สัญญาวิปัสสนูปกิเลส

17 เม.ย. 2567 | 21:45 น.

สัญญาวิปัสสนูปกิเลส คอลัมน์ ทำมา..ธรรมะ โดย ราชรามัญ

นักปฏิบัติธรรมหลายคน ที่มีความสนใจตั้งมั่นในการปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐาน แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่ง สภาวะแห่งสัญญา ก็ถูกเคลือบและครอบงำด้วย วิปัสสนูปกิเลส เมื่อถึงจุดนี้ก็ทำให้หลายคนหลงตัวหลงตน คิดว่าตนสำเร็จมรรคผลนิพพานแล้ว และจุดนี้เองทำให้เชื่อได้ว่า ทุกวันนี้ที่มีบุคคลวิเศษวิโสอ้างตนเป็นอริยะบ้าง อ้างตนว่าบรรลุธรรมแล้วบ้าง ที่มีจำนวนมาก เชื่อเหลือเกินว่าล้วนเกิดจากสัญญา หรือการจำได้หมายรู้เกิดสภาวะวิปัสสนูปกิเลส

วิปัสสนูปกิเลสมีอะไรบ้าง จากคำสอนของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ประยุทธ์ประยุตโต ในหนังสือพุทธธรรม ความว่าในวิปัสสนาญาณ มี ๑๐ อย่าง คือ
 

  • โอภาส หมายถึง แสงสว่าง(ที่ปรากฏเป็นธรรมารมณ์ในใจ)
  • ญาณ หมายถึง ความหยั่งรู้
  • ปีติ หมายถึง ความอิ่มใจ
  • ปัสสัทธิ หมายถึง ความสงบเย็น
  • สุข หมายถึง ความสุขสบายใจ
  • อธิโมกข์ หมายถึง ความน้อมใจเชื่อ ศรัทธาแก่กล้า ความปลงใจ
  • ปัคคาหะ หมายถึง ความเพียรที่พอดี
  • อุปัฏฐาน หมายถึง สติแก่กล้า สติชัด
  • อุเบกขา หมายถึง ความมีจิตเป็นกลาง
  • นิกันติ หมายถึง ความพอใจ ติดใจ

สภาวะเหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วถ้าหากเราขาดซึ่งสติ ขาดซึ่งการพิจารณาให้เห็นสภาวะการเกิดการดับของจิต ที่อยู่ในกฎของพระไตรลักษณ์ก็คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราก็จะหลงใหลในสิ่งทั้ง 10 อย่างนี้ได้โดยง่าย หลายคนอาจตั้งคำถามว่าแล้วสิ่งทั้ง 10 อย่างนี้ที่เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส เกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 10 อย่างเลย หรือเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

คงจะตอบได้ว่า อาจเกิดขึ้นทั้ง 10 อย่าง บางคนก็เกิดขึ้นเพียงแค่ 1 อย่าง บางคนก็ 2 อย่าง ซึ่งทั้งหมดทั้งปวง ก็อยู่ที่กำลังของจิตและวิธีการฝึกว่าพื้นฐานเดิมจิตนั้นมีความเชื่อ โน้มไปทางด้านไหน น้อมไปทางด้านใด เมื่อถึงจุดหนึ่ง ถ้าหากขาดสติขาดการพิจารณา

สิ่งที่จิตเคยน้อม สิ่งที่จิตเคยเชื่อ และน้อมไปก็จะปรากฏขึ้น อาทิ บางคนเชื่อเรื่องญาณ ก็จะเกิดภาวะความเชื่อของตนเองที่ว่าสามารถรู้การล่วงหน้า สามารถระลึกชาติได้ สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่เป็นเทพเทวดา  

และเชื่อเหลือเกินว่าในปัจจุบันนี้คนที่เป็นนักปฏิบัติ เมื่อเข้ามาถึงจุดนี้ เคลิ้มหลงและกลายเป็นผู้วิเศษวิโสออกมาสร้างตัวตนในโลกโซเชียลกันมากมาย มีอะไรเป็นเหตุผลรองรับที่ผมไปตัดสินเขาแบบนั้น

ก็ต้องน้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง พระองค์ทรงตรัสชัดเจนว่าบุคคลที่เข้าถึงธรรมแล้ว หรือนิพพานแล้วบรรลุธรรมแล้วนั้น ทุกสิ่งอย่างของชีวิต จะดำรงดำเนินไปด้วยกริยา เพราะเป็นบุคคลที่ลอยแล้วซึ่งบุญและบาป ลอยหมดแล้วซึ่งสิ่งที่เป็นคู่ อาทิ ความคิดความเชื่อความรู้สึก สีดำสีขาว สูงต่ำ ดีเลว สวยไม่สวย บุญบาป เป็นต้น

แต่บุคคลที่อ้างตนว่าบรรลุแล้วซึ่งทำนิพพานแล้ว เท่าที่สังเกตก็ยัง พูดถึงความเป็นคู่ ทั้งอธิบายเป็นธรรม ทั้งพฤติกรรม ของแต่ละบุคคล ดังนั้น จึงทำให้เชื่อได้ว่า ขัดกับหลักวิชาการ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างชัดเจน

การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่ดี ต่อเมื่อเรายึดถือในคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็ควรนำเอาคำสอนที่ถูกต้องและปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นที่ตั้ง เป็นแนวทางในการปฏิบัติ จะทำให้เราเข้าใจ จะทำให้เราถึงปฏิเวธตามที่เราปรารถนาได้ โดยไม่หลงและไม่ผิดทาง

โปรดจำไว้ว่าผู้ที่สำเร็จจริงเข้าถึงจริงนิพพานแล้วจริงๆ จะไม่มีการพูดทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ผู้คนเข้าใจได้ว่า ตัวเขานั้นบรรลุธรรมแล้ว ทุกอย่างการดำรงชีวิตของเขาจะเรียบง่ายติดดิน ทั้งเรื่องอยู่เรื่องกินเรื่องนอน จะไม่แสดงตน อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เข้าใจว่าเป็นบุคคลที่บรรลุแล้วอย่างแน่นอน มองภายนอก นึกว่าเป็นพระหลวงตาธรรมดา มองภายนอกนึกว่าเป็นคนธรรมดา นั่นแหละบุคคลนั้น ที่น่าศึกษา น่าค้นหามากกว่าบุคคลที่มาประกาศปาวๆ ว่าตนบรรลุธรรม ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือว่าพระภิกษุก็ตาม

เชื่อได้ว่าบทความนี้คงจะทำให้เข้าใจ ในความเป็นพุทธศาสนา เกี่ยวกับด้านการบรรลุธรรมหรือเข้าสู่ภาวะนิพพานได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จงห่างไกลบุคคลที่บอกว่าตนสำเร็จ ตนบรรลุธรรม ตนเข้าถึงนิพพาน เพราะผู้ที่พูดอย่างนี้ ถ้าพูดออกมาด้วยกุศลและเจตนา เขาผู้นั้นก็อยู่ในภาวะวิปัสสนูปกิเลส แต่ถ้าพูดออกมาด้วยเจตนาอกุศลกรรมเขาก็เป็นบุคคลที่มักมาก ในด้านลาภผล เป็นบุคคลที่ควรอยู่ห่างอยู่ไกลให้มากที่สุด

ขอความสุขในธรรมทั้งปวงจงปรากฏแก่ทุกท่านที่อ่านและร่วมอนุโมทนา ในบทความนี้ด้วยการแชร์ ส่งต่อให้กับผู้ที่สนใจการปฏิบัติธรรม