EV จีนแข่งดุ แห่ทุบราคารถยนต์ไฟฟ้า

05 ก.ค. 2567 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2567 | 04:57 น.

BYD เขย่าตลาด ทุบราคารถยนต์ อัดโปรโมชันกลางปี เคลียร์สต็อกรุ่นเก่า และรถนำเข้า ก่อนขึ้นไลน์ประกอบในประเทศ ทำคู่แข่งป่วนลดราคาสู้ จี้ กขค. งัดกฎหมายแข่งขันทางการค้าสอบต้นทุนที่แท้จริง ทบทวนเอฟทีเอกับจีน ด้านธุรกิจประกันมองบวก ทุนประกันลด หั่นค่าเบี้ยสอดคล้องจ่ายเคลมตามราคาจริง

ตลาดรถยนต์ไทยอาการหนัก ปิดยอดขายครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.67) แค่ 3.1 แสนคัน ลดลง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ 2566 หรือตํ่ากว่าเป้าหมายที่หลายค่ายคาดการณ์ โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ยอดขายร่วงถ้วนหน้า มีเพียง BYD ที่ทำตลาดเฉพาะรถพลังงานไฟฟ้า 100% ขายได้ประมาณ 15,000 คัน(ยอดจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก) เพิ่มขึ้น 36%

แม้ BYD จะเป็นค่ายเดียวในตลาดที่มียอดขายเติบโต แต่ตัวเลข6 เดือนที่ผ่านมา ยังทำได้ตํ่ากว่าที่ “เรเว่ ออโตโมทีฟ” คาดหมายไว้ เนื่องจากทั้งปีนี้วางเป้าหมายไว้ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคัน ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังยังเตรียมเปิดตัวรถใหม่อีกหลายรุ่น รวมถึงรถประกอบในประเทศอย่าง BYD Dolphin และเอสยูวีปลั๊ก-อินไฮบริด Sealion 6

อย่างไรก็ตาม เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรเว่ ออโตโมทีฟ ประกาศลดราคา EV สองรุ่นคือ Dolphin 1.4-1.6 แสนบาท ซึ่งจะเป็นรถนำเข้าล็อตสุดท้าย ก่อนเปิดตัวรุ่นประกอบในประเทศเดือนกรกฎาคม นี้ ส่วน ATTO 3 ทั้งรุ่นโมเดลปี 2023 และ โมเดลปี 2024 ลดราคาตั้งแต่ 1.0-3.4 แสนบาท แล้วแต่รุ่น

BYD แจงลดราคาครั้งใหญ่เพื่อเคลียร์สต็อก

นายวิศิษฎ์ พิทยะวิริยากุล รองประธานบริหาร ฝ่ายบริหารธุรกิจ บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขายรถยนต์ BYD เปิดเผยว่า การลดราคา BYD สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และเป็นไปตามกลไกตลาดที่ต้องใช้โปรโมชันส่งเสริมการขายแล้วแต่ช่วงเวลา

สำหรับ BYD ATTO 3 รุ่นที่เป็นประเด็น (ลดราคารวม 3.4 แสนบาท) ถือเป็นการเคลียร์สต็อก Run out แคมเปญ รุ่นโมเดลปี 2023 ซึ่งบริษัทมีโปรโมชันก่อนหน้านี้แล้ว และล่าสุดลดเพิ่มอีก 1 แสนบาท ที่สำคัญในราคานี้ จะไม่ได้แพกเกจ “เรเว่ แคร์” เทียบเท่ากับลูกค้าที่ซื้อไปตอนแรก

“การลดราคาเป็นหนึ่งในเครื่องมือการขาย ที่เรานำมาใช้ตามสถานการณ์ และเรื่องต้นทุนที่ลดลงก็เป็นประเด็นหนึ่ง ส่วนจะกระทบกับภาพลักษณ์ของแบรนด์หรือไม่ ประเด็นนี้มองว่า เป็นความชัดเจนของบริษัท ที่ต้องการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า โดยเฉพาะเรื่องราคา และโปรโมชันที่นำมาใช้ในบางโอกาส ซึ่ง BYD เป็นโปรดักต์ที่ดี และมั่นใจว่าผู้บริโภคจะเลือกที่คุณภาพของสินค้า” นายวิศิษฎ์ กล่าว

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแข่งขันรุนแรง

จากการประกาศลดราคาของ BYD ส่งผลให้หลายค่ายรถยนต์ ต้องทำโปรโมชัน หรือวางแผนกำหนดราคารถรุ่นใหม่ที่เตรียมเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลังอย่าง NETA V-II รุ่น Lite ประกอบในประเทศ จัดส่วนลด 50,000 บาททำให้ราคาเริ่มต้นเหลือ 499,000 บาท และรุ่น Smart รับส่วนลด 20,000 บาท เป็นราคา 549,000 บาท พร้อมโปรโมชันดอกเบี้ย 1.28% เงินดาวน์ 25% ผ่อนไม่เกิน 48 เดือน ขณะเดียวกันยังประกาศรับประกันแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า ตลอดอายุการใช้งานอีกด้วย

