ภาพนี้เดอะ เกรท เวฟ ออฟ คานากาวะได้มาสู่ตัวก็เพราะสาวน้อยจากสกุลผู้ดีท่านหนึ่งเธอมาหัดงานด้วยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ช่างเปนคนที่ฉลาดแจ่มใส สมองไว และเปี่ยมทักษะทางสังคม เรียนวิชาคำนวณเศรษฐศาสตร์ได้ดี มีอนาคตในเส้นทางวาณิชธนกิจ_investment banking เธอเปนคนละเอียดหมั่นสังเกตลูกค้า ศึกษา วิเคราะห์ ตัวเลข วางแผนนำเสนอ เธอสังเกตว่าผู้ฝึกสอน _mentor ของเธอสูบยา และปักผ้าเช็ดหน้า
คราหนึ่งไปอิตาลีกับครอบครัวจึงซื้อยามาฝาก ไปญี่ปุ่นกับเพื่อนฝูงจึงซื้อผ้าเช็ดหน้ามาฝาก เปนผ้าบางเบาเนื้อละเอียดพิมพ์ลาย คลื่นยักษ์นอกชายฝั่งคานากาว่า (ใช้ว่า off Kanagawa ไม่ใช่ of Kanagawa) ของศิลปินใหญ่นามอุโฆษ คือ โฮกูไซ สร้างไว้ด้วยการพิมพ์แกะไม้แต่สมัยเอโดะ 1832 โน่น ตัวจริงปัจจุบัน เขาเก็บไว้ที่เดอะเม็ทฯในนิวยอร์ค
คนยุคหลังๆตีความภาพนี้ว่าคือสึนามินั่นแล แต่เจ้าตัวว่าเปนผลงานชุดทัศนียภาพ 36 แบบของภูเขาไฟฟูจิ ในภาพจะเห็นฉากหลังเปนฟูจิอยู่ลิบๆและมีเรือสามลำกำลังดิ้นรนไขว่คว้า ชะตาคลื่นให้รอดชีวิต ภาพชุดนี้ยังมีอื่นๆอีก เช่น “ฟูจิแดง”, “พระอาทิตย์ตกที่สะพานเรียวโงกุจากฝั่งน้ำสุมิดะ” ฯลฯ แต่ไม่ดังเท่าภาพคลื่นยักษ์ที่กำลังนำเสนอท่านผู้อ่านอยู่นี้
ขึ้นหัวเรื่องมาดังนี้ก็เพราะว่ามีท่านผู้อ่านสำคัญ ท่านอ่านตอน “บางสัก ไพลินระยิบแสงแห่งอันดามัน” แล้วทักถามมาว่าสถานการณ์บ้านน้ำเค็ม ชายทะเลเขาหลักบัดนี้เปนอย่างไร ก็แต่เมื่อครั้งสหัสวรรษปีสองพัน เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ชายฝั่งอันดามันในนามกรว่าคลื่นยักษ์ สึนามิ เล่นเอาจังหวัดชายทะเลตั้งกะระนองพังงาไปยังภูเก็ต รับเอาพิบัติภัยชนิดนี้เล่นงานเสียอ่วมอรทัย (สงสัยท่านกลัวผี55)
ในใจนี้ก็นึกถึงว่าอันพิบัติภัยนี้เปนของคู่กับมนุษยชาติ เกิดมาแล้วมันต้องเจอ หนีไม่อาจพ้น เวลานั้นพี่สาวอยู่ในเรือสำราญ กัปตันเรือเปนผู้เฒ่าทะเลเมื่อเห็นน้ำลดลงผิดปกติ ท่านได้สั่งให้อพยพทุกคนออกจากเรือ วิ่งขึ้นเขาที่สูงที่สุดให้ไว ตัวกัปตันเองไม่ทิ้งเรือ ส่งคนแล้วเร่งเครื่องออกหนีจุดน้ำตื้นเข้าทะเลลึก พี่สาวให้การภายหลังว่าวิ่งๆๆและวิ่ง ฝ่าหนามไหน่ เกี่ยวบาดไม่ได้สนใจ คิดถึงแต่เอาชีวิตให้รอดไว้ โกยอ้าวขึ้นเขาที่สูง
