ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “พรรคก้าวไกล” กับ “พรรคเพื่อไทย” ที่มีมาต่อเนื่องเป็นระยะๆ ได้มาถึงจุด “แตกหัก” แล้ว
เมื่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 มีมติให้คืนงบที่ปรับลดลงจากหน่วยงานต่างๆ วงเงิน 16,362 ล้านบาท แล้วโยกไปไว้ที่ “งบกลาง” เพื่อให้รัฐบาลนำไปแก้ปัญหาโควิด-19
ถ้าเสียงโหวตหนุนนำงบประมาณไปโปะ “งบกลาง” มีเฉพาะกมธ.จากพรรคร่วมรัฐบาล คงไม่แปลก แต่ปรากฏมี กมธ.จากโควตาพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านร่วมโหวตแปรญัตติหนุนด้วย ขณะที่ กมธ.จากพรรคก้าวไกล มีความเห็นแย้ง อ้างว่า เท่ากับ “ตีเช็คเปล่า” ให้รัฐบาลนำเงินไปใช้อะไรก็ได้ พร้อมเปิดฉากแถลงข่าวถล่มพรรคเพื่อไทยทันควัน นำมาสู่วิวาทะอันดุเดือด และต่อเนื่องของ 2 ฝ่าย
โหวตงบกลางชนวนขัดแย้ง
ไม่ใช่เฉพาะเปิดแถลงข่าวโจมตีพรรคเพื่อไทย ที่โหวตหนุนฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น พรรคก้าวไกล ยังประสานเสียงกับคณะก้าวหน้า เปิด “คลับเฮาส์” แฉเบื้องหน้า-เบื้องหลังการจัดทำประมาณปี 2565
ขณะที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ในเฟซบุ๊กจั่วหัวชวนติดตาม “งบกลาง” = “เช็คเปล่า” โฟกัสไปที่ปัญหาของรัฐบาลประยุทธ์ไม่ใช่ไม่มีงบประมาณมาใช้ในการเยียวยาประชาชนและแก้ปัญหาโควิด-19 ยํ้าว่า การนำคืนงบกว่า 1.63 หมื่นล้านบาท ไปไว้ในงบกลาง เท่ากับ “ตีเช็คเปล่า” ให้รัฐบาลนำเงินไปใช้ โดยไม่รู้ว่าจะนำไปใช้จ่ายในช่วงโควิด-19 จริงหรือไม่ และจะมีประสิทธิภาพแค่ไหน
นายพิธา ยังอ้างว่า จากที่ดูตัวเลขการอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินจำเป็น และรายการแก้ปัญหาโควิด-19 ของปีงบ 64 ที่ตั้งเอาไว้รวมกัน 140,000 ล้านบาท จากที่สืบค้นได้ใน มติครม. อนุมัติแค่ 46,000 ล้านบาท หรือไม่ถึง 1 ใน 3 ของ “งบกลาง” ที่ขอในปี 64
ไม่นับว่ามีเอกสารสำนักงบประมาณของรัฐสภารายงานว่า ณ วันที่ 30 มิ.ย. 64 มีการเบิกจ่ายแค่ประมาณ 12,000 ล้านบาท ยังไม่นับ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลออกมาได้จะ 3 เดือนแล้ว แต่ยังเป็น black box หรือ “พื้นที่ดำมืด” ที่ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลเอางบไปทำอะไรบ้าง
ขณะที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และไม่แฟร์กับประชาชนผู้เสียภาษี ผู้เป็นเจ้าของงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ เพราะนี่คืองบประมาณก้อนใหญ่ จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท ที่กรรมาธิการอุตส่าห์ร่วมกันรีดไขมันออกไปได้ กำลังกลายเป็น “เช็คเปล่า” ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ อำนาจในการใช้อยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยสมบูรณ์”
ร้อนถึง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะ รองประธาน กมธ.งบประมาณฯ ต้องออกมาแจกแจงการนำงบที่ตัดได้ไปเพิ่มในงบกลาง เพื่อบรรเทาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมชี้แจงการใช้งบกลางมีระเบียบการใช้เงินรองรับ ไม่สามารถใช้เงินนอกวัตถุประสงค์ หรือใช้โดยปราศจากการตรวจสอบได้
พร้อมกับอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 กำหนดว่า ในการพิจารณางบประมาณ การเสนอ การแปรญัตติหรือการกระทำใดๆ ของ กมธ. มีส่วนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้ ดังนั้น เห็นว่าการนำงบประมาณส่วนนี้ไปไว้ใน “งบกลาง” จะตัดข้อสงสัยว่า ส.ส.หรือ กมธ.งบประมาณ มีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณไม่ว่าทางตรง หรือ ทางอ้อม
และการตัดสินใจของ กมธ.งบประมาณในส่วนของพรรคเพื่อไทยไม่เกี่ยวกับสถานภาพ หรือการยอมรับในตัวนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดนี้
ก่อนกระทุ้งพรรคน้องใหม่ก้าวไกล ว่า พรรคมีความอดทนอดกลั้นมาตลอดในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ที่ต้องการรักษาเอกภาพและบรรยากาศทำงานร่วมกันของพรรคร่วมฝ่ายค้านไว้ให้ดีที่สุด ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในกระบวนการทำงานเป็นสิทธิและความเห็นที่พรรคให้เกียรติพรรคร่วมฝ่ายค้านมาโดยตลอด
