อุปเท่ห์ แปลโดยราชบัณฑิตว่าไร_ไม่รู้ รู้แต่ทางพระเกจิคณาจารย์ท่านว่าเปนคำอธิบายเกี่ยวแก่เคล็ดทางอย่างว่าเหตุแห่งการสร้างวัตถุมงคล (ซึ่งภาษาพระธรรมยุตว่า-สิ่งมงคลสักการะ) ประสมกับวิธีการอาราธนา ‘คุณ’ ในวัตถุนั้นๆเพื่ออ้างอิงนำมา_พาผลมาสู่ ผู้ใช้หรือผู้บูชาวัตถุมงคล (สิ่งมงคลสักการะ) เช่นว่า
งวดนี้จะพูดถึงอุปเท่ห์ฝ่ายผลไม้ อันปรากฏในเหรียญของครูบาอาจารย์ท่านต่างๆในอดีต เนื่องจากคุณผู้อ่านทักถามมาเกี่ยวแก่พระใบมะนาว ที่เขียนถึงไว้ในตอนวัดเด่นสะหลีฯ ถึงว่าของมงคลต่างๆเหล่านี้หาใช่แต่สวยที่รูปศิลปะแต่เนื้อหาสาระการสร้างนั้นมีนัยยะที่มางามงด
คราวสามสิบ สี่สิบปีก่อนนี้ พระครูโกวิทสมุทรคุณ หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี แขวงเมืองแม่กลอง มีวิชาอย่างที่อาจเรียกแบบพื้นฐานประสาชาวบ้านว่าเสกปูนสูญฝี ซึ่งแท้จริงแล้วเปนอิทธิคุณชั้นสูงทางจิตในการน้อมนำหน่วงเหนี่ยวเอาพลังธรรมชาติมาสถิตลงในวัตถุบางประการแล้วผู้ป่วย (ในเวลาไม่มีสาธารณสุขแนววิทยาศาสตร์ทั่วถึง) รับเอาไปบริโภค (คือ กิน/เสพ/ใช้สอย) บำบัดอาการทุกข์ทรมานจากโรคาพาธนั้นๆ
หลวงพ่อท่านใช้ใบมะนาว เปนเครื่องรองรับอิทธิคุณดังว่า ภาษาชาวบ้าน_เรียกด้วยความไม่รู้ว่า_หลวงพ่อเสกใบมะนาวให้เราไปบริโภครักษาโรค (จะกินสด/กินต้ม/แช่น้ำ-ก็แล้วแต่ดีเทลรายละเอียดรายคน)
ครั้นหลวงพ่อผู้โพธิสัตว์จะละสังขาร ด้วยเหตุความเมตตาล้นพ้นประมาณ เกรงว่าผู้ทุกข์ยากจะไร้ที่พึ่ง ก็ได้สำแดงเจตนา ให้สร้างเหรียญใบมะนาวขึ้นเปนอุปเท่ห์ รั้งวิชาเสกใบมะนาวไม่ให้สูญ ใช้กายหยาบในชาติภพนี้ประกอบกิจด้วยใจแผ้ว ดึงเอา ปราณะ เอนเนอยี่ ตามตำรับสายวิชาเสก ประจุเข้าในเหรียญสมมติใบมะนาวที่ซ้อนสมมติวิชามะนาว ด้วยอำนาจวิมุติสมบัติ
ผู้ใดเจ็บไข้ได้ป่วย ถ่อสังขารอันยากมาถึงวัดแล้ว พบอยู่แต่ร่างสังขารอันแข็งเปนหินของหลวงพ่อผู้เมตตา ผู้บัดนี้ไม่อาจจะสื่อสารทานยากให้แก่เวไนยสัตว์ซึ่งบัดนี้อยู่กันต่างภพเสียเเล้ว
โยมผู้ทุกข์ทนเหล่านั้นจะได้ยังมีใบมะนาวของขลังกลับไปใช้ที่บ้าน โพธิสัตว์อาจข้องอยู่ในการตรัสรู้ ทว่าเปนผู้คิดถึงประโยชน์แต่ผู้อื่นตลอดเมื่อยามยัง เช่นนี้ พรหลวงพ่อยังอำนวยผ่านวัตถุ_เหรียญใบมะนาวนี้ได้อยู่
ได้ไปแล้วจะไปคล้องคอ ไปแช่น้ำทำน้ำมนต์ก็ตามใจเถิด_ดวงจิตโพธิสัตว์ติดตามไปอำนวยพรผ่านสะพานอุปเท่ห์อันเปี่ยมด้วยเมตตา_หวังดีตามสำนึกสายวิชา ว่าคุณสมมติใบมะนาวนี้หาได้สูญตามวิมุติสังขารอันดับลับลาของท่านไปด้วย
ปัจจุบันยังพอเห็นศิลปวิทยาสายใบมะนาวแห่งแม่กลองอยู่ที่หลวงพ่อใจ วัดพระยาญาติสัทธิวิหาริกของหลวงพ่อเนื่องท่าน
ข้างที่นครชัยศรี อันเปนมณฑลลำดับศักดิ์สูงกว่าจังหวัดนครปฐมมาแต่เดิม หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว เจ้าคุณพระพุทธวิถีนายกมีเหรียญส้มโอ บ่งชี้ผลลัพธ์โตใหญ่เต็มใบเต็มผล มีหลวงปู่ดี วัดสุวรรณ สืบวิชาสร้างเหรียญส้มโอ ชะรอยจะเกี่ยวเนื่องด้วยคำขวัญ ส้มโอนครชัยศรี เปนของดีมาจนปัจจุบันว่า -ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย-
ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ คณะศิษย์สร้างเหรียญลูกมะพร้าวในนามหลวงปู่แหวนสุจิณโณ
ที่ประจวบคีรีขันธุ์ หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก พระครูนิยุตธรรมสุนทร ผู้สรงน้ำปีละครั้งและสานุศิษย์ต้องขัดตัวท่านด้วยแปรงทองเหลือง ท่านสร้างเหรียญสับปะรด ดอกผลสมบูรณ์อันจากผืนดินประจวบฯ หูตาพราว ทรวดทรวงงามดี อาจเปนด้วยว่าที่ประจวบเวลานั้นรุ่งเรืองด้วยอุตสาหกรรมเกษตรปฐมภูมิคือปลูกสับปะรดเพราะดินทรายดี และทุติยภูมิคือโรงงานสับปะรดกระป๋องส่งออกไปนอก
คุณหลวงพ่อยิดจารึกที่เหรียญสับปะรดของท่านว่า “ขอให้ทำดี, รวย”
อันนี้น่าจะเปนอุปเท่ห์สำคัญของปริศนาธรรมหลวงพ่อยิด
ที่ชลบุรี หลวงพ่อโด่ พระครูพินิจสมาจาร วัดนามะตูมมีเหรียญลูกมะตูม บ่งบอกที่มาตามชื่อวัด และผลมะตูม beal fruit ก็ช่างเยือกเย็นหอมอ่อนละมุน เหมาะแก่ผู้รักษาศีลาจริยเพศ เพราะมะตูมมีอำนาจระงับกำหนัดความใคร่ได้ดี ช้างป่ากินลูกมะตูมสดฝาดยางเคี้ยวกร้วมๆ คนไทยมอญ กินเนื้อสดโดยราดน้ำกะทิข้นตัดเกลือหวานเค็ม พระเณรเอาผลตากแห้งฝาน ชงน้ำร้อนดื่มต่างน้ำชา
ที่กาญจนบุรี สังขละ หลวงพ่ออุตตมะ พระราชอุดมมงคล คราวชนมายุถึงวัฒนมงคล 7 รอบ ได้ใช้อุปเท่ห์ฝ่ายผลท้อ สื่อความหมายอายุยืน_สิ่วท้อ สร้างเหรียญที่ระลึก หลังเจดีย์สามองค์ในคราวนั้น
หลวงปู่ทิม ที่วัดพระขาว ศิษยานุ ศิษย์สร้างเหรียญทับทิมผลไม้ ตามชื่อของท่านว่าทิม อุปเท่ห์เปนมงคลสวยงาม ชาวจีนทั้งหลายที่นับถือในอิทธิคุณของทับทิมว่าเมล็ดเยอะ เปนผลไม้แห่งความอุดมสมบูรณ์ ก็เอาสตางค์กว้านกวาดซื้อหากลับประเทศกันเปนจำนวนมาก หลวงปู่หน่าย วัดบ้านแจ้ง ก็เช่นกันเหรียญ
ผลทับทิมของท่านสวยงาม นับถือกันว่าอุปเท่ห์กันเสนียดจัญไรดีนัก
นอกนี้ยังมีพระกิ่งไผ่ ไม่ใช่ผลไม้ แต่พระอริยะจำพรรษาในป่าไผ่ก็มีอรหันต์ในป่าไผ่ นามกรนี้จะเปนใครไปไม่ได้นอกจากครูบาเจ้าเกษม เขมโก ผู้บรรลุธรรมอันเกษม
เหตุที่ขานนามกรท่านว่าครูบาเจ้า_ก็เพราะชาติภูมิกำเนิดท่านเปนเจ้าจริงๆสืบวงศ์ทิพจักร ลำปางหลวง ทั้งทางบิดาเจ้าพ่อน้อยหนู (-น้อยเพราะบวชเรียนเปนเณร หนูเปนชื่อจริง) และมารดาเจ้าเเม่บัวจ้อน
อนึ่ง ทางเหนือสืบสายเจ้าทางแม่ด้วยหาได้สืบจากพ่อทางเดียว อันวิธีนับเชื้อเจ้าตามธรรมเนียมโบราณตามสายสกุลมารดาด้วยนี้ ปวงเราชาวเหนือจึงว่าท่านเปนเจ้า และจึงขนานนามท่านเปนเจ้าเกษม_บวชแล้วผ่านกาลเวลาเปนครูบา_จึงครูบาเจ้าเกษม- ต่างจากครูบาอื่นไม่มีเชื้อเจ้า ก็ไม่เรียกครูบาเจ้าอย่างท่าน หากจะมีผู้เรียกกันบ้างก็เปนด้วยความยกย่องนับถืออย่างสูงมากกว่าสมบัติชาติวุฒิ
