ผุดศูนย์ MRO ของแอร์เอเชีย ที่อู่ตะเภา ยังไม่ได้ข้อยุติ “อุตตม” เผยต้องพิจารณาข้อเสนอที่ขอมา ให้เกิดความคุ้มค่ากับประเทศ ทั้งการปรับลดค่าธรรมเนียมเที่ยวบินการสร้างอาคารรับเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์ให้ เงื่อนไขยากต้องดูให้รอบคอบ
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาหรือ MRO รวมอยู่ด้วยบนพื้นที่ 500 ไร่ ซึ่งได้กันให้ไว้สำหรับบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)หรือทีจี ที่จะร่วมทุนกับบริษัทแอร์บัสฯไว้ราว 200 ไร่ ซึ่งล่าสุดบอร์ดทีจี ได้เห็นชอบผลการศึกษาแผนการพัฒนา MRO แล้ว และจะเสนอเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ก่อนที่จะเปิดทีโออาร์ในเดือนตุลาคมนี้
นอกจากนี้ ยังได้กันพื้นที่อีก 300 ไร่ ให้กับกลุ่มแอร์เอเชีย ที่มีความสนใจจะมาลงทุน MRO ด้วย และได้ยื่นข้อเสนอมายังสกพอ.แล้ว วงเงินลงทุนประมาณ 4,500 ล้านบาท
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กบอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ทางกลุมแอร์เอเชียอยู่ระหว่างการหารือกับทางสกพอ.เพื่อพิจารณาข้อเสนอตามที่กลุ่มแอร์เอเชียยื่นมา เช่น การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมและเพิ่มแรงจูงใจในทุกประเภท การขอให้ผลักดันการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการของสนามบินอู่ตะเภาให้ถึง 15 ล้านคนต่อปี ในระยะเวลา 5 ปี จากปัจจุบันสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านคนต่อปี
ประกอบกับแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการพัฒนาอีอีซีและการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พบว่าความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของอาคารผู้โดยสารปัจจุบันอาจไม่เพียงพอ ซึ่งแอร์ เอเชีย ได้ข้อให้สกพอ.และกองทัพเรือ พิจารณาขยายหรือสร้างอาคารผู้โดยสารเฉพาะสำหรับสายการบินราคาประหยัด หรือสายการบินที่จะใช้ท่าอากาศยานเป็นศูนย์กลางการบิน และการขยายรันเวย์เพิ่ม ก่อนที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และรันเวย์ที่ 2 ซึ่งอยู่ในแผนดำเนินการแล้วจะเสร็จในปี 2566 เพื่อรองรับสายการบินทั่วไปที่จะใช้ท่าอากาศยานเป็นศูนย์กลางการบิน และ MRO ระยะถัดไป รวมถึงสนับสนุนการซ่อมบำรุงให้แก่สายการบินของกลุ่มแอร์ เอเชียและในเครือ
นายอุตตม กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอดังกล่าว อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเป็นโครงการที่แตกต่างไปจากข้อเสนอของทีจีและแอร์บัสที่ขอตั้งเพียงแค่โรงซ่อมบำรุงอากาศยาน ไม่ได้มีเงื่อนไขตามข้อเสนอของกลุ่มแอร์ เอเชีย ซึ่งต้องพิจารณาให้เกิดความรอบคอบ และเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทยด้วยขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการบริหาร การลงทุน ว่าจะเป็นไปตามที่เสนอมาหรือไม่
“ในการประชุมกบอ.ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานความคืบหน้ามาบ้างแล้ว โดยในส่วนของการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเป็น 15 ล้านคน ในช่วง 5 ปี นั้นมีความเป็นไปได้ ซึ่งได้มอบหมายให้สกพอ.และกองทัพเรือ ไปเร่งศึกษาปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นให้มีความชัดเจน หากอาคารหลังที่ 1 และ 2 ไม่สามารถรองรับได้ ก็ต้องมีการขยายหรือลงทุน ขณะที่การปรับลดค่าธรรมเนียมนั้น มองว่าจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับสายการเงินที่จะพิจารณาเพิ่มเที่ยวบินมายังท่าอากาศยานอู่ตะเภาได้ แต่ต้องมีการพิจารณาข้อกำหนดมาตรการ และประเมินอัตราที่เหมาะสม สามารถสร้างผลตอบแทนในภาพรวมที่คุ้มค่าให้กับรัฐและท่าอากาศยานได้ เป็นต้น”
หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3404 ระหว่างวันที่ 27 - 29 กันยายน 2561