‘กองโลจิสติกส์’ลุยช่วยSMEs ลดต้นทุนขนส่ง พันล้าน

22 ต.ค. 2562 | 07:45 น.

ในการทำธุรกิจใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตอุตสาหกรรมหรือการค้า การจัดการโลจิสติกส์ ถือเป็นส่วนสำคัญในแง่ต้นทุนการผลิต และเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ที่ส่งผลให้มีการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น และการเปิดเสรีทางการค้าที่มากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจจึงต้องยกระดับความสามารถในการดำเนินธุรกิจในทุกทาง

จากเหตุผลเหล่านี้ในมุมภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงอุตสาห- กรรมเห็นความสำคัญ ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ติณห์ เจริญใจ ผู้อำนวยการกองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด เพราะต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตเป็นหลักและพยายามหาวิธีลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง เพื่อต่อสู้กับคู่แข่งรายอื่นๆ ที่อยู่ในตลาดให้ได้

‘กองโลจิสติกส์’ลุยช่วยSMEs  ลดต้นทุนขนส่ง พันล้าน

ผู้อำนวยการกองโลจิสติกส์ เกริ่นถึงกองโลจิสติกส์ว่า ก่อนหน้านี้ ใช้ชื่อว่า สำนักโลจิสติกส์ สังกัด กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ปี 2560 ก็ปรับโครงสร้างของหน่วยงานราชการทางสำนักโลจิสติกส์ก็ได้โอนมาทั้งคนและงานมาอยู่ในสังกัด กรมส่งเสริมอุตสาห- กรรม บทบาทหน้าที่ก็จะไปเกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมโดยตรงโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ลักษณะงานจะต้องส่งเสริมผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์กับห่วงโซ่อุปทานให้มีความเป็นระบบเข็มแข็ง มีมาตรฐานก็เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเองโดยลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงเพื่อให้ธุรกิจนั้นๆเติบโตยั่งยืน

“เรามีหลัก PSMDR เป็นหลักของโลจิสติกส์ซัพพลายเชน P-Planning เป็นการวางแผนงาน, S-Source การจัดหาวัตถุดิบ,M-Make งานด้านการผลิต และD-Delivery การส่งมอบสินค้า,R -Return การส่งคืน เหล่านี้มองเป็นระบบเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการขนส่งเพียงอย่างเดียว”

โดยกองโลจิสติกส์จะต้องให้การสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาให้มีระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์กับห่วงโซ่อุปทานให้เข้มแข็งและมีเครื่องมือที่เข้าไปช่วย เช่น การสนับสนุนด้านฝึกอบรม เทรนนิ่ง อบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านโลจิสติกส์ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาอบรม บางหลักสูตรอาจจะเป็นเจ้าของกิจการที่ประสบผลสำเร็จด้านโลจิสติกส์กับห่วงโซ่อุปทานมาให้การอบรม ทั้งระดับผู้บริหารและระดับปฏิบัติการ โดยคัดเลือกผู้ประกอบการ 30-50 คนเข้ามาอบรมโดยผ่านการคัดเลือกโดยมีเกณฑ์คัดเลือกว่ามีสาขาธุรกิจที่ตรงกับที่สนับสนุนหรือไม่ โดยการอบรมจะมีเป็นประจำทุกเดือน ตรงนี้จะมีการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับองค์กรของตัวเอง

รวมถึงให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกโดยจะวินิจฉัยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังไม่แข็งแรง โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องระบบโลจิสติกส์-ซัพพลายเชนที่ยังไม่แข็งแรง โดยหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาให้คำปรึกษาแบบเจาะรายบริษัท เจาะรายประเภทอุตสาหกรรม และเน้นด้านไอทีเพื่อมุ่งไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 หรือสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน เกิดกิจกรรมร่วมกัน และพาผู้ประกอบการไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ และนำแบบอย่างมาปรับใช้ อีกทั้งมีการคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นดาวเด่น ที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจออกมาถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการในกลุ่มที่เราคัดเลือกมารับรู้ประสบการณ์

‘กองโลจิสติกส์’ลุยช่วยSMEs  ลดต้นทุนขนส่ง พันล้าน

 

ผลงานกองโลจิสติกส์เชิงปริมาณ

สำหรับผลงานของกองโลจิสติกส์ในเชิงปริมาณนั้น ปี 2562 ได้ฝึกอบรมคนจากผู้ประกอบการอบรมพัฒนาด้านโลจิสติกส์แล้วราว 440 คน ที่มาจากกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงการให้คำปรึกษาเจาะกลุ่มประเภทกิจการแล้ว 320 กิจการ

ส่วนผลสำเร็จของการทำงานจะมีตัวชี้วัด ดังนี้ 1.ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดลงแล้วไม่น้อยกว่า 15% ต่อกิจการ เมื่อเทียบจากเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการ และเมื่อคิดเป็นมูลค่าต้นทุนโลจิสติกส์จาก 320 กิจการสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์เป็นมูลค่า 1,170 ล้านบาท ตามปีงบประมาณ 2562

‘กองโลจิสติกส์’ลุยช่วยSMEs  ลดต้นทุนขนส่ง พันล้าน

 

ปี63พัฒนาต่อเนื่อง

สำหรับปี 2563 แผนการดำเนินงานยังอยู่ในแนวเดิมเพื่อให้การทำงานสอดรับกับแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) เพื่อให้การทำงานด้านโลจิสติกส์ต่อเนื่อง หลังจากที่ปี 2562 กองโลจิสติกส์ประสบผลสำเร็จในแง่การลงไปช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์รวมถึงต้องการให้เป็นไปตามแผนการช่วยผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่วนผลที่ได้รับปี2563 คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้ไม่น้อยกว่า 850 ล้านบาท จาก 220 กิจการ

ผู้อำนวยการกองโลจิสติกส์ ยังกล่าวถึง ปัญหาและอุปสรรคของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า ปัจจุบันแบ่งปัญหาออกเป็น 3 ด้านหลักคือ 1. ระบบข้อมูลด้านธุรกิจยังไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจได้เต็มที่ ยังต้องได้รับการพัฒนาต่อไป 2.การเข้าถึงแหล่งสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังมีอุปสรรค ที่ยังยึดหลักการมีสินทรัพย์คํ้าประกัน ขณะที่ในต่างประเทศผู้ประกอบการยินดีเปิดเผยข้อมูลกับสถาบันการเงินเพื่อให้แบงก์มั่นใจกล้าที่จะปล่อยกู้ ซึ่งเอสเอ็มอียังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 

3.เอสเอ็มอียังเข้าใจว่าโลจิสติกส์เป็นเพียงระบบขนส่งอย่างเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วยังเป็นภาพที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบตรงนี้ภาครัฐก็ต้องเข้าไปให้ข้อมูลด้วย

‘กองโลจิสติกส์’ลุยช่วยSMEs  ลดต้นทุนขนส่ง พันล้าน