพระสิวลีกันหรอก ถ้าจะมีสร้างรูปพระสาวก ก็มักมีรูปพระมาลัย(ผู้ซึ่งจาริกไปเมืองนรก) เปนหลัก ท่านผู้มีข้อมูลจึงแลกเปลี่ยนให้ฟังว่าคติอันพระสิวลีสร้างกันนี้ไทยรับมาจากฝั่งพม่าไทยใหญ่ มาในสมัยรัตนโกสินทร์เรานี่ โดยรับมาพร้อมๆกับกรณีพระอุปคุต แม้ว่าทางฝ่ายอินเดียพุทธภูมิจะอธิบายว่าพระมหาเถระทั้งสองเปนบุคคลคนละยุคสมัยก็ตาม
 


 

อันส่วนว่าพระสิวลี มหาเถโร ท่านนี้เปนที่ทราบกันดีว่าไทยเรานับถือบูชาว่าเปนนักบุญผู้มีลาภมาก เปนพระอรหันต์ในสมัยพระพุทธองค์ และพระพุทธองค์เองก็ทรงยกย่องว่าเปนผู้มีลาภมากจริงๆ
 

แต่เหตุใดไฉนท่านจึงมีลาภมาก? อยู่ดีๆจะมีลาภมาหาสู่เองเปนไปได้อย่างไร?
 

ก็มีเนื้อความเล่าสู่ท่านฟังดังนี้ ว่าย้อนไปในอดีตชาติ สมัยพระพุทธเจ้าโบราณที่ทรงพระนามว่า “วิปัสสี” พระสิวลีเกิดเปนกุลบุตร_เด็กมีตระกูลในหมู่บ้านใกล้เมืองพันธุมดี  ยามนั้นชาวเมืองกับพระราชาได้หาเรื่องแข่งบุญกันโดยจัดเครื่องไทยทานถวายแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า ชั่วแต่ว่าชาวเมืองพบว่าในกองทานของพวกตนนั้นมีครบทุกอย่างแล้ว ขาดก็แต่น้ำผึ้งเท่านั้นซึ่งฝ่ายพระราชามีแล้วและให้เสวกข้าราชบริพารไปกว้านสต็อกในเมืองมาจนหมดสิ้น จึงได้จัดแจงส่งคนออกไปคอยดักดูผู้คนชนบทที่เดินทางมาจากนอกเมืองว่าผู้ใดจะมีน้ำผึ้ง (ของป่า) ติดตัวมาขายบ้าง บังเอิญจังหวะกุลบุตรพระสิวลี พอดีเดินทางจะเข้าเมืองได้พบรวงผึ้งรวงหนึ่งโตขนาดเท่างอนไถ จึงได้เอารวงผึ้งนั้นเข้าไปในเมืองด้วย ชาวเมืองเห็นรวงผึ้งก็ดีใจจึงได้ขอซื้อในราคาถึง ๑๐๐๐ กหาปนะ กุลบุตรก็แปลกใจว่าทำไมให้ราคาแพงนัก ปกติขายกันแค่ ๕ กหาปนะเท่านั้น จึงทำยักท่าไม่ขายอยู่ เพื่อใคร่จะรู้สถานการณ์ ฝ่ายชาวเมืองกลัวจะไม่ได้น้ำผึ้งก็จะแข่งบุญแพ้พระราชา จึงเสนอขึ้นราคารวงผึ้งนั้นไปอีกถึง ๒๐๐๐ กหาปนะ กุลบุตรเกิดความสงสัยซักไซ้เข้าก็เลยทราบเรื่องของขาด
 

กุลบุตรจึงได้ฉุกคิดขึ้นมาว่า“รวงผึ้งนี้ข้าพเจ้าไม่ขาย  แต่ข้าพเจ้าอยากจะเอารวงผึ้งนี้ถวายเป็นทานร่วมกับพวกท่าน จะได้หรือไม่?”
 

ศิลปะ&ตำนานพระสิวลี


ชาวเมืองทั้งหลายก็โมทนาช่วยกันกรองน้ำผึ้งเข้าไปถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้า เมื่อทรงรับทานน้ำผึ้งของกุลบุตรแล้ว ได้ทรงอธิษฐานว่า “ขออย่าให้น้ำผึ้งของกุลบุตรคนนี้หมดไป ขอให้กุลบุตรคนนี้ได้ถวายน้ำผึ้งแก่พระภิกษุสงฆ์ได้ครบทุกรูปที่มีอยู่ในสถานที่แห่งนี้เถิด”  (พระภิกษุสงฆ์ที่มารับทานของชาวเมืองในวันนั้นมีประมาณ ๕๐๐)
 

