วันที่ 23 มีนาคม 2563 นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” มติของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการปุ๋ยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยมีนายนที ขลิบทอง เป็นประธานอนุกรรมการ ได้มีมติให้จ่ายเงินเข้าบัญชีเจ้าของสวนยางไปจัดหาซื้อปุ๋ยเองเพื่อให้ทันต้นฤดูฝนนั้นเห็นด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีปุ๋ยบางสวนตกค้างและไม่สามารถจัดหาได้ทันเนื่องจากที่ผ่านมามีการฟ้องร้องว่าการประมูลไม่โปร่งใส มีเรื่องทุจริต
“ในช่วงนี้มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนักเหมาะสมที่สุดแล้วที่จะจ่ายเงินตรงให้เกษตรกร ไม่ต้องกลัวว่าจะไปซื้อบิลปลอมหรือไม่ หรือจะนำเงินไปจ่ายค่ากับข้าว หรือจะนำเงินไปซื้อปุ๋ยชนิดอื่นใส่ เป็นเรื่องของชาวสวนยาง จากมติที่ออกมา สยท.จึงได้โทรศัพท์สายตรงเพื่อเป็นการขอบคุณและสนับสนุนแนวความคิดในครั้งนี้”
สอดคล้องกับนายศิวะ ศรีชาย เกษตรกรชาวสวนยางจากจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า เห็นด้วยกับการจ่ายเงินให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยในฤดูต้นฝนนี้ จากวลีเดิมการแจกเงินค่าปุ๋ยให้ชาวสวนยางอาจนำไปสู่การสร้างใบเสร็จรับเงินปลอมขึ้น หากเกษตรกรไม่นำเงินที่ได้ไปซื้อปุ๋ย จะส่งผลให้ต้นยางพาราไม่ได้รับปุ๋ยตามที่กำหนด ยางมีลำต้นเล็ก โตช้า และได้ผลผลิตน้อย ที่จริงเรื่องราวเหล่านี้เราก็พูดคุยกันอยู่เป็นประจำ และติดตามเอาใจใส่กันมาตลอดแต่มันก็ยังเป็นแบบซ้ำๆเดิมๆ "แบบรอยเกวียนทับซ้ำรอยเท้าควาย" เราจะยังเป็นอยู่แบบนี้กันอีกนานแค่ไหน
“หยุดดูถูกเกษตรกรกันเสียทีใครก็รักสวนยางของตัวเองชาวสวนยางมีหน้าที่ดูแลต้นยางให้เติบโตตามหลักวิชาการ เขาจะมีวิธีอย่างไรก็ต้องให้สิทธิเกษตรกรชาวสวนยางจัดการตนเอง หรือการจ่ายตรงไปกระทบกับกลุ่มคนที่อาศัยช่องว่างแอบหากินหาประโยชน์กับการจัดหาปุ๋ยให้ชาวสวนยาง ก็ต้องให้ความชัดเจนไม่ต้องใช้วาทกรรมใส่ร้ายชาวสวน”
แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการปุ๋ยการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมติการจ่ายเงินตรงให้กับเกษตรกรนั้นเป็นการหยุดมหากาพย์ทุจริตปุ๋ยที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน อีกด้านเกษตรกรชาวสวนยางก็โดนกล่าวหาจะนำเงินค่าปุ๋ยเพื่อไปซื้อเหล้าขาว ซึ่งนั่นเป็นวาทกรรมที่ดูถูกเกษตรกรอย่างรุนแรง ในยุคการกระจายอำนาจ เราต้องให้โอกาสประชาชนจัดการตนเองอำนาจรัฐต้องลดลง อำนาจประชาชนต้องเพิ่มขึ้น
“ที่สำคัญคณะอนุฯ มีสูตรต่างๆ ในการใคร่ครวญแต่ละวิธีการอย่างรอบคอบแล้ว ดังนั้นจึงมีมติแนวทางการจัดหาปุ๋ยบำรุงเพื่อจ่ายให้เกษตรกรผู้รับการปลูกแทนปลายฤดูฝนปี 2563 จำนวนกว่า 2.66 หมื่นตัน เพื่อให้ทันกรอบระยะเวลา”
ขณะที่นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานคณะกรรมการด้านยางพารา สภาเกษตรกรแห่งชาติ และอดีตบอร์ด กยท. กล่าวว่า ในส่วนของเกษตรกร สถาบันเกษตร ที่ กยท.ให้เป็นเงินสงเคราะห์ในเรื่องปุ๋ยยางพารา ควรจะจัดการให้เป็นปุ๋ยมากกว่า ผมไม่ได้ดูถูกเกษตรกรที่จะไปซื้อบิลปลอมมาเข้าโครงการ แต่จะมองว่าเกษตรกรจะได้ราคาปุ๋ยที่ถูกกว่า เพราะมีการประมูล มีการแข่งขัน และคุณภาพจะมีการทดสอบเป็นไปตามมาตรฐานเต็มสูตรปุ๋ย
ส่วนในช่วงของเวลาในการส่งมอบยอมรับว่าอาจจะมีผิดพลาดบ้าง แต่สามารถแก้ไขได้ มีบทเรียนของ กยท.ส่วนกลางอยู่แล้ว และถ้าคณะอนุฯ มีการได้ประชุมเร็วก็จะเป็นปัญหาจัดการได้ เช่นเดียวกับเรื่องทุจริตปุ๋ย มีแค่ 1-2 จังหวัดที่เป็นปัญหาเท่านั้นอย่าเหมารวม จะกลายเป็นว่าแก้ปัญหาปลาเน่าแค่ตัวทำให้ชาวสวนยางรายอื่นเสียโอกาสไปด้วย
"ในช่วงที่อยู่ใบอร์ด มติบอร์ดได้เสนอไว้ว่าให้ประมูลแบบรายเขตเพื่อให้ได้ราคาที่ต่ำและมีคุณภาพจะส่งผลให้ผลผลิตและน้ำยางเกษตรกร เพราะปัญหาทุกวันนี้ไทยมีจำนวนต้นยางมาก แต่น้ำยางผลผลิตต่อไร่ยังสู้เพื่อนบ้านไม่ได้"
ด้านแหล่งข่าวจากเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เผยว่า ในวันนี้ (23 มี.ค.63) ทางแกนนำจะเข้าพบนายนที เพื่อให้พลิกมติในที่ประชุมใหม่ให้ประมูลปุ๋ยยางแบบรายเขตนั้น หากมีความคืบหน้าอย่างไรนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" จะติดตามมารายงานเสนอต่อไป