แผนการฟื้นกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) หรือ THAI เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินงาน และชำระหนี้ระยะสั้นที่จะครบกำหนดชำระให้การบินไทย เบื้องต้นประเมินว่า การบินไทยจะกู้เงินเสริมสภาพคล่องระยะสั้นราว 50,000 ล้านบาท
เมื่อตรวจสอบรายงานงบการเงินของการบินไทย และบริษัทลูก ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 พบว่า การบินไทยมีหนี้สินรวม 244,899.4 ล้านบาท ประกอบด้วยหนี้สินหมุนเวียน 84,367 ล้านบาท และหนี้สินไม่หมุนเวียนรวม 160,532.3 ล้านบาท
สำหรับหนี้สินหมุนเวียนของการบินไทย 84,367 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.เจ้าหนี้การค้า 4,510.3 ล้านบาท 2.ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย 16,350 ล้านบาท
3.หนี้สินระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายใน1 ปี วงเงินรวม 21,730.7 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน 3,768 ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน 1,624.6 ล้านบาท หนี้สินภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 7,253 ล้านบาท หุ้นกู้ 9,085 ล้านบาท
4.เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน 3,500 ล้านบาท และ 5. ภาษีเงินได้ค้างจ่าย 1.13 ล้านบาท
6.หนี้สินหมุนเวียนอื่นได้แก่เงินปันผลค้างจ่าย 57 ล้านบาท รายรับด้านขนส่งที่ยังไม่ถือเป็นรายได้ 29.6 ล้านบาท และอื่นๆ 8,528.5 ล้านบาท
ส่วนหนี้สินไม่หมุนเวียน ประกอบด้วย 1.หนี้สินระยะยาว 122,121.3 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน 5,105.2 ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน 12,790 ล้านบาท หนี้สินภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 39,202.9 ล้านบาท และหุ้นกู้ 65,023 ล้านบาท
2.หนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี 1,856 ล้านบาท 3.เงินกองทุนบำเหน็จพนักงาน 3,673.7 ล้านบาท 4.ประมาณการหนี้สินสำหรับผลประโยชน์พนักงาน 16,779.8 ล้านบาท
5.ประมาณการหนี้สินระยะยาว 15,965.5 ล้านบาท และ 6. หนี้สินไม่หมุนเวียนอื่น 134.8 ล้านบาท
ที่มา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลิงค์ งบแสดงฐานะการเงินการบินไทย
เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย โดยยืนหลักการยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติ และมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดิม
ทั้งนี้ คนร.มอบหมายให้ที่ปรึกษาทางการเงินไปทำแผนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อเสนอคณะกรรมการการบินไทย โดยการกู้เงินเพื่อการฟื้นฟูกิจการนั้นทางกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงิน โดยกำหนดเป็นเพดานวงเงินกู้ไว้ แต่จะกู้จริงเท่าใดขึ้นกับความจำเป็นและผลการดำเนินงานในการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ซึ่งต้องทำตามเงื่อนไขและแผนงานที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อเดือนตุลาคม 2562 การบินไทยได้จัดทำแผนการกู้เงินประจำปี 2563 ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะพิจารณาจำนวน 50,800 ล้านบาท ต่อมาสบน.ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน พิจารณา
แม้ว่าข้อเสนอของการบินไทยจะได้รับการอนุมัติ แต่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ได้พิจารณาการกู้เงินของการบินไทยภายใต้แผนฯ ประจําปีงบประมาณ 2563 แล้ว มีความเห็นว่า แม้ว่าการบินไทยยังมีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR) ไม่ตํ่ากว่าเกณฑ์ขั้นตํ่า 1 เท่า
แต่พบว่าการบินไทยมีการก่อหนี้ใหม่ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดําเนินกิจการทั่วไปเป็นจํานวนมาก โดยขอบรรจุวงเงินกู้ในแผนฯ ประจําปีงบประมาณ 2563 วงเงินรวม 50,800 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดําเนินกิจการทั่วไป วงเงิน 32,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องวงเงิน 24,800 ล้านบาท
แสดงให้เห็นว่าการบินไทยประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องและมีเงินสดไม่เพียงพอในการดําเนินงาน อีกทั้งยังมีผลประกอบการในครึ่งแรกของปี 2562 ขาดทุน 6,538.37 ล้านบาท ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ กระทรวงคมนาคม ในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการบินไทยไปพิจารณาดําเนินการตามความเหมาะสมต่อไป