ส่วนกุลบุตรเมื่อได้ถวายทานน้ำผึ้งแก่พระภิกษุสงฆ์พร้อมพระพุทธเจ้าด้วยมือของตนเองครบถ้วนแล้วก็อธิษฐานจิตว่า “ขอให้ทานนี้จงเป็นทานอันยิ่งใหญ่เกิดชาติใดภพใดก็ตาม ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีโชคลาภมากกว่าคนทั้งหลาย” พระพุทธเจ้าวิปัสสีก็ทรงอนุโมทนาว่า “ขอให้เป็นไปตามที่โยมปรารถนาเถิด” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กุลบุตรนั้นก็ได้สร้างบุญกุศลอยู่เสมอมิได้ขาดจนสิ้นอายุขัย
 

ดังนี้ก็เปนกองทุนกุศลฝ่ายการขวนขวายทำบุญให้ทานของท่านที่ได้สั่งสมไว้แต่เมื่อหนหลังซึ่งส่งผลติดตัวท่านมา
 

ในชาติต่อๆมา จะขอละไว้ไม่กล่าวถึง จนถึงชาติสุดท้ายของพระสิวลีในขณะที่ยังอยู่ในครรภ์ของพระมารดานั้น  ก็ยังทำให้พระมารดาของท่านมีโชคลาภหลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสายทั้ง ๑๐ ทิศ ทั้งแก้วแหวนเงินทองเพชรนิลจินดาเครื่องบริโภคและอุปโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ต่อมาเมื่อท่านบวชพระอันตัวลาภสักการะนี้ก็มาสู่ท่านอยู่เนืองๆ
 

คราวหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จยาตรากองทัพธรรมไปที่กันดารห่างไกล ใครๆก็ว่าการเดินทางครั้งนี้จะลำบากเปนแน่แท้ นัยยะว่ากองทัพใดๆล้วนต้องเดินด้วยท้องจะมีผู้ใดในดงกันดารนั่นมาช่วยหาของใส่บาตร
 

ก็ทรงตรัสดำรัสเรียกพระสิวลี มหาเถร ให้ตามเสด็จไปด้วย ด้วยคุณวิเศษติดตัวของพระสิวลีนี้ ก็เปนเหตุให้ผู้คนเหล่าเทวดาพากันมาเลี้ยงพระเลี้ยงเพลอยู่ตลอดเวลาการเดินทาง
 

ดังนี้เวลาสร้างรูปเคารพของท่านจึงมักสร้างเปนตอนเดินธุดงค์สะพายบาตร แบกกลดหม้อกรองกาน้ำระลึกถึงตอนท่านออกเดินทางไปกับพระพุทธเจ้าโคตมะ
 


 

ภาพนี้พระภิกษุหนุ่มไทลื้อแห่งรัฐฉานที่วัดน้ำหลุกเก่าเมืองพง ท่าขี้เหล็ก ชื่อพระทูน เตชวโร วาดไว้ตามคติต้นทางของพระสิวลีที่จะต้องมีรวงผึ้งซึ่งเปนต้นบุญประกอบภาพไว้เสมอ
 

ส่วนรูปเคารพของไทยนอกจากที่สร้างรูปยืนแล้วก็มีรูปนั่ง อย่างที่เรียกกันว่าพระสิวลีจกบาตร ซึ่งประดาศิลปินประติมากรผู้สร้างจะทำสัญลักษณ์แยกขาดจากกรณีพระอุปคุตที่นั่งจกบาตรเหมือนกันให้เห็นชัดเจน กล่าวคือ รูปพระสิวลีจะสร้างให้ก้มมองลงที่บาตรในกิริยาฉันอาหารปกติ แต่รูปพระอุปคุตจะสร้างให้ท่านแหงนหน้าขึ้นดูตะวันบทนภา ด้วยว่าตำนานพระอุปคุตปราบมารท่านดูเวลาผ่านพระอาทิตย์ นอกนี้ก็อาจมีที่สร้างองค์ประกอบบอกใบ้ไว้ให้เช่น ถ้าพระสิวลีนั่งจกบาตรฉันอาหารก็จะมีเครื่องอัฐบริขารการธุดงค์วางไว้ข้างๆ ส่วนพระอุปคุตจำศีลอยู่ในน้ำก็สร้างรูปปูปลาเต่าเอาไว้ บางที่ก็ทำใบบัวปิดที่หัวศีรษะท่านบ่งนิยามความหมายการอยู่ในห้วงน้ำมีต้นไม้น้ำคือบัว
 

ข้างกรณีพระมาลัย โดยทั่วไปรูปพระมาลัยท่านถือตาลปัตรเพราะว่าเอาไปสวดมนต์โปรดสัตว์ในนรก ไม่ได้ถือกลดอย่างว่าออกธุดงค์รอนแรมป่าเขาเหมือนพระสิวลี

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,845 วันที่ 18 - 21 ธันวาคม พ.ศ. 2565