ดึง15บริษัทพัฒนาเมืองร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไทย

07 ก.ย. 2561 | 11:52 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2561 | 18:52 น.
สศช.ตั้ง 9 อรหันต์ยกร่างแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อกระะจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ดึง 15 บริษัทพัฒนาเมืองร่วมภาคปฏิบัติโดยยึดแนว 15 ระเบียงเศรษฐกิจเร่งขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เตรียมเสนอร่างระดมความเห็นครั้งใหญ่ 27 กย.นี้

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตามที่ได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดทำแผนแม่บท ไปเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 นั้นโดยมีคณะอนุกรรมการจำนวน 9 คน เข้ามาทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ วิเคราะห์ และบูรณาการตัวชี้วัด รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทเพื่อนำแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ โดยมอบหมายให้กระทรวงต่างๆ ดำเนินการ

plan

สำหรับแผนแม่บทตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย แผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก และการกระจายการถือครองที่ดิน แผนการปฏิรูปภาษีและการคุ้มครองผู้บริโภค แผนการสร้างหลักประกันทางสังคม(รวมประเด็นแรงงาน การศึกษา สาธารณสุข) แผนการกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี แผนการเสริมสร้างพลังทางสังคม และการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเองและการจัดการตนเอง

สำหรับอนุกรรมการทั้ง 9 คนประกอบด้วย 1.นางสีลาภรณ์ บัวสาย (ประธานกรรมการ) 2.ร.ศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ (รองประธานอนุกรรมการ) 3.นายกิตติ สัจจาวัฒนา อนุกรรมการ 4.นายฐาปนา บุณยประวิตร 5.นางสาวชเนตตี มิลินทางกูร 6.นางสาวสุวิมล มีแสง 7.นางสาวจุฑามณี เวียงวงศ์ (อนุกรรมการ) 8.นางสาวมนต์ทิพย์ สัมพันธวงศ์ เลขานุการ และนางสาวเมฆขลา ทองวิไล (ผู้ช่วยเลขานุการ)

ปัจจุบันมีแนวทางการดำเนินการ 2 แนวทางคือ 1.การเข้าไปหารือร่วมกับปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมต่างๆ ให้เสนอแผนงานโครงการที่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และยังหารือกับเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้างในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และ 2 เชิญองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม บริษัทพัฒนาเมือง สื่อมวลชน ภาคประชาชน เกษตรกร แรงงาน ผู้สูงอายุที่อาจได้รับผลกระทบเข้ามาร่วมระดมความเห็น ซึ่งได้ดำเนินการไปครบทั้งหมดแล้ว จากนั้นจะเร่งแยกแยะว่าประเด็นไหนเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพและมีโอกาสบรรจุลงในแผนแม่บท ส่วนไหนสมควรเป็นประเด็นปฏิรูป หรือสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนปกติ

“ประเด็นยุทธศาสตร์ คือแนวทางที่สามารถประสานความร่วมมือ เพื่อต้องการให้ทุกคนในประเทศทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ให้ภาคราชการดำเนินการเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้ภาคเอกชน ประชาชน ภาคส่วนกลาง ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมเนื่องจากเชื่อว่าปัญหามีความซับซ้อนยากที่จะแก้ไขได้แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น”

plan2

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกประเด็นยุทธศาสตร์ให้อยู่ในกรอบ 7 แนวทาง ที่กำหนดไว้คือ 1.แนวทางการวางแผนแม่บท ผังภาค ผังเมือง แผนพัฒนาพื้นที่ที่มีการกำหนดเป้าหมายเมืองหลัก เมืองรองที่ชัดเจน 2.แนวทางโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค และเทคโนโลยี 3.แนวทางการกระจายอุตสาหกรรม แหล่งจ้างงานและพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ 4.แนวทางการส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่นประชาชน และภาคเอกชนในการพัฒนาพื้นที่ 5.แนวทางกฏหมาย ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเพื่อรองรับการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัดที่มีประสิทธิภาพ 6.แนวทางระบบและกลไกพัฒนาองค์ความรู้ ข้อมูลและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ และ 7. แนวทางการวางแผนและพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับ ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่

ด้านนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย และคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า จะนำเสนอแนวทางการพัฒนา 15 ระเบียงเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดต่างๆ พร้อมกำหนดบทบาททางเศรษฐกิจของแต่ละระเบียงเศรษฐกิจให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงความพร้อมของทรัพยากรและความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและการบริการของแต่ละระเบียงเศรษฐกิจหรือแต่ละจังหวัดเป็นหลัก นอกจากนั้น จะเสนอโครงการที่เป็นธงนำในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้จังหวัดกลุ่มเป้าหมาย 15 จังหวัดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ซึ่งจะเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญของแต่ละระเบียงในอนาคต

พร้อมเสนอแผนการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และระบบขนส่งมวลชน เพื่อรองรับการพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ โดยให้คณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติไปเร่งขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมพร้อมกับดึง 15 บริษัทพัฒนาเมืองในฐานะตัวแทนภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าไปร่วมขับเคลื่อนแผนแม่บทดังกล่าวในแนวทางการส่งเสริมบทบาทของหน่วยงานในท้องถิ่นประชาชน และภาคเอกชนในการพัฒนาพื้นที่ ให้สามารถเร่งขับเคลื่อนภาคปฏิบัติได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

090861-1927-9-335x503

นอกจากนั้น จะเสนอกลไกสนับสนุนการพัฒนา ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ชาติ ได้แก่ กองทุนเพื่อการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนและโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งมวลชน (TOD and Transit Infrastructure Fund) กองทุนพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Development Fund) กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกระดับรายได้ (Affordable Housing Fund) และกองทุนอื่นๆ พร้อมด้วย การปรับปรุงกลไกการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลหรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์

“เป็นการเปิดร่างแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติที่จะนำเสนอในวันที่ 27 กันยายนนี้ที่เมืองทองธานี ก่อนที่จะนำข้อเสนอ ความเห็น กรอบและทิศทางต่างๆไปปรับปรุงให้สอดคล้องและมีความสมบูรณ์ต่อไป โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือน”

ประเด็นยุทธศาสตร์คือแนวทางที่ต้องการให้ทุกคนในประเทศทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ให้ภาคราชการดำเนินการเท่านั้น ควรเปิดกว้าง

23626556