LHFGลุ้นปล่อยกู้รัฐดึงพันธมิตรหนุนทํา‘อี-วอลเล็ต’ข้ามชาติ

04 ธ.ค. 2561 | 09:01 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2561 | 16:01 น.
 

แบงก์แลนด์ชูพลัง CTBC เปิดโอกาสต่อยอดและขยายฐานลูกค้า-ธุรกิจ แย้มอยู่ในขั้นตอนเจรจาพันธมิตรสัญชาติอเมริกัน-ไต้หวันปูทางทั้ง “เทรดไฟแนนซ์-กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์” ผ่านวีแชท-ไลน์เพย์-แอร์เพย์ตอบโจทย์ดิจิตอลแบงก์รองรับกำลังซื้อ ด้านสินเชื่อปีหน้าโฟกัสบิ๊กคอร์ปอเรตทั้งไทยและต่างประเทศ-ซินดิเคตโครงการภาครัฐ

บริษัทแอลเอชไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ LHFG ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ประกอบด้วย บมจ.ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ บมจ.หลักทรัพย์แลนด์แอนด์เฮ้าส์ บจ.หลักทรัพย์จัดการกองทุนแลนด์แอนด์เฮ้าส์และบจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์แอดไวซอรี่ ภายใต้โครงสร้างพันธมิตรจากไต้หวันคือ CTBC  BANK ถือหุ้นในสัดส่วน 35.62% บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 21.88% และบมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ 13.74% ซึ่งภายหลังการเข้าถือหุ้นของ CTBC BANK (2560) ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรรองรับการให้บริการเชิงรุกทั้งธุรกิจการค้าระหว่างประเทศหรือเทรดไฟแนนซ์ ธุรกิจการบริการการเงินส่วนบุคคล (Wealth Management) และด้านดิจิตอลแบงกิ้ง (Digital Banking) นั้น

นายรัตน์ พานิชพันธ์  ประธานกรรมการLHFGกล่าวว่า แนวโน้มปีหน้าภาวะเศรษฐกิจเติบโตลักษณะชะลอจากปีนี้ ขณะที่นักลงทุนยังมองไทยเป็น Safe Havenเห็นได้จากการที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตรไทยกว่า 9 แสนล้านบาทหรือเกือบ 1 ล้านล้านบาท สาเหตุจากค่าเงินไม่สวิงมาก ส่วนแนวโน้มแม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยต้องปรับขึ้นเร็วแต่มีความเป็นไปได้ 50% ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในเดือนธันวาคมปีนี้ สำหรับแนวทางอำนวยสินเชื่อของธนาคารนั้นต้องยอมรับว่าการมีพันธมิตร CTBC เข้ามาถือหุ้นทำให้ธนาคารมีโอกาสในการทำธุรกิจที่กว้างขึ้น เช่น ด้วยศักยภาพของ CTBC ที่จะดึงพันธมิตรธนาคารสัญชาติอเมริกาเข้ามาช่วยธนาคารทำธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ในต้นปีหน้า ส่วนในประเทศยังปล่อยสินเชื่อรายย่อยอย่างระมัดระวังโดยดูทั้งอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันหรือ LTV และสัดส่วนหนี้ต่อรายได้หรือ DTI ควบคู่กันด้วยโดยเฉพาะสินเชื่อบ้านแต่ภาพรวมปีหน้าเชื่อว่าจากมาตรการคุม LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยจะช่วยให้ทุกธนาคารรวมทั้ง LHFG เข้าไปแข่งขันบนมาตรฐานเดียวกันตามธปท.กำหนด

MP24-3423-A-

“ยอมรับว่าพันธมิตร CTBC ช่วยเราในหลายมิติ เช่น ธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ก็อาศัยศักยภาพทาง CTBC ทาบทามแบงก์สัญชาติ อเมริกามาร่วมทำธุรกิจแต่โวลุมค่อยเป็นค่อยไปเพราะส่วนใหญ่ลูกค้าเขาใช้บริการแบงก์อื่นอยู่แล้ว แต่เราจะครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั้งลูกค้าจากไทยและอาจจะมีด้านต่างประเทศเข้ามาช่วย จริงๆ ปีนี้ในแง่การเติบโตสินเชื่อนั้นหากไม่รวมสินเชื่อรายย่อยโดยรวมสินเชื่อก็ติดลบ เพราะกลุ่มเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบหลายด้าน ส่วนรายใหญ่พึ่งสินเชื่อน้อยสามารถระดมทุนและออกตราสารหนี้ได้”

