ผู้ประกอบการเอส เอ็มอีประสานเสียงมองกำลังซื้อในประเทศเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี เผยยอดตกลงตั้งแต่ต้นปี ชี้สงครามการค้าส่งผลกระทบเล็กน้อย แต่มีผลต่อภาพใหญ่ของเศรษฐกิจมากกว่า
นายนิวัฒน์ โฆวงศ์ประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวนผึ้งหวาน จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายมะขามแปรรูปแบรนด์ “บ้านมะขาม “เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อยอดขายในช่วงที่เหลือของปีนี้นั้น มองว่าเป็นประเด็นเรื่องของกำลังซื้อภายในประเทศที่ถดถอยตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยจะเห็นได้จากช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันยอดจำหน่ายของแบรนด์ตกลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของค่าเงิน ซึ่งทำให้ช่องทางการส่งออกของแบรนด์ปรับตัวลดลง เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 10% ได้จึงขอหยุดออร์เดอร์ เพื่อรอให้เงินบาทอ่อนค่าลง เพราะผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในประเภทสินค้าที่จำเป็น
ขณะที่ประเด็นเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนนั้น จะกระทบกับภาพรวมของเศรษฐกิจใหญ่ และกระทบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยมีผลกระทบเล็กน้อยต่อบริษัทเนื่องจากเป็นสินค้าเกษตรแปรรูป และมีกลุ่มลูกค้าหลักอยู่ภายในประเทศ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวน่าจะสามารถคลี่คลายได้ในระยะเวลาข้างหน้า เนื่องจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็พยายามเร่งดำเนินการแก้ปัญหาอยู่ ดังนั้น บริษัทจึงดำเนินการลงทุนก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ เพื่อขยายกำลังการผลิต รองรับตลาดที่จะฟื้นตัวกลับมา
“ผลิตภัณฑ์ของบริษัทยังสามารถเติบโตได้ในตลาด เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ รวมถึงไม่ใช้สารเคมี และมีกลุ่มที่เป็นผู้บริโภคประจำ การลงทุนก่อสร้างโรงงานจึงเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของการทำธุรกิจ หากรอดำเนินการช่วงเศรษฐกิจฟื้นอาจจะไม่ทันกาล”
นายธนัช เงินประเสริฐศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนัชวิชญ์ แทรเวล กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการรถทัวร์ท่องเที่ยว แบรนด์ “รถทัวร์ธนัชวิชญ์” กล่าวให้ความเห็นว่า ปัจจัยที่น่าเป็นห่วงสำหรับธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะเป็นประเด็นเรื่องของผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่มีการตั้งกำแพงภาษีกีดกันทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก โดยเมื่อรายได้ของผู้บริโภคลดลง การเดินทางท่องเที่ยวซึ่งไม่ใช่สิ่งจำเป็นก็จะถูกลดลงตามไปด้วย โดยเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้
อย่างไรก็ดี มองว่าภาครัฐเองสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบให้ได้บ้าง หากมีการปลดล็อกให้องค์กร หรือหน่วยงานราชการสามารถเดินทางศึกษาดูงานได้ ไม่ใช่จำกัดแค่เพียงโครงการสัมมนาเหมือนที่ผ่านมา เพื่อให้กำลังภายในประเทศกลับมา ส่วนการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาไทยนั้น ในไตรมาส 3-4 จะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาวของต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะสามารถช่วยให้รายได้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับมาตรการของภาครัฐที่จะต้องเข้ามาช่วยกระตุ้นด้วย
“ที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยเป็นจำนวนมาก แต่ก็อยู่ในเพียงห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้าของกลุ่มนายทุนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่กระจายมายังผู้ประกอบการในประเทศเช่น ทัวร์ศูนย์เหรียญ ดังนั้นรัฐจะต้องเข้ามากำกับดูแลให้การใช้บริการกระจายออกมา โดยมองว่าประมาณครึ่งหนึ่งก็ถือว่าดีแล้วไม่ใช่อาศัยเข้ามาในประเทศเพื่อใช้ทรัพยากรเท่านั้น ยอดของนักท่องเที่ยวก็เพียงแค่เพิ่มขึ้นในมุมมองของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แต่ไม่ได้ช่วยในเรื่องของการสร้างรายได้”
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ทำธุรกิจมาปีนี้ถือว่าแย่ที่สุด โดยรายได้จากกลุ่มของนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางในประเทศลดลงประมาณ 30-50% เนื่องจากภาครัฐไม่มีการอนุมัติโครงการศึกษาดูงานในประเทศขององค์กร หรือหน่วยงานราชการ โดยจะเป็นการดำเนินการกระตุ้นผ่านการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งเป็นการเดินทางแบบครอบครัว หรือเป็นบุคคลธรรมดามากกว่า ส่วนรายได้จากธุรกิจรถรับส่งพนักงานโรงงานก็ลดลง จากการที่โรงงานมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้งาน เพื่อลดต้นทุน ทำให้มีจำนวนพนักงานน้อยลง ขณะที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศแม้ว่าจะมีจำนวนไม่ลดลงแต่วัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป ซึ่งไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
นายสิวพงศ์ สัจจะวัฒนวิมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนทีฟฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายปลาร้าพาสเจอไรซ์ แบรนด์ “ปลายจวัก” กล่าวว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ มองว่าน่าจะเป็นเรื่องของเสถียรภาพทางการเมือง เพราะเรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่กำลังซื้อในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ปัจจุบันบริษัทเริ่มได้รับผลกระทบจากการจ่ายค่าผลิตภัณฑ์จากคู่ค้าที่ล่าช้าออกไปจากระยะเวลาในการให้เครดิต โดยบริษัทจะมีเครดิตให้ 30 วัน แต่คู่ค้าจะชำระเงินในเวลา 45 วัน ขณะที่บริษัทเองต้องจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆแบบตรงเวลาไม่ว่าจะเป็นค่าวัตถุดิบ, แพ็กเกจจิ้ง และเงินเดือนพนักงาน เป็นต้น
“หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นอกจากเรื่องความเชื่อมั่นที่จะได้รับผลกระทบแล้ว ยังมีเรื่องของมาตรการในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้วย ที่อาจถูกยกเลิกหากรัฐบาลไม่เห็นด้วย ดังนั้นนี่จึงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญมาก”
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3504 วันที่ 12-14 กันยายน 2562