ขณะที่เอ็มจี บางดีลเลอร์ ประกาศลดราคา MG ZS EV สูงสุด 250,000 บาท โดยรุ่นย่อย D เหลือ 699,000 บาท และรุ่น X Sunroof จากราคา 1,023,000 บาท ลดเหลือ 799,000 บาท

ด้านบริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด ผู้จัดจำหน่ายวู่หลิง (WULING) เตรียมเปิดตัว บิงโก อีวี วันที่ 8 กรกฎาคมนี้ โดยจะเป็นรถนำเข้าทั้งคันมาจากอินโดนีเซีย แต่หลังจากการลดราคาของ BYD Dolphin ทำให้ผู้บริหารต้องปรับแผนการตั้งราคาและโปรโมชันใหม่ จากแผนเดิมที่ วู่หลิง บิงโก อีวี มีโอกาสจะตั้งราคากว่า 5 แสนบาท แต่ล่าสุดอาจจะต้องขยับราคาหรือมีโปรโมชันช่วงเปิดตัวเป็นพิเศษ

“กระแสข่าวสงครามราคาได้สร้างแรงกระเพื่อมในตลาด สร้างความสนใจให้กับผู้ที่ต้องการซื้อรถอีวี มาใช้เป็นคันแรกของบ้านจำนวนมาก ส่งผลให้ตลาดอีวีในช่วงราคา 500,000 บาทมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งวู่หลิงตั้งใจทำราคาให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด” นายพิทยา กล่าว

 

EV จีนแข่งดุ แห่ทุบราคารถยนต์ไฟฟ้า

 

จี้ กขค.งัดกฎหมายแข่งขันเป็นธรรมสอบ EV จีน

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ กล่าวว่า การลดราคาลงอย่างมากของรถยนต์ไฟฟ้า BYD จากจีน รวมถึงอีกหลายแบรนด์ของจีนที่ลดราคาลงหลักแสนบาทถึงหลายแสนบาทต่อคันในเวลานี้ มองว่า เป็นหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่ต้องเข้าไปตรวจสอบโดยไม่ต้องรอมีใครมาร้องเรียนว่า ราคาขายรถยนต์ที่ลดลงอย่างมากดังกล่าว เป็นการลดลงบนต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่ เพราะทราบว่าเป็นรถเก่าที่ค้างสต๊อก ไม่ใช่ล็อตที่ผลิตในต้นทุนที่ถูกลง

รวมถึงไปควรไปออกมาร์เก็ต ไกด์ไลน์ (Market Guideline) โดยมีฐานข้อมูลทางวิชาการรองรับ เพื่อกำหนดกฎกติกาว่า อะไรทำได้-ไม่ได้ และเชิญค่ายรถยนต์ดังกล่าวมาให้ข้อมูลว่าเหตุใดถึงลดราคารถลงได้มาก เป็นธรรมกับรายอื่น และเป็นการทำลายการแข่งขันในตลาดหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองการแข่งขันให้เกิดความเป็นธรรม

“ตอนนี้เท่าที่ทราบทางสำนักงานฯยังไม่ทำอะไรเลย ทั้งนี้โดยสามัญสำนึกของคนทั่วไปที่ไปซื้อรถยนต์เมื่อเดือนที่แล้วมาในราคาสูง แต่ตอนนี้รถรุ่นที่ซื้อลดราคาลงมา 3-4 แสนบาท หรือหลักแสนก็มองได้ว่าไม่เป็นธรรมกับเขา”

ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลเรื่องการเจรจาและการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA)กับจีนเพื่อทบทวนในรายละเอียดของความตกลง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับค่ายรถยนต์จากประเทศอื่นๆ ที่มาลงทุนในไทย เพราะรถยนต์จากจีนได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจีนในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงจีนยังมีแร่ลิเธียมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้ไปซื้อโรงงานแร่ในออสเตรเลีย ขณะที่จีนถือครองแหล่งแร่ 60-70% ของแหล่งแร่ในโลก ทำให้รถยนต์ EV ของจีนผลิตได้ในต้นทุน ที่ตํ่า และที่สำคัญจีนยังมี FTA กับไทย โดยในสินค้ายานยนต์ภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็น 0% ทำให้ยิ่งมีความได้เปรียบการแข่งขันในไทย

ธุรกิจตั้งการ์ดเข้มปล่อยกู้ รับประกันภัยรถยนต์อีวี

แหล่งข่าวระดับสูงจากธุรกิจประกันภัยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การปรับลดลงของราคารถอีวีนั้นมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่อง โดยมาจาก 3ปัจจัย ได้แก่ 1.ราคาแร่ลิเธียมในตลาดโลกปรับลดลง 3 เท่า จากราคา 5 แสนดอลลาร์ต่อตันปรับลดลงมาเหลือ 1.5 แสนดอลลาร์ต่อตัน 2.ยอดขายรถอีวีในตลาดโลกที่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากการกีดกันทางการค้าทำให้การส่งออกรถอีวีไปตลาดยุโรปและสหรัฐทำให้ยากขึ้น จึงระบายสต็อค 3. ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีนักในประเทศของไทยทำให้กำลังซื้อภาพรวมตก

อย่างไรก็ตามจากราคารถอีวีที่ปรับลดลง ส่งผลให้บริษัทประกันภัยต้องระมัดระวังในการรับประกันภัยมากขึ้น ยอมรับว่า ปัญหาอยู่ที่ “อัตราความเสียหาย(Total Loss)ยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากรถยนต์ในธุรกิจประกันทั้งระบบมีจำนวน 12 ล้านคัน ในจำนวนนี้ เป็นรถยนต์อีวีประมาณ 1% หรือจำนวน  1 แสนคัน ซึ่งการประเมินความเสียหายเป็นการใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่น้อย ในการคาดการณ์อัตราความเสียหายในอดีต จึงอาจจะไม่รู้อัตราความเสียหายที่แน่นอน ต้องรออีก 3-4 ปีข้างหน้า เมื่อจำนวนรถอีวีในตลาดมากขึ้น ตัวเลขคาดการณ์จะนิ่งกว่าปัจจุบันและฐานการประเมินความเสียหายจะแม่นขึ้น

ส่วนกรณีผู้ซื้อรถอีวีเรียกร้องขอชดเชยจากราคารถอีวีที่ปรับลดลงต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สคบ.เอง ควรจะกลับไปดู เบื้องต้นทั้งสคบ.และกระทรวงพาณิชย์ปล่อยให้ขายรถอีวีในราคา 1.2 ล้านบาท ราคาเหมาะสม เพราะแบตเตอรี่แพง ตอนนี้ราคาวัตถุดิบถูก ราคารถอีวีปรับลด ซึ่งในส่วนของผู้ซื้อเองก็ต้องเข้าใจโครงสร้างของรถอีวี ซึ่งมีความผันผวนจากราคาวัตถุดิบและเทคโนโลยี หากเทียบเหมือนกับ “มือถือ และ ทีวี” รุ่นแรกกับรุ่นล่าสุด เหล่านั้นเป็นวิวัฒนาการของเทคโนโลยี และปัจจุบันพัฒนาการของเทคโนโลยีเร็วมาก อย่างปลายปีที่นี้จะมีงานมอเตอร์โชว์ก็จะมีการนำเข้ารถอีวีที่ใช้แบตเตอรี่โซลิดสเตต ซึ่งรถอีวี ราคาจะถูกลงอีก เพราะตอนนี้เราใช้แบตเตอรี่ลิเธียม ชาร์จต่อครั้ง 10 ชั่วโมง รถวิ่งได้ 350-450 กม. ต่อไปเมื่อใช้แบตเตอรี่โซลิดสเตต ใช้เวลาชาร์จเพียง 2 ชั่วโมง รถวิ่งได้ราว 1,000 กม.

อย่างไรก็ตามราคารถอีวีปรับลดลง เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะโอกาสเกิดอุบัติเหตุเท่ากับรถสันดาปหรือรถใช้นํ้ามัน ปัญหารถอีวีที่เป็นโจทย์ของธุรกิจประกันคือ อัตราเบี้ยประกันภัยขึ้นอยู่กับอัตราความเสียหายในอดีตที่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ แต่สามารถป้องกันได้เช่น บริษัทประกันภัย รายเล็กอาจจะรับประกันภัยในสัดส่วนที่ไม่มาก เช่น ราว 100 คัน ซึ่งจะคุมความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ให้บริษัทขาดทุนจากการรับประกันภัย

นอกจากนี้ค่าเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับราคารถ และราคาซ่อม ซึ่งมูลค่าเบี้ยประกันรถอีวีแพงกว่ารถสันดาปเฉลี่ย 20-30% หรือ 2 หมื่นบาทต่อคัน ภาพรวมขึ้นอยู่อัตราความเสียหายซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง เพราะในตลาดเมืองไทยจำนวนรถอีวียังน้อยเราต้องระวังอยู่แล้ว เห็นได้ว่าทั้งไฟแนนซ์ สถาบันการเงินก็เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่นกัน