มีแฟนคลับหลายท่านที่สนใจการทำโยคะมาก่อน ได้ส่งคำถามมาหาผม ซึ่งส่วนใหญ่จะสอบถามถึงแนวคิดที่แท้จริงของโยคะ ว่าหัวใจของโยคะคืออะไร? วัตถุประสงค์ของการทำโยคะจริงๆ แล้วคืออะไร? ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับคำถามที่เราควรต้องหาคำตอบ
ผมจึงได้ไปขอความรู้จากท่านปรมาจารย์ด้านโยคะ ท่าน Bhagavan Shri Shanmukha ที่ท่านได้เล่าเรียนวิชาโยคะมาอย่างลึกซึ้ง และได้สอนโยคะให้แก่ลูกศิษย์ของท่านมาสี่สิบกว่าปี เพื่อเป็นวิทยาทานให้แก่ผม
คำตอบที่ได้รับจากท่าน Bhagavan Shri Shanmukha ได้กล่าวกับผมว่า ปัจจุบันนี้มีหลายๆ ประเทศ ที่นำเอาโยคะมาใช้ในการบริหารร่างกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง หรือบางแห่งก็ทำการบริหารร่างกายด้วยโยคะ เพื่อความสวยงามของร่างกายเท่านั้น
ซึ่งส่วนใหญ่มักจะทำเป็นธุรกิจไปแล้ว โดยที่ไม่ได้รับทราบถึงหัวใจของโยคะที่แท้จริงเลย ในประเทศอินเดียเอง ในยุคอดีตกาลก็จะมีกลุ่มฤษีโยคีกลุ่มใหญ่ ต่างก็ใช้โยคะมาเป็นเครื่องมือในการเข้าถึง “ตันตระ” หรือเข้าถึงสุดยอดของการปลดปล่อย
ซึ่งก็เหมือนกับทางพุทธศาสนาของเรา ที่หมายถึง “การบรรลุอรหันต์” นั่นเอง ด้วยเหตุดังกล่าวโยคะ จึงเป็นเครื่องมือในการบริหารกาย บริหารจิตใจ และบริหารอารมณ์นั่นเอง ด้วยแนวคิดที่ว่า หากร่างกายมนุษย์ที่มีสุขภาพที่แข็งแรง จึงจะสามารถทำให้จิตใจผ่องแผ้วได้ หากสุขภาพร่างกายมีแต่โรคร้ายรุมเร้า แน่นอนว่าจิตใจก็ไม่สามารถ “นิ่งสงบ”ลงได้ เพราะโรคร้ายต่างๆ ที่อยู่ในร่างกายเรา ก็จะส่งผลให้มีแต่ความกังวลใจ
ด้วยเหตุเพราะเราทุกคน ยังคงเป็นปุถุชนคนธรรมดา ที่ยังคงมี “รัก โลภ โกรธ หลง” อยู่ในตัวเราทุกคน ดังนั้นจึงยากที่จะเข้าถึงตันตระได้ หากเราไม่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ในขณะที่อารมณ์ก็เช่นกัน หากร่างกายไม่แข็งแรง ย่อมส่งผลทำให้อารมณ์หงุดหงิดตลอดเวลา
บางคนร่างกายมีปัญหา ก็มักจะแสดงออกทางร่างกายด้วยการระบายอารมณ์ที่รุนแรงออกมานั่นเอง จะเห็นได้จากคนไข้บางคนที่มีอาการเจ็บป่วยภายในร่างกาย มักจะใช้อารมณ์โกรธฉุนเฉียว เพื่อระบายออกมาโดยไม่รู้สึกตัวว่ากำลังเป็นอะไรนั่นเองครับ
ดังนั้น “หัวใจของโยคะ” ฟังดูเหมือนว่าจะคล้ายกับการสร้างเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อรองรับการบริหารจิตใจให้ผ่องแผ้ว และเข้าถึง “ตันตระ” หรือการบรรลุนั่นเอง ดังนั้นเราจึงสามารถเห็นได้ว่า แต่ละท่วงท่าของการบริหารร่างกายด้วยโยคะ จะมุ่งเน้นไปที่จุดต่างๆ ของอวัยวะในร่างกาย
เพื่อรองรับกับการบริหารจิตใจและอารมณ์นั่นเองครับ ส่วนในด้านวัตถุประสงค์หลักของการบริหารด้วยการทำโยคะ ก็หาใช่เพื่อทำให้ร่างกายมีสภาพที่สวยงามอย่างเดียวไม่ เพราะนั่นเป็นเพียงส่วนเกินที่ได้รับอานิสงส์จากการทำโยคะเท่านั้น ส่วนวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ก็เพื่อสร้างเสริมให้สุขภาพที่ประกอบด้วยสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ และสุขภาพอารมณ์ของเราทั้งหมดนั่นเองครับ