ขัดแย้งแก้รธน.ปมบัตร 2 ใบ
ความเห็นต่างของ พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ก่อนหน้านี้ก็มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง หากย้อนช่วงที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จะเห็นรอยปริร้าวของ 2 พรรคฝ่ายค้านชัดเจน
เมื่อ พรรคเพื่อไทย เห็นด้วยกับ พรรคพลังประชารัฐ ประเด็นการแก้ไขระบบเลือกตั้ง โดยให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และกำหนดให้มีส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน
สวนทางกับพรรคก้าวไกลที่ไม่เอาด้วยกับระบบเลือกตั้งดังกล่าวแต่เสนอสูตรเลือกตั้งเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบเยอรมันในสูตร MM (สัดส่วนผสม) โดยวิธีคำนวณของระบบ MMP เวลาคิดคะแนนจะเหมือนกับระบบ MM (จัดสรรปันส่วนผสม) ที่เคยใช้เลือกตั้งบัตรใบเดียวในรัฐธรรมนูญ 2560 วิธีคำนวณเหมือนกัน ต่างกันที่บัตรเลือกตั้งสองใบหรือบัตรใบเดียวเท่านั้น แต่ถ้าเอาปาร์ตี้ลิสต์ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งการคิดจำนวน ส.ส.ก็จะคล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2560 นับคะแนนไม่ให้ตกนํ้า
ขณะที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.ก้าวไกล ทวีตข้อความว่า “เมื่อ ส.ว. ส่งสัญญาณว่า จะยกมือให้กับร่างของพลังประชารัฐเท่านั้น และจะตีตกร่างของฝ่ายค้านทุกฉบับ ถ้าพรรคฝ่ายค้านไหน ยอมยกมือให้ ก็เท่ากับว่า ยอมตกอยู่ในอาณัติของ คสช. ยอมรับเศษประโยชน์ ที่เขาเจียดมาให้ โดยไม่คิดถึงประชาชนเลย สบายใจได้เลย ไม่มีพรรคไหนยกมือให้หรอกครับ”
ตามด้วยประโยคเผ็ดร้อนจาก รังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แสดงความเห็นต่อกระแสการแก้รัฐธรรมนูญและมีการพาดพิงไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร โดยมีเนื้อหาบางส่วนว่า “แลนด์สไลด์… ไปทางไหน? เพื่อ ใคร? เพื่อไทย? เพื่อประชารัฐ?
ประโยคเผ็ดร้อนดังกล่าว “ภูมิธรรม เวชยชัย” ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทยถึงกับเอ่ยปาก “เป็นการกระทำที่ไร้วุฒิภาวะ ไร้มารยาททางการเมือง”
ศึกซักฟอกร้าวลึก
ปรากฏการณ์ร้าวลึก ไม่ใช่ แค่ 2 เหตุการณ์ เพิ่งเกิดขึ้น ย้อนเมื่อครั้งมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลปลายปีที่แล้ว ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีรวม 6 คน (24-27 ก.พ.) ปรากฏว่าเกิดปัญหา ขณะนั้นพรรคอนาคตใหม่(พรรคก้าวไกล) ต้องมีการยื่นซักฟอกพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แต่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย ทำให้เกิดปัญหาบายปลาย ก่อนพรรคเพื่อไทย ยอมให้ยื่นซักฟอก “บิ๊กป้อม”
แต่ในการอภิปรายจริง ฝ่ายค้านก็ไม่ได้อภิปรายเพราะเวลาหมดและไม่พอใจการจัดคิวอภิปรายของพรรคเพื่อไทย ที่ให้เวลาช่วงไพร์มไทม์ และให้เวลานานกว่าพรรคอื่น อย่างกรณีที่ พรรคก้าวไกล ขอ อภิปรายในช่วงไพรม์ไทม์ คือ เวลา 20.00 น. โดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยํ้าว่า เป็นการอภิปรายที่รับรองว่าเด็ดจริงๆ แต่กว่าวิโรจน์ จะได้ขึ้นอภิปรายก็เป็นเวลาเกือบ 23.00 น. จึงถูกมองว่าพรรคเพื่อไทย บริหารจัดการเรื่องจัดคิวคนและจัดเวลาการอภิปรายล้มเหลว
ถัดมาอีกวัน พรรคก้าวไกลขอให้อภิปรายในส่วนของนายกฯ ให้จบภายในวันที่ 3 เพื่อจะได้ใช้เวลาที่เหลืออภิปรายรัฐมนตรีคนอื่นๆ ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วยอย่างนั้น แต่เอาเข้าจริง ชื่อก็ปรับเปลี่ยนอีก ท้ายที่สุดพรรคก้าวไกลต้องแก้แกมโดยเอาชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ มาอภิปรายพ่วงกับนายกฯ จึงได้อภิปรายรัฐมนตรีคนอื่น
หลังเสร็จศึกซักฟอกในคํ่าคืนของวันที่ 4 มี.ค. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ต้องจัดเลี้ยงหวังเคลียร์ใจพรรคเพื่อไทย และหาแนวร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านก่อนงานเลี้ยงเลิกลา มีเสียงจากธนาธรว่า “เลือกตั้งครั้งหน้า เราเป็นรัฐบาลร่วมกันน่าจะดี”
จากวันนั้น ถึงวันนี้ทั้ง เพื่อไทย และ ก้าวไกล คงได้คำตอบแล้วว่า เลือกตั้งครั้งหน้า จะเป็นรัฐบาลร่วมกันอีกหรือไม่