“ชีวภัณฑ์” สารทดแทนที่ถูกยกเทียบระดับชั้นแทน 3 สารเคมีพิษ ที่ถูกกล่าวถึงว่าจะใช้ทดแทนวันที่ 1 มิถุนายน 2563 นั้น จะมีจริงหรือไม่ ถัดไม่กี่วันกลับถูก “ไทยแพน” เปิดโปงข้อมูลลับว่าที่ขายในตลาดทุกยี่ห้อไร้ทะเบียนล้วนแล้วแต่เป็นของเถื่อนทั้งสิ้นกรมวิชาการเกษตรมีอำนาจในการจับกุมได้ทันที ทำไมไม่ทำ
ความจริงกับปรากฏอีกด้านหนึ่งวงการค้าสารเคมีกลับส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนชีวภัณฑ์ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือ วอ.2 จัดอยู่ในกลุ่มชีวภัณฑ์ มี 2 ยี่ห้อ ที่กรมวิชาการเกษตรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ แต่เมื่อย้อนกลับไปข่าวก่อนหน้านี้แม้แต่รัฐมนตรีว่าการฯ และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกรมวิชาการเกษตรเอง กลับยืนยันกระต่ายขาเดียวว่ายัง "ไม่มี"
นายสุเทพ คงมาก กรรมการในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และอดีตนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง กระบวนการทำนาอินทรีย์จะต้องเป็นกลุ่ม องค์กรต้องเข้มแข็งตรวจสอบกันเอง โดยการซื้อชีวภัณฑ์ ที่เป็นสารสกัดต่างๆ มาใช้นาข้าวอินทรีย์ ต้องซื้อจากแหล่งที่ตรวจแล้วว่าไม่ได้ผสมสารเคมี ในอินทรีย์ล้านไร่จะหลีกเลี่ยงสารชีวภัณฑ์ที่บริษัทนำไปขาย ยกเว้นอินทรีย์นอกโครงการ ความจริงตรวจสอบกันยากในเรื่องของชีวภัณฑ์ สมัยตอนเป็นนายกสมาคมในเวลาจัดงานอะไรจะไม่อนุญาตให้กลุ่มบริษัทมาออกบูธแสดงสินค้าหรือจำหน่ายเลยเพราะไม่ทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ดีหรือไม่ดี
“ชีวภัณฑ์” ไม่มีทะเบียน หรือเถื่อน ความจริงกรมวิชาการเกษตรจะต้องจับกุมเลย ไม่ว่าในเฟสบุคส์ ตลาด ร้านค้า มีหน้าที่ในการตรวจสอบสาร สามารถตรวจสอบได้หมด ผมก็ไม่ทราบว่าทำไมไม่ตรวจสอบ บางครั้งมีการโฆษณาเกินลวงหลอกเกษตรกรให้หลงเชื่อ ดังนั้นจะต้องทำให้ถูกต้อง แล้วถ้าสารชีวภัณฑ์จะสกัดอะไรมาก็ทั้งพืชและสัตว์ ความจริงจะต้องมีทะเบียน"
“อีกด้านจะต้องประกาศให้เกษตรกรทราบมียี่ห้อไหนบ้างที่ขายในท้องตลาด แล้วรับรองออกมาว่าใช้ได้เพราะเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ไม่ใช่ให้เกษตรกรไปทราบเอง แล้วโดนหลอก เพราะเกษตรกรไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องนี้ เพียงแต่ว่าไปซื้อมาใช้เพราะคิดว่าจะเป็นไปตามโฆษณา หรือสรรพคุณที่ติดไว้ข้างฉลากเท่านั้น ดังนั้นเร่งกระตุ้นการทำงานของกรมวิชาการเกษตรประกาศรับรองยี่ห้อออกมาก่อนฤดูฝนที่ชาวนาทั้งประเทศจะปลูกข้าว”
สอดคล้องกับ พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ผมสงสารชาวบ้านและเกษตรกร จะสั่งตรวจสอบทุกยี่ห้อในตลาดทั้งหมด กระบวนการเมื่อได้สินค้ามาทั้งหมดก็ต้องส่งให้กรมวิชาการเกษตรตรวจ เมื่อผลตรวจออกมาก็ต้องส่งให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินคดี ก็ยอมรับว่าแปลกทั้งที่ความจริงแล้วกรมวิชาการเกษตรสามารถทำได้ทันทีจะจับกุมได้ทันที เพราะมีกฎหมายอยู่ในมืออยู่แล้ว ยิ่งไม่มีทะเบียนต้องห้ามขายเลย
“วันนี้ผมจะสั่งเจ้าหน้าที่ให้ไปตรวจสอบทุกยี่ห้อชีวภัณฑ์ที่ขายในท้องตลาด มองว่าคล้ายกับกรณีที่ สคบ.กำลังตรวจสอบอยู่ในขณะนี้มีสารอยู่ตัวหนึ่งที่ช่วยทำให้เติบโตเร็ว แล้วบอกว่าไม่ใช่ปุ๋ย กรมวิชาการเกษตรจึงไม่ได้สนใจ แต่ผมกำลังดำเนินการอยู่ เพราะเข้าข่ายหลอกเกษตรกร”
พล.ต.ต.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในความรู้สึกของผมยิ่งแปลก ยิ่งบอกว่าไม่ใช่ปุ๋ย ยิ่งต้องตรวจสอบมากกว่าหรือไม่ว่าเป็นอะไรกันแน่ ไม่ใช่มองข้ามหรือไม่ก็ปัดออกไป เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยคุยกับกรมกรมวิชาการเกษตรแล้ว เช่นเดียวกับ "ชีวภัณฑ์" ที่บอกว่าไม่ใช่ แต่กลับมีขายตามท้องตลาดเกลื่อนไปหมด ยิ่งต้องตรวจหนักเลย ผมเป็นห่วงเกษตรกรมาก ผมจะทำให้เพราะไม่อยากให้เกษตรกรโดนหลอกลวงเสียเงินไปโดยใช่เหตุ