ตัวเองเวลานั้นอยู่มหานครเซี่ยงไฮ้ โลกยุคเพิ่งมีอินเตอร์เน็ตข่าวสารผ่านทางทีวี ยังงุนงงอยู่มาก เกิดมาไม่รู้จักเลยสึนามิ และทำไมมันรุนแรงกวาดล้างขนาดนั้น
เดอะ เกรท เวฟ ออฟ คานากาวะ ศิลปะพิมพ์ไม้นี้จะใช่สึนามิหรือไม่ก็ตาม ต่อมาอีก 20 ปี สึนามิประหลาดก็ถาโถมเข้าใส่ในหัวใจอีกครั้ง
สาวน้อยผู้ซื้องานศิลป์นี้มาฝาก ต่อมาได้เปนฝั่งฝา แต่งงานออกเรือน มีลูกน้อย ย้ายไปทำงานสากลตามเมืองมหานครต่างๆกับสามีฝรั่ง แต่คงเกิดเหตุร้ายแรงในดวงใจของเธอบางประการจนมีอาการแห่งโรคซึมเศร้า ยามเมื่อเข้ามากรุงเทพพระมหานครมาแล้วเกิดทนพิษในใจไม่ได้ตัดสินใจจบฉากชีวิตกับลูกชายโดยการก้าวลงสู่อากาศจากอาคารสูง
...โถ่...แผ่นดินมันไหวในใจคน มันเปนอย่างนี้
พี่เสียใจเหลือเกิน ขอดวงจิตอันงามใสซื่อตรงของเธอไปสู่สุขคติสัมปรายภพเทอญนะ พี่แวะไปเคารพเธอแล้วที่โบสถ์ เผื่อว่าจะเปนจุดเริ่มต้นของการพบกันใหม่ หลายคราวชีวิตเหมือนฝัน มีหวัง แสนสั้น แล้วพลันอำลา
มาถึงบรรทัดนี้ ก็ทำให้นึกถึงว่ายามมีเหตุเภทภัยร้าย ศิลปินอังกฤษ ภายใต้วัฒนธรรมสมัยสงครามโลก ซึ่งรัฐบาลจัดตั้งกระทรวงโฆษณาการ (โดยใช้ชื่อให้ไพเราะเสียใหม่ว่า กระทรวงข้อมูลข่าวสาร Ministry of Information) ออกแคมเปญมาอันหนึ่งซึ่งยุคนี้เราเห็นทั่วไปในนาม KEEP CALM & CARRY ON แผ่นป้ายสีแดงใต้พระมหามงกุฎทิวดอร์
เวลานั้นเยอรมันบุกมาก มีการโจมตีทางอากาศสถานการณ์ค่อยๆทวีความเลวร้ายเปนลำดับการรับมือความเสียหายอย่างชนิดจะวินาศสันตะโรของปวงชนหมู่มากจำจะต้องอาศัยความสงบสุขุม กระทรวงคิดและวางแผนออกสื่อหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โปสเตอร์ แผนการคือรีบพิมพ์ให้เสร็จและส่งไปก่อนเกิดเหตุ เพื่อให้ใช้ได้ทันท่วงที เวอร์ชั่นแรกเขียนว่า
“Your Courage, Your Cheerfulness, Your Resolution Will Bring US Victory” “ความกล้าหาญของท่าน, แรงใจของท่าน,ความเด็ดเดี่ยวของท่านจะนำชัยมาให้พวกเรา” ถัดมารัฐบาลคงมุ่งที่จะระดมความหาญกล้าเพราะสถานการณ์สงครามเริ่มตึงเครียด จึงว่า “Freedom Is In Peril, Defend It With All Your Might” “อิสระภาพกำลังถึงฆาต ปกป้องมันด้วยพลังทั้งหมดที่ท่านมี”
โปสเตอร์แบบที่ 3 เปนแบบที่รัฐบาลจะใช้ในกรณีร้ายแรงเท่านั้นแบบว่ายามเมื่อบ้านเมืองโดนถล่มเละราบคาบหักพัง นั่นคือ “Keep On And Carry On”ซึ่งสุดท้ายแล้วสงครามจบเสียก่อน ไม่ได้นำมาใช้
โปสเตอร์สองชุดแรกติดทั่วอังกฤษ ก็น่ายกย่องเขาในแง่ดีไซน์เพราะง่ายแก่การเข้าใจและง่ายสำหรับการผลิตในสมัยที้ยังไม่มีรูปถ่าย การมีพระมหามงกุฎทิวดอร์ ประกอบฉาก ทำให้โปสเตอร์มีฐานะเปนสาส์นจากรัฐบาลในพระปรมาภิไธยของพระเจ้าอยู่หัว (หรือควีน) ถึงปวงประชาชนอีกโสตหนึ่งด้วย
งานออกแบบครานี้สำคัญคือข้อความที่เรียงด้วยตัวพิมพ์ล้วนๆ Keep Calm ไม่ได้ใช้ตัวพิมพ์หรือฟอนต์มาตรฐานของยุคนั้น แต่ถูกออกแบบเพื่อใช้กับงานนี้โดยเฉพาะ โดยฝีมือของช่างในกระทรวงผู้ไม่ปรากฏชื่อเสียงเรียงนาม คนช่างสังเกตบอกว่าตัวพิมพ์อักษรนี้มีหน้าตาคล้าย London Underground หรือระบบป้ายของรถไฟใต้ดินของลอนดอน ซึ่งออกแบบราวปี พ.ศ.2470 โดยนักออกแบบชาวอังกฤษสองคนคือ Edward Johnston และ Eric Gill และกลายเปนตัวแทนของความเปนผู้ดีอังกฤษตั้งแต่แรกที่ออกมาในยุคนั้น
โปสเตอร์ชุด Keep Calm นี้ถูกลืมไปเกือบหกสิบปี ในปี พ.ศ.2543 เจ้าของร้านหนังสือ Barter Books ที่ Alnwick ในอังกฤษ ค้นพบพวกมันหลายหมื่นแผ่นในกองสิ่งของที่แกประมูลมาโดยไม่รู้ที่มาและความหมาย เลยเอามาใส่กรอบและติดผนังร้านสวยดี พอมีคนขอซื้อก็ขายให้ในระยะเวลา 9 ปี เขาเล่าว่าขายไปแล้วกว่า 40,000 แผ่น แลหลังจากนั้น ก็Keep Calmค่อยๆ บูมขึ้นมาเพราะกลายเปนเสื้อยืด ถ้วยกาแฟ พรมเช็ดเท้า หมวก ถุง ฯลฯ
นอกนี้ศิลปินร่วมสมัยอย่าง โยชิโมโต้ นาระ ผู้ซึ่งเร็วๆนี้กวาดรายได้ไปเกือบพันล้านบาทในการประมูลภาพวาดของเขา ณ สถาบันการประมูลฟิลลิป ในฮ่องกง เมื่อคราวสึนามิพัดโหม เขาก็ส่งรูปปั้นเจ้าหมาขาว งานศิลปะมีชื่อของเขามาวางไว้ประโลมใจชน ที่หาดป่าตอง บ้านเรา ด้วยคงเพราะทั้งเขาทั้งเราต่างก็เชื่อมั่นในอำนาจการจรรโลงใจของงานศิลปะยามเมื่อจิตใจร้อนกลุ้ม บ่มทุกข์เข็ญ
อีทีนี้ต่อข้อถามของท่านผู้อ่านว่าหลังเหตุสึนามิแล้ว เขาหลัก บางสัก บ้านน้ำเค็ม เปนอย่างไรบ้างนั้น ก็ต้องเรียนตอบท่านไปด้วยใจมิตร ว่า Keep Calm & Go เขาหลัก กันเถิดครับ
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,889 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566