ต่อข้อถามงบประมาณลงทุนด้านเทคโนโลยีนั้น นอกจากในส่วนของ LHFG พัฒนาไอทีและบริการดิจิตอลเช่น แอพพลิเคชัน ผ่านมือถือแล้ว ธนาคารยังได้การซัพพอร์ตจาก CTBC ด้านพัฒนาไอทีและเทคโนโลยีเช่นกัน โดยปีหน้าจะให้บริการอี-วอลเล็ตที่ไม่เหมือนกับค่ายอื่นแต่ในแง่ตัวเลขงบประมาณฝ่ายบริหารยังไม่เสนอแผนเพื่อดำเนินงานเข้ามาเลย

ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่ารูปแบบการให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเล็ต)ที่ไม่เหมือนค่ายอื่นนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรทางไต้หวันซึ่งมีความเชี่ยวชาญและพร้อมสนับสนุน LHFG ที่ต้องการรุกดิจิตอลแบงกิ้ง ทั้งนี้ เข้าใจว่ารูปแบบบริการอี-วอลเล็ตที่กำหนดจะให้บริการต้นปี 2562 นั้น จะรวมหลายเพย์เมนต์ ไม่ว่าจะผ่านไลน์เพย์ วีแชต แอร์เพย์ ฯลฯ เพื่อรองรับกำลังซื้อและตอบโจทย์ดิจิตอลแบงกิ้ง

[caption id="attachment_355112" align="aligncenter" width="335"] เพิ่มเพื่อน [/caption]

นางศศิธร  พงศธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ LHFG กล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนจัดทำแผนธุรกิจสำหรับปี 2562 เบื้องต้นคาดว่าปีหน้าสินเชื่อของธนาคารจะเติบโตประมาณ 5-6% จากสิ้นปีนี้สามารถทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 4-5% อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธนาคารมีความแข็งแกร่งของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ที่ระดับ 21.59% (เม็ดเงินกว่า 4.06 หมื่นล้านบาท)  โดยเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่ระดับ 18.5% (จำนวน  3.5 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเห็นได้ชัดว่าภายหลัง CTBCเข้ามาถือหุ้นทำให้ธนาคารอำนวยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นโดยเกณฑ์กำกับลูกหนี้รายใหญ่หรือ Single Lending Limit ที่เพิ่มขึ้นเป็นวงเงิน 8,000-10,000ล้านบาท  ดังนั้น นอกจากการอำนวยสินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าบิ๊กคอร์ปอเรตในSET50 แล้ว

“วันนี้ธุรกิจรายใหญ่เป็นแรงขับเคลื่อนและ ปีหน้ากลยุทธ์ทำตลาดของเรายังใช้ประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรแบงก์ CTBC เรายังมองถึงโอกาสที่จะปล่อยสินเชื่อขนาดกลาง ส่วนหนึ่งมาจากโครงการภาครัฐซึ่งเป็นธุรกิจซับคอนแทร็กต์ ส่วนไฮสปีดเทรนเน้นเราพิจารณาในแง่ซินดิเคตโลน คือ เราเป็นแบงก์เล็กเมื่อเทียบกับผู้กู้ขนาดใหญ่ หากไซซ์ไม่ใหญ่ประมาณ 3-4 ราย รายละ 5-6 หมื่นล้านบาทเพราะส่วนใหญ่โครงการเหล่านี้ไม่สนใจที่จะอยู่กับแบงก์ใหญ่เพียงแห่งเดียวสำหรับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี และรายย่อยนั้นยังรอผลกระทบ IFRS9 และดอกเบี้ยขาขึ้นที่อาจฉุดความสามารถในการชำระหนี้ที่สำคัญสินเชื่อบ้านที่ผ่านมาเราพบลูกค้า 1 คนถือบัตรเครดิตถึง 4 ใบ”

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,423 วันที่  2 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว