โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ปี 2560-2564 (1 ล้านไร่) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานข้าวอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะมีเงินอุดหนุนเพื่อชดเชยรายได้ ปีที่ 1 เมื่อผ่านการประเมินจากกรมการข้าวตามหลักเกณฑ์ ได้รับการสนับสนุนเงิน 2,000 บาท ต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่/ราย ไม่เกิน 30,000 บาท/ราย
ปีที่ 2 เมื่อผ่านการตรวจรับรองระบบกลุ่มตามมาตรฐานข้าวอินทรีย์ได้การรับรองเป็น‘ระยะปรับเปลี่ยน’ได้รับการสนับสนุนเงิน 3,000 บาท/ไร่ ไม่เกิน 45,000 บาท/ราย ปีที่ 3 เมื่อผ่านการตรวจรับรองระบบกลุ่มตามมาตรฐานข้าวอินทรีย์ได้การรับรอง ‘มาตรฐานOrganic Thailand’ ได้รับการสนับสนุนเงิน 4,000 บาท/ไร่ ไม่เกิน 60,000 บาท/ราย ความคืบหน้าเป็นอย่างไรบ้าง
นายณรงค์ คงมาก คณะทำงานบูรณาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ฝากผลงานหนึ่งไว้ให้เกษตรกรชาวนา ผู้บริโภคคนไทยและผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรทั้งในและตลาดส่งออก คือโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ปี 2560–2564 ด้วยกรอบวงเงินที่อนุมัติไป ประมาณ 9,696 ล้านบาทและได้ใช้ไปสะสมจนถึงปี 2562 ในวงเงิน 1,154 ล้านบาท มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 50,956 ราย พื้นที่ที่ได้รับเงินอุดหนุนทั้ง 3 ระยะ คือ T1 ( ระยะปรับเปลี่ยนปีที่1 ได้รับเงินอุดหนุนไร่ละ 2,000 บาท )T2 ( ระยะปรับเปลี่ยนปีที่ 2ได้รับเงินอุดหนุน 3,000 บาท ) T3 (ระยะปรับเปลี่ยนปีที่3 หรือระยะอินทรีย์ได้รับเงินอุดหนุน 4,000 บาท ) รวม 485,123 ไร่
ที่ประชุมคณะทำงานการบูรณาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ครั้งที่ 1 ณ กรมการข้าว เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ผู้บริหารกรมการข้าว รายงานผลการดำเนินงานด้านการตลาดที่น่าสนใจและน่าตกใจ กล่าวคือผลผลิตจากโครงการในปีการผลิต 2560/61 ประมาณการผลผลิตที่จะขาย 4,171 ตัน มีผลผลิตที่รับซื้อจริงจากการบริหารของโครงการ 703.83 ตัน คิดเป็น 16.78 % ปีการผลิต 2561/62 ประมาณการผลผลิตที่จะขาย 25,947 ตัน มีผลผลิตที่รับซื้อจริงจากการบริหารของโครงการ 3,212 ตัน คิดเป็น12.38 % และในปีการผลิต2562/63 ประมาณการผลผลิตที่จะขาย 13,431 ตัน
“มีคำถามที่น่าสนใจว่าผลผลิตข้าวอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยนที่เหลือหายไปไหน? ขายให้ใคร? คำตอบที่ได้ คือ “ชาวนาสมาชิกโครงการขายให้ตลาดข้าวเปลือก (จากเกษตรเคมี ) ทั่วไป นั่นคือ ข้าวอินทรีย์จากโครงการไปผสมกับข้าวเคมีทั่วไป"
นายณรงค์ กล่าวว่า แม้ว่าผลประโยชน์ที่ได้จากโครงการชัดๆ คือ ชาวนากว่า 50,000 ราย มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ จากการเลิกใช้สารเคมีหันมาใช้สารอินทรีย์ แต่หากมองในมุมของนักธุรกิจ และผู้บริโภค ที่ต้องการผลผลิตเกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพ แต่ไม่ได้ เพราะข้าวจากโครงการกว่าร้อยละ 85 ไปผสมกับข้าวเคมี เป้าประสงค์ของโครงการก็ไม่บรรลุเป้าหมาย เป้าหมายของรัฐบาลที่ริเริ่มด้วยวงเงินเกือบ 10,000 ล้านบาท ก็อาจล้มเหลว และที่สำคัญที่สุด ความหวังของการขับเคลื่อนวาระเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย ก็อาจไม่ถึงฝั่ง ด้วยเหตุที่ไม่สามารถบริหารจัดการตลาดข้าวอินทรีย์ในโครงการนี้ได้ จะส่งผลกระทบต่อนโยบายเกษตรอินทรีย์ของรัฐบาลในยุคสมัยนี้ด้วย ( นายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน )
“ผมอยู่ในฐานะหนึ่งในคณะทำงานบูรณาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ จึงมีข้อเสนอให้ใช้กรอบการบริหารการตลาดของโครงการด้วย “โมเดลธุรกิจ CANVAS” 9 ขั้นตอน ผนวกกับระบบตลาดดิจิตอล มาบริหารโครงการนี้ “ที่ได้สร้างผลผลิตข้าวอินทรีย์อย่าง “ก้าวกระโดด” อย่างที่ท่านรองอธิบดีกรมการข้าว นายขจร เราประเสริฐ กล่าว แต่การบริหารการตลาด “ไม่ได้ก้าวกระโดดตาม”
สำหรับ 9 ขั้นตอนที่โครงการต้องทำตามโมเดลธุรกิจ CANVAS ( คมความคิดจากที่ประชุม 17 ธันวาคม 2562 และกรอบความคิด D-CORA และ KSNB&C-BMC ) อาทิ ขั้นตอนที่ 1 : สร้างสินค้าที่โดดเด่น ผลผลิตจากองค์กรชาวนาโดยตรง เป็นที่ต้องการของตลาด โครงการนี้อาจมีข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ที่ผลิตด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ยังไม่หลากหลายมากพอ ที่ตรงกับแนวโน้มการตลาดข้าวที่เปลี่ยนไป พื้นที่นา 1 ล้านไร่ในทุกจังหวัด คณะทำงานจากองค์กรพัฒนาเอกชน เสนอให้โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น ข้าวพื้นเมือง ข้าวที่คุณค่าทางโภชนาการพิเศษ ข้าวที่เป็นยา อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ มีผลผลิตของข้าวจาก”เกษตรอินทรีย์ ผลผลิตเพื่อสุขภาพ”เป็นจุดขายที่ชัดเจน
“ที่ประชุมเสนอให้พัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มชาวนาในโครงการ ให้เข้าร่วมและทำนาอินทรีย์ ด้วย “ใจ” ไม่ใช่ “แรงจูงใจ” ด้วยงบอุดหนุน ไร่ละ 2,000 บาท 3,000 บาท และ 4,000 บาท และเพิ่มทักษะการทำธุรกิจให้กับกลุ่มสมาชิกโครงการ ที่มีอยู่ประมาณ 3,000 กลุ่ม ให้เข้มแข็งด้วยหลักสูตร การทำแผนธุรกิจชุมชน
ขั้นตอนที่ 2 หาลูกค้าที่ชัดเจน แน่นอน ตกลงทั้งคุณภาพและราคาในการส่งมอบ ก่อนชาวนาลงมือปลูกข้าวแต่ละฤดูกาล จากรายงานในที่ประชุม โครงการสามารถจับคู่ กับผู้ซื้อที่ชัดเจน (จากการทำ Business Matching ตลาดข้าวเปลือก ปีละ 1 ครั้ง ) ได้เพียงร้อยละ 12- 16 ของปริมาณข้าวที่เป็นผลผลิตของโครงการเท่านั้น ผลผลิตที่เหลือกว่าร้อยละ 85 ยังหา “ตลาดข้าวเปลือกอินทรีย์ไม่ได้” ฝ่ายบริหารของกรมการข้าว ได้เสนอแนวทางการบริหารตลาด (ข้าวสาร) ผ่านตลาดประชารัฐ 9 กลุ่มตลาด ที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งาน
ผนวกกับตลาดประชารัฐของหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งเป็นตลาด “ข้าวสาร” ( ชาวนาต้องแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ) และเป็นตลาดแบบขายปลีก ต้องมีฝ่ายขายที่สัญจรไปขายตามตลาดที่หน่วยงานราชการจัดขึ้น ลูกค้าในตลาดแบบนี้ ยังไม่ชัดเจน หวังเป้าหมายการขายได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ต้นทุนการขาย การขนส่งสูง คุณภาพข้าวสารจากการแปรรูปของกลุ่มชาวนาด้วยโรงสีขนาดเล็กอาจมีปัญหาคุณภาพ และราคาขายค่อนข้างสูง เพราะค่าบริหารจัดการสูง รวมทั้งตลาดของผู้ประกอบการ อาทิ สมาคมโรงแรมไทย สมาคมภัตตาคาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ( แต่ยังไม่มียอดขายและเป้าหมายทางธุรกิจที่ชัดเจน )
ที่ประชุมเสนอให้เพิ่ม ตลาดที่เป็นองค์กรของรัฐ ในกลุ่ม “โรง” ได้แก่ โรงอาหาร โรงเลี้ยง ในโรงเรียน สถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ ค่ายทหาร เรือนจำ โรงพยาบาล ( กระทรวงสาธารณสุข กำลังรณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัย)ซึ่งอาจประสบปัญหาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และคู่ค้าเดิมขององค์กรเหล่านี้ รัฐต้องออกแบบปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อตามระเบียบราชการ ให้เอื้อต่อการซื้อข้าวสารตรงจากกลุ่มชาวนาในโครงการที่ผลิตข้าวอินทรีย์
ขณะที่ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย เสนอให้ศึกษาระบบงบประมาณที่เป็นเงินสะสม เงินค้างจ่าย ของภาครัฐมาใช้สนับสนุนเงินหมุนเวียนในการซื้อข้าว ค้าข้าวจากกลุ่มชาวนา แต่ต้องระบบตลาดที่ชัดเจนรองรับ อย่างที่บริษัทประชารัฐจังหวัด (สามัคคี) ดำเนินการอยู่อย่างได้ผลในบางจังหวัดขายหมดก่อนปลูกให้กับตลาดประชารัฐ ตลาดองค์กร ด้วยราคาที่เป็นธรรม เพื่อสุขภาพของบุคคลากรรัฐ คนป่วย เด็ก และเยาวชน หรือตลาดแบบเจรจาตกลงล่วงหน้า โดยกลุ่มชาวนาส่งมอบข้าวได้ตามราคาและข้อตกลง
ขั้นตอนที่ 3 : การสื่อสารทางการตลาด เครื่องมือดิจิตอลเพื่อการขาย ให้ “สินค้าที่โดดเด่น พบ กับคู่ค้าที่ชัดเจนแน่นอน ด้วยรูปแบบ OMO –Offline Merge Online ” ในยุค4.0 โลกของโซเชียลมีเดีย และตลาดดิจิตอล เข้ามาแทรก ( Disruption ) ในทุกวงการ และเป็นยุคของ “ทุกสรรพสิ่งเกี่ยวข้องกับอินเตอร์เนท” ( Internet of things ) “ผู้เขียน” เสนอให้โครงการฝึกอบรมให้กลุ่มชาวนา ด้วยหลักสูตร “ชาวนามืออาชีพ” ที่สามารถใช้แพลทฟอร์มการสื่อสารและการขายออนไลน์แบบฟรี ที่มีมากกว่า 30 แพลทฟอร์ม เข้ามาประยุกต์ใช้ในโครงการนี้
อาทิ Line OpenChat แอพพลิเคชั่นการประมูลออนไลน์ของ CAT และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และเว็ปไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงต่างๆ ให้คนที่ใช้ Smart Phone เข้าถึงสินค้า “เกษตรอินทรีย์ เพื่อสุขภาพ ของโครงการ” สร้างโซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือสื่อสารของโครงการโดยตรง มีฝ่ายการตลาด “ชาวนามืออาชีพ” ของกลุ่มชาวนา สมาชิกโครงการ บริหารแอพฯ มีผู้บริโภคตามแนวทาง CSA ( Community Support Agriculture ) เข้าถึงแอพฯ ของโครงการ ที่มีความน่าเชื่อถือ สื่อสารกับผู้บริโภค ผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ สินค้าเพื่อสุขภาพ ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง สามารถเจรจา “จับคู่ธุรกิจได้ทุกวินาที ไม่ใช่ปีละ 1 ครั้ง “
ระบบตลาดออนไลน์ ของโครงการ “ข้าราชการ”ในกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ต้องทำให้ได้ ( เพราะมีเงินเดือนตอบแทนทุกเดือน มั่นคง ) โดยรัฐต้องกำหนดให้ข้าราชการสายพันธุ์ใหม่ มี KPI มีโอกาสเติบโตทางสายงาน เมื่อมารับผิดชอบโครงการตลาด OMO นี้ “ไม่ใช่งานฝากของฝ่ายการเมือง ที่เป็นภาระของฝ่ายราชการ เสมือนนักมวยชกโดนแต่ไม่ได้แต้มคะแนน