ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโฆษก สปสช. กล่าวว่า ขณะนี้ในโลกโซเชียลหรือ Social Network มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับงบบริหารจัดการของ สปสช. ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องว่า สปสช.มีงบบริหารจัดการสำนักงานกว่าร้อยละ 20 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คิดเป็นเงินหลายพันล้านบาทต่อปี โดยบอกว่าเป็นหัวคิวที่ สปสช.หักไว้
โฆษก สปสช. กล่าวต่อว่า ข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถสืบค้นได้ทางหน้าเว็บไซต์ของ สปสช.ในรูปแบบรายงานประจำปี และมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือค้นหาได้จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และราชกิจจานุเบกษา คือ งบบริหารจัดการสำนักงานที่ ครม.อนุมัติให้ สปสช.ในแต่ละปีนั้นคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างย้อนหลัง 5 ปี ดังนี้
ปี 2560 ได้รับ 1,441.57 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.87
ปี 2559 ได้รับ 1,414.09 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.86
ปี 2558 ได้รับ 1,427.10 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.93
ปี 2557 ได้รับ 1,442.19 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.93
และปี 2556 ได้รับ 1,209.12 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.86
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า สปสช.มีภารกิจบริหารจัดการภายใต้นโยบายที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด แบ่งการบริหารงบประมาณ 2 ส่วนที่แยกจากกัน คือ
1.งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ รวมทั้งส่งเสริมให้บุคคลสามารถเข้าถึงการรับบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการพัฒนาการจัดบริการสาธารณสุขในพื้นที่ที่มีหน่วยบริการไม่เพียงพอหรือมีการกระจายหน่วยบริการที่ไม่เหมาะสม
2.งบบริหารจัดการสำนักงาน ใช้ในการบริหารจัดการและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้บรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แบ่งเป็น การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ค่าใช้จ่ายบุคลากร ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ซึ่งไม่ใช่การหักหัวคิวแต่เป็นงบบริหารจัดการตามยุทธศาสตร์ สปสช.เป็นหน่วยงานของรัฐต้องทำตามกฎหมายและระเบียบ ไม่มีกฎหมายและระเบียบใดของภาครัฐที่ให้หักหัวคิวได้
อีกเรื่องที่ต้องชี้แจงคือเงินค่าตอบแทนพิเศษหรือโบนัสที่ สปสช.เคยได้รับ ซึ่งได้รับประมาณ 1 เดือนเท่านั้น ไม่ใช่ 6-7 เดือน และ สปสช.ก็ไม่ได้รับโบนัสมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 แล้ว
“หลักการทำงานที่ สปสช.ยึดถือคือ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ดังนั้นข้อมูลทั้งหมดจึงมีการเผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมามีการให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง สปสช.ชี้แจงหลายครั้ง แต่ก็ยังคงมีการให้ข้อมูลไม่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้สังคมรับสารอย่างมีวิจารณญาน” โฆษก สปสช.กล่าว