จากที่"ฐานเศรษฐกิจ"ได้นำเสนอข่าวสภาพเส้นทางบ้านห้วยทม-นาหนองแดง บ้านป่าก่อซิตี้ ตำบลป่าก่อ อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ หลังน้ำลดถนนลาดยางได้หลุดร่อนออกมาเป็นแผ่น ๆ คล้ายกับพิซซ่าชนิดแป้งบาง ทำให้กระแสสังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและมาตรฐานของการก่อสร้างถนนดังกล่าว ซึ่ง ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรวจสอบและให้ข้อเท็จจริงกับสังคม
ขณะที่เวลาต่อมามีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “เจ้าชาย แห่งสายธาร” ออกมาโพสต์รูปภาพและข้อความไว้เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา โดยข้อความระบุว่า “แจ้งข่าวชาวโซเชียลน่ะครับ ผมได้ลงสำรวจถนนที่ผมได้ลงไว้ก่อนหน้านี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นซึ่งในมุมประชาชนคนหนึ่ง ในส่วนตัวคิดว่าการสร้างเป็นไปตามมาตรฐาน มีชั้นหินคลุก มีการกลบทราย ความหนาของพื้นลาดยางประมาณ 4 ซม. ถนนเส้นนี้ใช้มา 3-4 ปี แล้วครับยังไม่มีการชำรุดถือว่าได้มาตรฐานเพราะถนนเส้นนี้รถบรรทุกอ้อย มัน ยางพารา พืชผลทางการเกษตรวิ่งตลอด และในบริเวณใกล้เคียงก็มีลานมันซึ่งมีรถบรรทุกวิ่งเข้าออกตลอดในช่วงซื้อขาย ที่หลุดออกมี 2 ช่วงซึ่งเป็นช่วงที่กระแสน้ำไหลแรงจึงหลุดร่อนออกมาเนื่องจากถนนไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับสถานการณ์เช่นนี้ครับ” #รับฟังทุกความคิดเห็นครับ
ต่อเรื่องนี้ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ได้เสนอเรื่องไปยังนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยในการสร้างถนนทั่วประเทศ แนะให้นำยางพารามาเป็นส่วนผสม 5-10% ซึ่งจะเป็นยางแผ่นหรือยางแท่งก็ได้โดยนำไปหลอมรวมกับยางมะตอยสำเร็จรูป(แอสฟัลท์) ก่อนลาดถนน ซึ่งจะทำให้ถนนมีความยืดหยุ่น ทนทาน ไม่แตกร่อนง่าย ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า ถนนลาดยางที่ผสมยางพารา 5% (ปัจจุบันผสมได้ถึง 10%)จะมีความทนทานมากกว่าถนนยางแอสฟัลท์ธรรมดากว่า 6 เท่า
“เรื่องนี้ได้เสนอความเห็นไปยังคุณอลงกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ แล้ว ซึ่งผมยังได้แนะนำให้ไปดูถนนหน้าสถาบันวิจัยยาง ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่สร้างด้วยยางแอสฟัลท์ผสมยางพารา ซึ่งในปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ถนนที่อื่นถูกน้ำกัดเซาะ แตกร่อนเสียหาย แต่ถนนที่หน้าสถาบันวิจัยยางที่ใช้ยางแค่ 5% เป็นส่วนผสมยังอยู่ในสภาพปกติ อีกตัวอย่างคือถนนหน้าศูนย์วิจัยยาง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่สร้างสมัยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ(ปี 2547)ซึ่งลาดด้วยแอสฟัลท์ผสมยางพาราระยะทาง 4-5 กิโลเมตร ซึ่งจากที่คุณณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ได้ไปดูที่หน้าศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ ยืนยันว่าปัจจุบันถนนยังอยู่ในสภาพที่ดี มีความเรียบ สวยงาม ไม่แตกร่อน เรื่องนี้ได้แนะนำให้คุณอลงกรณ์ไปดูของจริงแล้ว ซึ่งคงนำเรื่องไปหารือกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯต่อไป”
นายอุทัย กล่าวอีกว่า หากนำยางพาราไปเป็นส่วนผสมในแอสฟัลท์ลาดถนนทั่วประเทศจะช่วยประหยัดงบประมาณของทางราชการในการซ่อมถนนลงได้มาก จากที่ผ่านมาในแต่ละปีกรมทางหลวงต้องใช้งบประมาณในการซ่อมถนนที่ชำรุด เสียหายทั่วประเทศกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรื่องดีๆ อย่างนี้ตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่ทำซะที? หากทำจะช่วยเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ และช่วยดันราคายางให้ดีขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โต้ปมถนนพิซซ่าแป้งบาง ยันลาดยางหนา 4 ซม.ได้มาตรฐาน
จี้ตรวจสอบ "ถนนพิซซ่าแป้งบาง"
น้ำลด "ถนนพิซซ่าแป้งบาง" ผุด