งานเข้า BYD สคบ. เรียกชี้แจง ปมจัดโปรฯลดราคาสูงสุด 3.4 แสนบาท

03 ก.ค. 2567 | 06:52 น.

Exclusive "เลขาฯสคบ." เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ เตรียมเรียก บริษัทจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BYD และผู้บริโภค หาข้อสรุป เจรจาไกล่เกลี่ย เคลียร์ปม อัดโปรโมชั่นลดราคา EV สูงสุด 3.4 แสนบาท ภายในสัปดาห์นี้คาดได้ข้อสรุปชงรัฐบาล

วันนี้ (3 กรกฎาคม 2567) นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจถึงกรณีบริษัทจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BYD โดยเรเว่ ออโตโมทีฟ ประกาศโปรโมชั่นลดราคารถยนต์ไฟฟ้า EV สองรุ่นคือ Dolphin ตั้งแต่ 1.4 -1.6 แสนบาท และ ATTO 3 ตั้งแต่ 1.0-3.4 แสนบาท ว่า สคบ.เตรียมเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งตัวแทนบริษัทรถยนต์ และผู้บริโภคเข้ามาให้ข้อมูล และเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อหาข้อสรุปโดยเร็ว

“สคบ.จะเชิญทั้งสองฝ่ายมาให้ข้อมูล และตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่ามีที่มาที่ไปเป็นยังไง ตั้งแต่ตอนซื้อได้คุยกันกับตัวแทนขายอย่างไร แต่ในเบื้องต้นการลดราคาก็เป็นสิทธิของเอกชนที่สามารถทำได้ และต้องดูพฤติการณ์ก่อน ซึ่งแต่ละรายอาจจะมีพฤติการณ์ที่แตกต่างกัน โดยเมื่อสคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคมาก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายก่อนว่ามีเงื่อนไข หรือชักจูงใจอย่างไร เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่” เลขาฯ สคบ.ยืนยันกับฐานเศรษฐกิจ

สำหรับการตรวจสอบรายละเอียดของเรื่องร้องเรียนการ ลดราคารถ EV ครั้งนี้ เลขาฯ สคบ. ยอมรับว่า จะมีการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค และผู้ประกอบธุรกิจด้วย โดยพิจารณาข้อกฎหมายประกอบกันหลายฉบับ เช่น กฎหมายว่าด้วยโฆษณา และกฎหมายว่าด้วยสัญญา วิธีการพิจารณาคดีผู้บริโภค มีคำเสนอคำเชิญชวนในการซื้อเป็นอย่างไร มีตกลง หรือเงื่อนไขของสัญญาที่ทำร่วมกันอย่างไร

อย่างไรก็ตามในการตรวสอบจะต้องหาข้อสรุปให้ได้ และเชื่อว่าไม่นานน่าจะรู้ผล ก่อนจะนำเสนอไปยังนางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) รับทราบต่อไป

นายพัสกร ทัพมงคล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก สคบ. กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ สคบ. จะเชิญทั้งสองฝ่าย ทั้งตัวแทนขายของ BYD และผู้บริโภค มาหารือเพื่อตรวจสอบข้อมูลทั้งโฆษณา ประกาศ และสัญญา ส่วนการจะเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้หรือไม่ ยังต้องดูข้อมูลหลายส่วนประกอบกัน รวมทั้งการเจรจาไกล่เกลี่ยพร้อมกันไปด้วยว่า เมื่อเกิดข้อร้องเรียนแล้วทางผู้ประกอบธุรกิจจะหาทางดูแลผู้หรือเยียวยาบริโภคอย่างไร

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากกรณีที่มีบริษัทจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BYD ประกาศโปรโมชั่นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น BYD DOLPHIN โดยระบุส่วนลดล่าสุดไว้ถึง 1.4 -1.6 แสนบาท โดยต่อมามีผู้บริโภครายหนึ่งสะท้อนความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ข้างต้น ระบุว่า ได้รับผลกระทบทางจิตใจ เนื่องจากตนเองซื้อรถยนต์จากแบรนด์ดังกล่าวมาในช่วงที่ได้รับส่วนลด 40,090 บาท 

พร้อมชี้ว่าเป็นการรีบตัดสินใจซื้อเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของแคมเปญเพราะถูกเซลล์หว่านล้อม โดยอ้างเหตุผลว่าราคาอาจกลับมาที่ราคาเต็ม แต่หลังจากนั้นราคาไม่กลับขึ้นมาที่ราคาเดิมดังที่กล่าวอ้าง แต่กลับลดลงอีก 100,000 บาท พร้อมสิทธิ์พิเศษเป็นของแถมต่างๆ โดยเหตุการณ์ข้างต้นส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงนั้น

อีกทั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา มีรายงานว่าผู้จัดจําหน่ายรถยนต์ค่ายเดียวกัน ประกาศลดราคาอีกครั้งในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า New BYD ATTO 3 รวมทั้งสิ้นอีก 4 รุ่น โดยให้เหตุผลว่าเพื่อฉลองเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ BYD ครั้งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้ รวมส่วนลดได้สูงสุดถึง 340,000 บาท สร้างความไม่พอใจให้ผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นดังกล่าวไปก่อนหน้านี้ กระทั่งมีการนัดรวมพลมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ สคบ. 

จนล่าสุด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้ สคบ. เข้าตรวจสอบว่า ได้ปฏิบัติตามมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงกำหนดข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม พ.ศ.2564 หรือไม่ พร้อมทั้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เชิญคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน