การคลายล็อกพิจารณาควบคู่กับข้อมูลพื้นที่ 3 กลุ่มจังหวัด คือ 1. กลุ่มสีเขียว คุมได้มีความเสี่ยงตํ่า คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อ หรือไม่พบรายใหม่ 14 วันติดต่อกันมา 32 จังหวัด (ข้อมูลถึง 20 เมษายน 2563) 2.กลุ่มสีเหลือง มีการติดเชื้อประปราย แต่รู้ที่มาติดตามและกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงได้ มี 38 จังหวัด และ 3. กลุ่มสีแดง พื้นที่ที่ยังมีปัญหารุนแรง มี 7 จังหวัด ต้องรอให้ควบคุมได้ก่อน
ทั้งนี้ การจะคลายล็อกจังหวัดไหน กิจกรรมใดให้กลับมาดำเนินการได้ และจะต้องมีแนวปฏิบัติอย่างไร เพื่อไม่ให้กลับมาระบาดรอบใหม่ เป็นเรื่องที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) จะพิจารณา โดยต้องใช้ข้อมูลล่าสุดที่เป็นปัจจุบันในวันที่พิจารณา และออกประกาศแนวปฏิบัติต่อไป ขณะที่หลายจังหวัดเตรียมความพร้อมคลายล็อกอย่างแข็งขัน
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เน้นว่าโคราชไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่นับแต่วันที่ 6 เมษายน 2563 โดยเน้นทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันดำเนินงานด้านแผนปฏิบัติการ กรณีระบาดไวรัสโคโรนา 2019 ก่อนเกิด ขณะเกิดเฝ้าติดตามและฟื้นฟูควบคู่กับการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้ประเมินการเปิดปิดหรือผ่อนปรนอย่างไรโดยต้องดูทุกมิติอย่างรอบด้าน
“จังหวัดจะได้เสนอข้อมูลไปให้ส่วนกลางว่าโคราชไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องมานานแล้ว เพื่อจะได้จัดกลุ่มจังหวัด เช่น จังหวัดที่เป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง เป็นต้น และพิจารณาดำเนินการในการเปิดสถานที่ต่างๆ ให้ประชาชนได้กลับมาค้าขายหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติต่อไป” นายวิเชียร กล่าว
อย่างไรก็ดี จังหวัดนครราชสีมาได้เน้นความสำคัญของมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) อย่างน้อย 2 เมตร แม้แต่คนในครอบครัวก็ให้รักกันห่างๆ อย่างห่วงๆ สำหรับองค์กรกุศลหรือภาคเอกชนต่างๆ ที่แจกสิ่งของ ทำให้คนเยอะมารวมกันมาก แออัด ต้องมีการสื่อสารถึงประชาชน ขอให้กำหนดวิธีการแจกให้มีระยะห่างทางสังคมให้มาก เพื่อช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น และป้องกันการระบาดในพื้นที่
“ขณะนี้ได้สั่งการให้นายอำเภอทั้ง 32 อำเภอเข้าไปดูแลเรื่องการแจกสิ่งของในทุกพื้นที่อย่าให้มีปัญหาเหมือนที่ปรากฏในสื่อโซเชียล หากใครได้รับความเดือดร้อนเรื่องเงิน ไม่มีข้าวกิน ขอให้โทร.แจ้ง 1567 ตลอด 24 ชม. จะมีเจ้าหน้าที่ลงไปให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที” นายวิเชียรยํ้า
ด้านสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ จากเดิมที่เคยคับคั่งปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยเพียงวันละ 300 คน มีเที่ยวบินเข้า-ออกวันละ 4 เที่ยวบิน ในเส้นทางดอนเมือง-เชียงใหม่-ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ-เชียงใหม่-สุวรรณภูมิ หลายสายการบินปิดให้บริการรวมถึงร้านค้าในสนามบินบางส่วน
นายอมรรักษ์ ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ยํ้าว่าท่าอากาศยานเชียงใหม่ ก็ยังคงรักษามาตรฐานการให้บริการและมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ เต็มรูปแบบ รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการคัดกรองผู้โดยสารตามที่จังหวัดเชียงใหม่และกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ได้เร่งปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นอกเหนือจากการทำความสะอาดพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสาร และเขตปฏิบัติการเขตการบินที่ดำเนินการทุกวัน โดยเฉพาะจุดที่ผู้โดยสารหรือเจ้าหน้าที่ต้องสัมผัสใช้งาน รวมถึงการล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ขนาดใหญ่ในเขตลานจอดอากาศยาน ที่อาจเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกหรือแมลง ที่ถือเป็นอันตรายต่ออากาศยาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเตรียมความพร้อมในการให้บริการเต็มรูปแบบอีกครั้ง หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เบื้องต้นสายการบินต่างๆ มีแนวโน้มจะเริ่มกลับมาทำการบินอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,569 วันที่ 26 - 29 เมษายน 2563