สอดคล้องกับ ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ในส่วนเกษตรอินทรีย์นั้น ถ้าไม่มีทะเบียน ก็ห้ามใช้อยู่แล้ว อีกด้านต้องส่งให้กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบดูว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้ปลอดภัยหรือไม่
ขณะที่นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีรมวิชาการเกษตร ชี้แจงกรณีมีข่าวว่ามีสารชีวภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร จากบริษัทไทย เนเจอรัล โปรดักส์ ซัพพลาย จำกัด จำนวน 2 ยี่ห้อ คือ ยี่ห้อ “กรีนเบิร์น” ทะเบียนเลขที่ 2543/2557 ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 และยี่ห้อ “คิวสตาร์” ทะเบียนเลขที่ 2498/2557 จะหมดอายุในวันที่ 27 ตุลาคม 2563 นั้น ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว "ไม่ใช่สารชีวภัณฑ์" แต่เป็น "ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากพืช" ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 การผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง จะต้องขอขึ้นทะเบียนแจ้งการดำเนินการและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดที่นำมาขอขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดจากพืชแต่เมื่อนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายกลับตรวจพบมีส่วนผสมของสารพาราควอต ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ส่งเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรของกรมวิชาการเกษตรตรวจติดตามสารทุกชนิดที่นำมาขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลิตภัณฑ์ยี่ห้อกรีนเบิร์นและคิวสตาร์ กรมวิชาการเกษตรได้รับการแจ้งเบาะแสเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2562 จึงได้เข้าไปตรวจสอบโรงงานผลิตและเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการพบมีส่วนผสมของพาราควอต จึงได้สั่งอายัดของกลางไว้ทั้งหมดและได้สั่งการให้ผู้ผลิตเรียกคืนสินค้าจากตัวแทนจำหน่ายกลับคืนมาทั้งหมด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดดังกล่าว
ทั้งนี้ "คดีความยังไม่สิ้นสุด" ไม่สามารถที่จะเพิกถอนทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย 2535 มาตรา 40 วัตถุอันตรายใดที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วต่อมาปรากฏว่าไม่มีประโยชน์ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้หรือหากนำมาใช้แล้วอาจเกิดอันตรายต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีวิธีปกติตามควรที่จะป้องกันได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตรายนั้นได้
“เมื่อมีการเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตรายใดแล้วสิทธิ์ในการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายนั้นเป็นอันระงับไป กรมวิชาการเกษตรขอยืนยันอีกครั้งว่าปัจจุบันยังไม่มีสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรมีเพียงสารชีวภัณฑ์กำจัดโรคพืชและศัตรูพืชที่ผ่านการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องแล้ว 73 ทะเบียนเท่านั้น” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
1.ล้างบาง! "ร้านขายสารเคมีเถื่อน" ยึดของกลางเพียบ https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/398013
2. สารวัตรเกษตรบุกทะลายแหล่งผลิตขายสารชีวภัณฑ์ปลอม https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/414700