สัมภาษณ์
สถานการณ์ส่งออกไทยรายได้หลักของประเทศช่วง 10 เดือนแรกปี 2562 ยังติดลบ 2.4% ขณะที่ภาคส่งออกของไทย ณ ปัจจุบันยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก หลักๆ คือ เงินบาทแข็งค่ากระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังยืดเยื้อ และสหรัฐฯ กำลังจ่อขยายวงทำสงครามการค้ากับยุโรป อาร์เจนตินา และบราซิล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการค้าโลกที่ชะลอตัวอยู่แล้ว มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง
ผลพวงตามมาโรงงานผลิตเพื่อส่งออกสินค้าของไทยต้องลดกำลังผลิต ลดเวลาทำงาน ลดโอที ลดเงินเดือนพนักงาน จากปัจจัยลบที่มีมากกว่าปัจจัยบวก ส่งผลเอกชนปรับคาดการส่งออกปี 2562 ใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในแดนลบ อาทิ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดติดลบ 2.5% ถึงลบ 3% คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดขยายตัว 0% ถึงลบ 2% ส่วนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ลดเป้าส่งออกเป็น 0% ถึงลบ 2% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์คาดการส่งออกจะติดลบ 1.5 - 2% จากเป้าเดิมบวก 3%
ปลุกทูตพาณิชย์สู้ศึกขาลง
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ถือเป็นภาระอันหนักอึ้งในการผลักดันการส่งออกของไทยให้กลับมาขยายตัวเป็นบวกในปี 2563 แต่ทั้งนี้จะดำเนินการผลักดันการส่งออกตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คือให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกทำตัวเป็นเซลส์แมน ในการโปรโมตสินค้าไทยและช่วยหาตลาดให้กับผู้ส่งออกของไทย
สมเด็จ สุสมบูรณ์
“ในปีหน้ากรมจะพยายามกระตุ้นการส่งออกไทยให้กลับมาขยายตัว ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม ผักและผลไม้ รวมไปถึงสินค้าโอท็อป สินค้าเสื้อผ้า เครื่องประดับ วัสดุก่อสร้าง แอนิเมชันและดิจิทัลคอนเทนต์”
ชู 4 กลยุทธ์ดันพลิกบวก
ทั้งนี้กรมชู 4 กลยุทธ์หลักในการเร่งรัดส่งออกปี 2563 ได้แก่ 1. รักษาและขยายตลาดเดิม เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อาเซียน และจีน 2. เพิ่มตลาดใหม่ อาทิ เอเชียใต้ (อินเดีย) ลาตินอเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง 3. ฟื้นฟูตลาดเก่า เช่น ตลาดข้าวในประเทศอิรัก การจัดตั้งไทยมาร์ต เพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าไทยในประเทศบาห์เรน และสู่ตะวันออกกลาง4. มุ่งเน้นการค้าชายแดนและข้ามแดนมากขึ้น
แผนรุก 7 ตลาดเป้าหมาย
สำหรับแผนการบุกตลาด ได้วางแผนการทำงาน เช่น ตลาดสหรัฐอเมริกา เน้นขยายฐานผู้นำเข้าและเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ (Gen Z) ขยายฐานตลาดสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรไทยโดยใช้สื่อดิจิทัล, ตลาดญี่ปุ่น เน้นผลักดันข้าวไทยไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในญี่ปุ่น การส่งเสริมข้าวไรซ์เบอร์รี่ ในฐานะ Functional Food รวมทั้งการใช้โอกาสจากญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 และงาน Japan World Expo 2025 ในการเจาะตลาดสินค้าเพิ่มขึ้น
ตลาดสหภาพยุโรป และรัสเซียจะเร่งเจรจาผลักดันขยายตลาดโดยเฉพาะสินค้าเกษตรอย่างผักและผลไม้สด ผ่านช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ ขณะที่ตลาดอินเดียจะเป็นการเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยและเทศกาลสินค้าไทยร่วมกับห้างค้าปลีก โดยให้นำเข้าสินค้า non-food จากไทยมากขึ้น เช่น เวชสำอาง เครื่องสำอาง ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น พร้อมเจาะเมืองรอง ไม่ว่าจะเป็น ปูเน่ บังกะลอร์ สุรัต อินดอร์ไฮเดอราบัด กัลกัตตา และรัฐเจ็ดสาวน้อย ผ่านงานแสดงสินค้า Top Thai Brands และการขยายตลาดออนไลน์
ส่วนตลาดตะวันออกกลางจะเร่งเจรจาฟื้นฟูตลาดข้าวในอิรัก ลาตินอเมริกา จะเน้นกิจกรรมการนำคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาธุรกิจ และจัดคณะผู้นำเข้าเข้ามาเจรจาการค้าในไทย มีสินค้าเป้าหมาย เช่น ยางพารา ถุงมือยาง ผลไม้อบแห้ง ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น
“ยอมรับว่าปีหน้ายังเป็นปีที่หนักของภาคการส่งออกไทย แต่จะพยายามผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อให้ตัวเลขกลับมาขยายตัวเป็นบวก ส่วนเป้าหมายจะเป็นเท่าใดนั้นคงต้องรอ ครม.เศรษฐกิจเป็นคนให้เป้าหมายต่อไป”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,530 วันที่ 12-14 ธันวาคม 2562