นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน แห่งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 โดยมี เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย นายวรัญญู หร่ายเจริญ ผู้จัดการท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน แห่งที่ 2 ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปแผนการพัฒนาท่าเรือและพื้นที่ภายในท่าเรือ ณ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน แห่งที่ 2 อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ทั้งนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย พัฒนาท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน แห่งที่ 2 เป็นประตูการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน เพื่อส่งเสริมการขนส่ง การค้าระหว่างประเทศตามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำ ล้านช้าง-แม่น้ำโขง ระหว่าง 4 ประเทศ คือ จีน เมียนมาร์ ลาว และไทย รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการลงทุน ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และศูนย์โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การแปรรูปสินค้าเกษตร โดยจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ สามารถเชื่อมโยงการค้า จีน-อินเดีย ผ่านทางท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน แห่งที่ 2 ด้วยการบริการในแบบท่าเรือพาณิชย์สากล ทำให้มั่นใจได้ว่าได้รับบริการที่มีมาตรฐาน สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและประหยัด
ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน แห่งที่ 2 ตั้งอยู่ที่บริเวณฝั่งขวาของปากแม่น้ำสบกก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ห่างจากท่าเรือเชียงแสนแห่ง ที่ 1 ทางบกประมาณ 10 กิโลเมตร และทางน้ำประมาณ 6 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 387 ไร่ ฝั่งตรงข้ามประเทศลาว ด้านหลังติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1129 (เชียงแสน-เชียงของ) ลักษณะท่าเทียบเรือประกอบด้วย ท่าเทียบเรือแบบทางลาด 2 ระดับ จำนวน 2 ท่า ใช้สำหรับขนถ่ายสินค้าทั่วไป และท่าเทียบเรือแนวดิ่ง 1 ท่า สำหรับขนถ่ายสินค้าทั่วไปและคอนเทนเนอร์ ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ณ อาคารสำนักงานเดียวกัน ประกอบด้วยสำนักงานท่าเรือเชียงแสนและเชียงของ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 สาขาเชียงราย ด่านศุลกากรเชียงแสน ด่านอาหารและยาเชียงแสน ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย ด่านตรวจพืชเชียงแสน ด่านกักกันสัตว์เชียงราย และด่านตรวจสัตว์น้ำเชียงราย
สำหรับโครงข่ายการขนส่งเส้นทางเดินเรือจากท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนถึงท่าเรือกวนเหลย (ท่าเรือใต้สุดของจีน) รวมระยะทางประมาณ 265 กิโลเมตร ระดับน้ำลึก 1.5-7 เมตร แตกต่างตามฤดูกาล โดย ประเทศจีนได้ปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือ รวมถึงก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และควบคุมระดับน้ำ ให้สามารถบรรทุกสินค้าได้ตลอดทั้งปี ด้านการเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศทางถนน สามารถเดินทางได้ 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1290 อำเภอแม่สาย - อำเภอเชียงแสน 2. ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1016 อำเภอแม่จัน - อำเภอเชียงแสน 3. ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1129 อำเภอเชียงแสน - อำเภอเชียงของ