เฉือนที่ ‘โคกภูกระแต‘ 1,860 ไร่ผุดนิคมอุตสาหกรรม เขตศก.พิเศษนครพนมประตูสู่อาเซียน

01 มี.ค. 2559 | 02:30 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2559 | 17:01 น.
จากมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มี “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 ได้เห็นชอบให้ที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแต” พื้นที่ 1.86พันไร่จากทั้งหมด 2.9 พันไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรม ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม เพื่อสนับสนุนให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และ ภาคเอกชนเช่าพื้นที่ระยะยาวในราคาถูกที่ต้องใช้มาตรา44 ตามร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ.2557 ถอนสภาพโอนเป็นที่ราชพัสดุให้กรมธนารักษ์ดูแล

[caption id="attachment_34436" align="aligncenter" width="700"] การคัดเลือกพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดนครพนม การคัดเลือกพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดนครพนม[/caption]

จุดเด่นที่เลือกที่ดินแปลงนี้เนื่องจาก 1. ทำเลติดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 บ้านหอม (นครพนม –คำม่วน) ช่วยลดต้นทุนและร่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าทางบก อีกทั้งติดแม่น้ำโขงที่ช่วยเพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้าทางเรือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 2. เป็นที่สาธารณประโยชน์ที่มีการบุกรุกพื้นที่จากเอกชนแต่ไม่กระจายตัวเต็มพื้นที่ ดังนั้นจึงสามารถเลือกเฉือนบริเวณที่มีปัญหาและพื้นที่ที่หน่วยราชการใช้ออกไปได้โดยไม่เสียรูปแปลง คือ พัฒนา 1.86 พันไร่ ส่วนอนาคตหากแก้ปัญหาบุกรุกได้ก็สามารถขยายพื้นที่ได้หากมีความจำเป็นต้องใช้เพิ่ม และ3. มีสาธารณูปโภคเข้าถึงพื้นที่ อาทิ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข22 ทางหลวงชนบทสายนพ.3008 สะพานมิตรภาพหรือสะพานข้ามโขงแห่งที่ 3 สถานีรถไฟทางคู่ (บ้านไผ่-นครพนม) มีไฟฟ้าเข้าถึง อีกทั้งแหล่งน้ำสาธารณะอยู่ทางทิศตะวันตก ส่วนข้อเสียคือปัญหาบุกรุกซึ่งพ่อเมืองนครพนมใช้วิธีจับกุมดำเนินคดี ล่าสุดมีคดีค้างอยู่ที่ศาลกว่า 40 ราย

อย่างไรก็ดี กรอบพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนมทั้งหมดตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ กำหนดจะครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ 13 ตำบล เนื้อที่ 744.79 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ 465,493.75 ไร่ ประกอบด้วย อำเภอเมืองนครพนม 10 ตำบล ครอบคลุม 554.58 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ ตำบลกุรุคุ ตำบลท่าค้อ ตำบลนาทราย ตำบลนาราชควาย ตำบลในเมือง ตำบลบ้านผึ้ง ตำบลโพธิ์ตาก ตำบลหนองญาติ ตำบลหนองแสง และตำบลอาจสามารถ ที่อำเภอท่าอุเทน 3 ตำบล ครอบคลุม 190.21 ตารางกิโลเมตรได้แก่ ตำบลโนนตาล ตำบลรามราช และตำบลเวินพระบาท

รูปแบบการพัฒนาจะเน้นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมเกี่ยวกับอาหารแช่แข็งและห้องเย็น ขณะที่การค้าชายแดนจะเน้นให้เป็นศูนย์กลางการค้าส่งและตลาดกลางสินค้าเกษตรระดับภูมิภาคอินโดจีน สินค้าแปรรูปอุตสาหกรรมอาหารปลอดภัย และศูนย์กลางโลจิสติกส์ การขนส่งรวบรวมและกระจายสินค้า

เมื่อสอบถามสำนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม ได้คำตอบว่าที่ดินทั้ง 1.86 พันไร่เป็นทำเลที่ดีที่สุดถือว่าเป็นแปลงที่ดิน “สีขาว” ปลอดจากการเข้าทำประโยชน์ ขณะที่ราคาประเมินที่ดินใกล้กับแปลงที่ดินตำบลอาจสามารถ ติดทางหลวงหมายเลข 212 ( นครพนม-บึงกาฬ )ติดสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่3 ที่จะข้ามฝั่งไปยังสปป.ลาว ราคาตารางวาละ 3.5พันบาท หรือไร่ละ 1.4 ล้านบาท ติดทางหลวงชนบท ตารางวาละ 1 พันบาท หรือไร่ละ 4 แสนบาท ส่วนถนนซอยตารางวาละ 700 บาท ที่ดินตาบอด 300 บาทต่อตารางวา ขณะที่ราคาตลาดซื้อขายจะสูงกว่า 2-3 เท่าตัว บางแปลงราคาสูงกว่า 10 ล้านบาทต่อไร่ โดยเฉพาะที่ดินติดถนนในเขตเทศบาลตำบลอาจสามารถใกล้กับสะพาน ซึ่งเป็นทำเลที่นักลงทุนเริ่มขยับเข้ามาลงทุนมากขึ้น เช่น บริษัทปั๊มน้ำมันปตท. ปั๊มเอสโซ่ รวมถึงการลงทุนพัฒนาสร้างอาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ยังมีโรงแรมเกิดขึ้นรองรับ อาทิ โรงแรมวิวโขง โรงแรมริเวอร์วิว อีกทั้งโครงการบ้านจัดสรรที่เกิดขึ้น ซึ่งทำเลทองส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณตำบลอาจสามารถ ตำบลหนองญาติ และ ตำบลท่าค้อ เป็นต้น

เมืองเกษตรกรรมริมน้ำโขงอันเงียบสงบ ปัจจุบันกำลังถูกเนรมิตให้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยมีรัฐบาล “บิ๊กตู่”ลับเขี้ยวเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่น่าจับตาไม่แพ้พื้นที่อื่นสำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจนครพนมแห่งนี้ !!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559