ส่วนที่จะประสบผลสำเร็จได้ดังใจเราปรารถนาได้ ก็ไม่ใช่ว่าจะใช้เพียงการทำโยคะเท่านั้นจึงจะประสบผลสำเร็จได้ ท่าน Bhagavan Shri Shanmukha กล่าวกับผมว่า บางครั้งก็จำเป็นจะต้องประกอบด้วยการใช้ “ยา” เข้ามาช่วยในการรักษาอาการเจ็บป่วยของร่างกาย จึงจะประสบผลสำเร็จได้
ยาในที่นี้หาใช่ยาแผนปัจุบันที่มีส่วนผสมของสารเคมีเพียงอย่างเดียวไม่ เพราะนั่นแม้ว่าเราจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการรักษาได้ แต่ก็มีความเสี่ยงในการรับเอาสิ่งที่เราไม่อยากได้ เข้าสู่ร่างกายเราไปด้วย นั่นก็คือสารเคมีที่สามารถให้ได้ทั้งคุณและโทษนั่นเอง
แต่ในอดีตจนถึงปัจุบัน ฟากฝั่งของประเทศตะวันออก เราจะมี “ยาสมุนไพร” ที่เป็นพืชที่เป็น Organics อยู่เยอะมาก เพราะประเทศเหล่านั้นมักจะอยู่ในเขตโซนร้อนที่มีฝนชุก เหมาะสมกับที่พืชเหล่านั้นสามารถเติบโตได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสารเคมีในรูปของปุ๋ย เข้ามาช่วยในการเร่งให้พืชสมุนไพรเหล่านั้นเติบโตนั่นเอง ดังนั้นหากเราสามารถนำเอาสมุนไพรเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาสุขภาพของตัวเรา ก็จะได้รับยาที่ไม่มีสารเคมีเข้ามาสู่ร่างกายเราได้เลยครับ
อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพ และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความรู้หรือวิทยาการที่ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเลย เพราะประเทศไทยเรามีอยู่มานมนานแล้ว ท่าน Bhagavan Shri Shanmukha กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศไทยเรามีความพร้อมมากๆ ก็คือ “การแพทย์แผนไทย” ที่มีทั้งการใช้สมุนไพรดังที่กล่าวมาแล้ว และการนวดเพื่อสุขภาพ ที่สามารถนำมาผสมผสานกับการทำโยคะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังเช่นแพทย์แผนจีนได้ทำสำเร็จมาก่อนแล้ว นั่นคือการนำเอาสมุนไพรจีนมาเป็นยารักษาโรค และนำเอาศาสตร์ของ “ทุยน่า” ที่เป็นการนวดที่มีส่วนคล้ายคลึงกับนวดแผนโบราณของไทยเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีการนำเอาศาสตร์ฝังเข็มและศาสตร์ “ปา-กว้า” (เป็นการใช้ขวดปากกว้างแล้วจุดไฟด้านในขวด เพื่อให้ภายในขวดเป็นสุญญากาศ มาวางทับไว้บนจุดต่างๆ ของร่างกาย ให้ขวดนั้นดูดเอาผิวหนังขึ้นมา)
รวมทั้งใช้วิธีการ “กัวซา” คือการใช้วิธีขูดผิวหนัง เพื่อให้เกิดอาการห้อเลือด นั่นคือหนึ่งในวิธีการถ่ายเลือด หรือใช้วิธีการเจาะตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เพื่อเป็นการถ่ายเลือดเสียออกจากร่างกาย ซึ่งใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ตามแพทย์แผนจีน
หลังจากที่ฟังท่าน Bhagavan Shri Shanmukha พูดจบ ทำให้ผมคิดต่อถึงศาสตร์แพทย์แผนไทยเราเอง ซึ่งก็มีสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษไทยมากมายหลากหลายวิธีการรักษาโรค หากเราสามารถนำมาผสมผสานตามที่ท่าน Bhagavan Shri Shanmukha พูดถึง แล้วช่วยกันผลักดันให้เดินหน้าเข้าสู่ตลาดโลก
น่าจะประสบผลสำเร็จได้ไม่ยาก เพราะปัจุบันนี้นวดแผนไทยของเราเอง ก็ได้เดินนำหน้าไปไกลมากแล้ว ถ้าเราจะให้นวดแผนไทย นำพาเอาแพทย์แผนไทยไปเข้าสู่ตลาดสากล เสมือนดังเป็นกุศโลบายให้พี่พาน้อง เราก็สามารถมีโอกาสได้เห็นแพทย์แผนไทยขจรขจายอยู่บนเวทีสากลได้ไม่ยากครับ