ครูบาเจ้าเมื่อยังเยาว์คุณสามารถทางบาลีสูงถึงนักธรรมเอกแต่ ไม่ยอมสอบเอาวุฒิ ไม่ต้องการมีสมณะศักดิ์สูง ๆ ที่เรียนเพื่อจะนำเอาวิชามาใช้ในการศึกษาค้นคว้าพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาเท่านั้น
ท่านจำต้องรับอาราธนาเปนเจ้าอาวาสวัดบุญยืนที่ท่านจำพรรษาอยู่หลายคราว ครั้นแล้วเพื่อแสวงวิโมก ท่านบ่ายหน้าออกยัง “ป่าไผ่” ใกล้ป่าช้าศาลาวังทานพร้อมเขียนข้อความลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสไว้ด้วย
ต่อมาป่าไผ่นั้นได้รับนามขานใหม่ว่าสุสานไตรลักษณ์ (- อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ) ท่านเจ้าสุสานร่างผ่ายผอมโงนเงน พำนักอยู่ในกระท่อมไม่ไผ่สานโยเย้ผุพัง ฉันจังหันนานๆครั้งและหลายครั้งของนั้นค้างบูดเน่า ทว่าในทางจิตกลับมีกำลังดวงจิตสุกสว่างกล้าแข็งนัก
หากว่า ทีมนครศรีธรรมราช นำโดย ฆราวาสเรืองนาม พล.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ราชเดช อาราธนาพระเถรานุเถระ และดวงจิตมหึมาอย่างท้าวจตุคามรามเทพพลิกชะตาเมืองนครต้องคำสาปอย่างไร
“ขึด” เมืองเวียงละกอน ต้องคำสาปเจ้าแม่สุชาดาบ่าเต้า (ผลแตงโม) ก็ได้รับการขุดร้อนถอนคลายจากครูบาเจ้าเกษม เขมโกอย่างนั้น
เหรียญในรูปนี้ หลังสร้างอนุสาวรีย์เจ้าแม่สุชาดาแล้วเสร็จ ครูบาเจ้าเกษม เขมโก อนุญาตให้จัดสร้างเหรียญกิ่งไผ่ ชื่อว่า ‘สวัสดี’ เพื่อเจ้าแม่สุชาดาผู้บริสุทธิ์ภาวะได้อนุโมทนามหากุศลอันครูบาเจ้าผู้มหาไถ่ได้ปลุกเสกทิพยอำนาจคอยปกปักคุ้มครองผู้บูชา แล้วน้อมนำพาเอามหากุศลส่วนนี้ไถ่ให้เจ้าแม่ผ่อนหายคลายร้อนแก่เมืองลำปางซึ้งได้กระทำพลั้งพลาดไป
กลับเปนสัมมาทิฐิ ร่วมกุศลกับครูบาเจ้าโพธิสัตว์ออกโปรดสัตว์โลกผู้ข้องสงสัย
ปูมคิดแห่งข้อเขียนนี้มีว่า
ครูบาเจ้า สมาทานเนสัชชิก ธุดงควัตร ไม่ยอมนอนให้หลังได้สัมผัสพื้นเนิ่นนานแม้ป่วยก็หาได้ละสมาทานนี้ไม่ ยังตบะเดชะในดวงจิตมิให้กล้าแข็งอย่างไรได้
ครูบาเจ้า นิยมทำรูปหนู ด้วยชาตะปีชวดท่านเกิดยังไม่พอ บิดาท่านยังชื่อหนูอีกด้วย
ครูบาเจ้า นิยมทำรูปกิ่งไผ่ ให้นามสวัสดี ก็ด้วยป่าไผ่หรือมิใช่ ที่ทำให้ท่านได้พบกับนิพพานภาวะ
ครูบาเจ้า นิยมทำรูปแตงโม ด้วยพระแก้วลำปางนั้น “ดอนเต้า”- บ่าเต้า.. มะเต้า.. คือแตงโม แตงโมเวียงลำปางหลวงที่เจ้านางสุชาดาเจ้าของสวนแตง ผ่าพบหินแก้วมรกตในผลอุลิต นำมาถวายพระ จนเปนเหตุเรื่องราววุ่นวายต่อมาให้ผู้ถวายต้องราชภัยถึงหัวขาดโดยมิเปนธรรม สุมเพลิงสัจจะสาปแช่งคุมแค้นหลายศตวรรษ
จนกระทั่งครูบาเจ้าจัดสร้างเหรียญแตงโม มีอุปเท่ห์ประหลาดตามธรรมชาติความชื่นฉ่ำในผลแห่งมันมาแก้ไข
ผู้คนทั้งหลายน้อมนำไปบูชาแก่ตัว สัมผัสได้ถึงความชุ่มเย็นอย่างผลแตงโม ห้อยแล้วมีจิตชื่น ดังที่เคยเขียนเล่าสู่ท่านฟังไว้แล้วในตอน ‘ความนับถือในแตงโม’
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,909 วันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2566