กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ น้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันประชาชน คุมเข้มมาตรฐานคลินิกทันตกรรมกว่า 4,500 แห่งทั่วประเทศ คุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ กำหนดทุกแห่งต้องมีหม้อนึ่งความดันอบฆ่าเชื้อ
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรม สบส. ได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยคุณภาพชีวิตประชาชนจากปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน ตามพระราชดำรัสว่า “เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” มาเป็นแนวทางการคุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการทันตกรรมที่ปลอดภัย ซึ่งจากผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ของสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัยครั้งล่าสุด พ.ศ. 2555 พบว่าประชนทุกวัยมีปัญหาฟันผุ เช่น ช่วงอายุ 5 ปีฟันผุเฉลี่ยคนละ 4 ซี่ ช่วง 60-74 ปีมีฝันผุเฉลี่ยคนละ 1.4 ซี่ นอกจากนั้นยังมีปัญหาโรคปริทันต์ และหินน้ำลาย จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งขณะนี้มีสถานพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชน ที่ให้บริการทันตกรรม ทั้งตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจรักษา
โดยในส่วนของภาคเอกชน ซึ่งกรม สบส.เป็นผู้ดูแลควบคุมคุณภาพมาตรฐาน ขณะนี้มีสถานพยาบาลที่ให้บริการทันตกรรมรวมทั้งสิ้น 4,588 แห่ง ประกอบด้วยคลินิกในโรงพยาบาล 344 แห่ง และคลินิกทันตกรรม/ทันตกรรมเฉพาะทาง 4,244 แห่ง ทุกแห่งต้องมีคุณภาพมาตรฐานครบทั้ง 5 ด้านตามที่พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนด ประกอบด้วย 1.สถานที่สะอาด ปลอดภัย มีห้องให้บริการเป็นสัดส่วนมิดชิด 2.มีทันตแพทย์ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพทันตกรรมจากทันตแพทยสภาเป็นผู้ดำเนินการ 3.การบริการเป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพมาตรฐาน 4.มียา เวชภัณฑ์ไม่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ มีเครื่องมือที่จำเป็นปริมาณเพียงพอ และ5.มีชุดช่วยชีวิตฉุกเฉินเบื้องต้น เพื่อความปลอดภัย ซึ่งล่าสุดนี้กฎกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้คลินิกทันตกรรมทุกแห่ง ต้องมีอุปกรณ์เพิ่มเติมอีก 2 ประเภท คือ เครื่องเอกซเรย์ฟัน และหม้อนึ่งอบความดัน เพื่อฆ่าเชื้อเครื่องมือที่ใช้กับผู้ป่วยในคลินิกทุกชนิด ให้ ปลอดเชื้อ ปลอดภัย 100 เปอร์เซนต์
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาที่พบในคลินิกเอกชนส่วนใหญ่ คือ การใช้ผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพทันตกรรมมาให้บริการแทนทันตแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายอย่างมาก จากการใช้อุปกรณ์และวัสดุที่ไม่สะอาด ผู้ทำไม่มีความรู้ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องปาก จนเป็นมะเร็ง หรือเชื้อลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้ทำมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในการเลือกรับบริการคลินิกทันตกรรมที่ถูกต้องได้มาตรฐานตามกฎหมาย ขอให้สังเกต 4 จุดสำคัญ ซึ่งแสดงไว้ที่จุดบริการ ดังนี้ 1.ป้ายชื่อคลินิกใช้อักษรสีม่วงบนพื้นสีขาว และต้องมีเลขที่ใบอนุญาต 11 หลักติดที่ป้ายชื่อร้าน 2.แสดงใบอนุญาตประกอบกิจการ พร้อมหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมปีปัจจุบัน 3.ทันตแพทย์ที่ให้บริการมีใบหน้าตรงกับรูปถ่ายที่แสดงหน้าห้องตรวจ และ4.แสดงใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการซึ่งจะต้องเป็นทันตแพทย์เท่านั้น โดยประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลทันตแพทย์ของคลินิกได้จากเว็บไซต์ทันตแพทยสภา (www.dentalcouncil.or.th) และตรวจสอบคลินิกได้ที่เว็บไซต์กรม สบส. (www.hss.moph.go.th) หากไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวมาให้หลีกเลี่ยงใช้บริการ และแจ้งที่ เฟซบุ๊ค สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ หรือที่สายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค 02 193 7999 กรม สบส. จะตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที