กรมทางหลวงเร่งศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบ EIA การขุดเจาะอุโมงค์ทางพิเศษแม่สอด-ตาก ด้านการรถไฟฯสรุปการออกแบบรายละเอียดรถไฟทางคู่สายใหม่เชื่อมนครสวรรค์
นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด) ว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้มีหนังสือแจ้งเทศบาลนครแม่สอด รายงานความคืบหน้าการพิจารณาให้การสนับสนุน และผลักดันการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด) ด้านโครงข่ายคมนาคม 2 โครงการ ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดดำเนินการอยู่ โดยจะมีผลสรุปในขั้นตอนสำคัญภายในปี 2563 นี้เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้เกิดผลต่อไป ประกอบด้วย
1.โครงการขุดเจาะอุโมงค์และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายตาก-แม่สอด (เส้นทางโทลล์เวย์) กรมทางหลวงอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม และการจัดทำรายงานผล กระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของการขุดเจาะอุโมงค์ คาดจะแล้วเสร็จในปี 2563
2.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด รวมระยะทาง 256 กม. กรอบวงเงิน 96,785 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างเสนองบประมาณประจำปี 2563 เพื่อออกแบบรายละเอียด โดยจะใช้เวลาออกแบบอีกประมาณ 1 ปีจะแล้วเสร็จ
โครงการรถไฟสายใหม่นครสวรรค์-แม่สอด นี้ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟทางคู่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor–EWEC) ภายใต้แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขง 6 ประเทศ (GMS) สำหรับช่วงนครสวรรค์-อำเภอบ้านไผ่ ขอนแก่น ระยะทาง 291 กม. กรอบวงเงิน 47,712 ล้านบาท ได้เริ่มศึกษาความเหมาะสมในปีงบประมาณ 2562 นี้แล้ว เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะต่อเชื่อมกับรถไฟทางคู่เส้นใหม่บ้านไผ่-มุกดาหาร สิ้นสุดที่นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร ที่รัฐบาลอนุมัติก่อสร้างแล้ว วงเงิน 66,843.33 ล้านบาท จะแล้วเสร็จปี 2567 เป็นเส้นทางรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าและการสัญจรเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา กับ สปป.ลาว เวียดนามและกัมพูชา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เดินหน้าโครงการก่อสร้างเส้นทางพิเศษระหว่างเมือง (เส้นทางโทลล์เวย์) สายตาก-แม่สอด เนื่องจากเล็งเห็นว่าการเดินทางระหว่างช่วงอำเภอแม่สอดไปยังตัวเมืองจังหวัดตาก จำเป็นต้องอาศัยทางหลวงหมายเลข 12 สายตาก-แม่สอด เป็นเส้นทางคมนาคมหลักเพียงเส้นทางเดียว แม้ว่ากรมทางหลวงจะได้รับงบประมาณ ขยายเส้นทางสายนี้ให้เป็นทางหลวง 4 ช่องจราจร แต่แนวเส้นทางยังมีข้อจำกัดด้านกายภาพที่เป็นอุปสรรคสำคัญ โดยมีลักษณะเป็นเส้นทางคดเคี้ยว และมีความลาดชันสูง เนื่องจากภูมิประเทศเป็นลักษณะภูเขา ทำให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการขนส่งสินค้าปริมาณมาก ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จึงให้ศึกษาแนวทางการขุดเจาะอุโมงค์ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (สายตาก-แม่สอด) เพื่อย่นระยะทาง ลดทางโค้งให้เกิดความปลอดภัยในการสัญจร
กรมทางหลวง จึงได้บรรจุให้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายตาก-แม่สอด เป็นหนึ่งในโครงข่ายสายทางตามแผนแม่บทการพัฒนา ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ปี 2560-2579
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,533 วันที่ 22 - 25 ธันวาคม 2562