ถอดบทเรียน  ‘เจ้าสัวสหพัฒน์’ สู้โควิด-19

26 พ.ค. 2563 | 01:00 น.

 เจ้าสัวสหพัฒน์” เปิดบทเรียนวิกฤติธุรกิจ จากพิษโควิด-19 แนะผู้ประกอบการสร้างโอกาส ลด-เพิ่มองค์กร เตรียมพร้อมแข่งขันบนเวทีโลก หลังทุกประเทศ Set Zero

บนเส้นทางสายธุรกิจของ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนาในวัย 83 ปี ย่อมต้องฝ่าฟันวิกฤติและมรสุมหลากหลายรูปแบบนับไม่ถ้วน ต้องเผชิญกับสถานการณ์ทั้งติดลบและเติบโต การประชันหน้ากับไวรัสร้ายโควิด-19” ที่กำลังลุกลามระบาดไปทั่วโลก ถือเป็นบททดสอบสุดหิน ที่หนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งถึง 10 เท่า ภารกิจของแม่ทัพใหญ่ เครือสหพัฒน์วันนี้ คือ การขับเคลื่อนนำสินค้าทั้ง อุปโภคบริโภค แฟชั่น ฯลฯ ฝ่าพายุลูกนี้ไปให้ได้

 

ไตรมาส 1 กำไรลด 20%

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ บอกว่า นโยบายการดำเนินงานของบริษัทนับจากนี้ยังคงเดินหน้าภายใต้วิสัยทัศน์คนดี สินค้าดี สังคมดีซึ่งแน่นอนว่าการระบาดของโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และภาพรวมของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาธุรกิจในเครือ อย่างกลุ่มธุรกิจอาหารและของใช้ประจำบ้านมีการเติบโตที่ดี บริษัทจึงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มธุรกิจแฟชั่น กระเป๋า รองเท้า ได้รับผลกระทบจากการปิดห้างและศูนย์การค้า จากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ยอดขายทั้งสหกรุ๊ปลดลง 10-20% ขณะที่กำไรลดลง 20%

ถอดบทเรียน  ‘เจ้าสัวสหพัฒน์’  สู้โควิด-19

 

ถามว่าวิกฤติโควิดเปรียบเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งแล้วโควิด-19 กระทบเยอะกว่ามากหรือหนักกว่าวิกกฤติต้มยำกุ้งกว่า 10 เท่า เนื่องจากวิกฤติต้มยำกุ้งกระทบแค่เพียงบริษัทผู้ประกอบการแต่ไม่กระทบต่อประชาชนทั่วไป มีที่มาจากยุโรป ขณะที่วิกฤติโควิด-19 กระทบไปทุกกลุ่มทั้งระบบและลุกลามไปทั่วโลก ตั้งแต่บริษัท ผู้ประกอบการ ไปจนถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งถ้าไม่ควบคุมให้ดีแน่นอนว่าวิกฤติดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจพังได้

 

ดาวน์ไซซ์กลุ่มแฟชั่น

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจนับจากนี้จะไม่โฟกัสเรื่องการเติบโต (Growth) หรือการขายมาเป็นตัวตั้งของการอยู่รอด หากแต่ควรคำนึงถึงความมั่นคงทางธุรกิจในระยะยาว โดยบริษัทมีความคล่องตัว พร้อมปรับตัวในการดำเนินธุรกิจมากกว่า รู้ว่าช่วงไหนควรจะลดขนาดธุรกิจลง และช่วงไหนควรจะลงทุน ไม่ควรวฝืนธรรมชาติของตลาด โดยในส่วนของบริษัทเอง ปรับทัพ 2 ส่วนรับโควิด ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจที่เดินหน้าลงทุนต่อ ในกลุ่มอาหารและของใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ ผงซักฟอก ฯลฯ ภายใต้บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เพรซิเดนท์เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน)หรือ ฟาร์มเฮาส์ ,บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ มาม่า,บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) 2.กลุ่มธุรกิจที่จะลดขนาด หรือดาวน์ไซซ์ ได้แก่กลุ่มสิ่งทอ (เท็กซ์ไทล์), เสื้อผ้า และรองเท้า เป็นต้น

บริษัทมีธุรกิจที่หลากหลาย ไม่ได้เจาะจงเฉพาะอย่าง ดังนั้นจึงต้องบาลานซ์รายได้จากกลุ่มที่ยังมีการเติบโตและกลุ่มที่ยอดขายลดลง ขณะที่แนวโน้มนักลงทุนหลังจบสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นั้นต้องยอมรับว่า ตอนนี้กลุ่มนักลงทุนเฝ้าจับตาดูประเทศไทยอยู่ เนื่องจากปัจจุบันจีนพี่ใหญ่ของเอเชียที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีความแข็งแกร่งทางธุรกิจเป็นอย่างมาก จึงไม่จำเป็นต้องเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาทำให้กลุ่มนักลงทุนเริ่มเบนเข็มไปยังกลุ่มประเทศอื่นๆ มีศักยภาพและไทยโดยเฉพาะ EEC คืออีกหนึ่งโลเกชันที่นักลงทุนกำลังให้ความสนใจ

 

ส่วนเรื่องของ New Normal ที่บริษัทต้องเร่งปรับตัวนอกจากเรื่องออนไลน์ที่ต้องลงทุนเรื่องบุคลากรและโนว์ฮาวแล้ว ยังมีเรื่องของการปรับขนาดของธุรกิจให้เล็กลงต่างจากในอดีตที่เน้นการเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าการดำเนินธุรกิจในยุคใหม่จำเป็นต้องมองเรื่องความเหมาะสม โอกาสทางธุรกิจและความคล่องตัว ขณะที่เรื่องเทรนด์การตลาดยุคนี้มองว่าเป็นเรื่องเทรนด์การตลาดแบบ IO (Information Operation) มากกว่า

 

Set Zero โอกาสทุกประเทศ

บุณยสิทธิ์กล่าวอีกว่า ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกต้องเริ่มจากศูนย์ทั้งหมด (Set Zero) ซึ่งแน่นอนว่าทุกประเทศมีโอกาสเริ่มต้นทางเศรษฐกิจบนเวทีโลกเท่าเทียมกันหมด ดังนั้น ประเทศไหนจะสามารถมองตรงนี้เป็นโอกาส และสร้างการเติบโตได้มากกว่ากัน ไทยมีศักยภาพไม่แพ้ชาติใดในโลกโดยเฉพาะเรื่องอุตสาหกรรมอาหาร และภาคการเกษตรส่งออกที่ไทยได้เปรียบ ซึ่งการทำธุรกิจยุคนี้ไม่ใช่เรื่องของปลาใหญ่ กินปลาเล็กอย่างเช่นที่ผ่านมา แต่เป็นเรื่องของเร็วกินช้ามากกว่า ทั้งนี้มองว่าธุรกิจมาแรงหลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป คือธุรกิจดีลิเวอรี และแวร์เฮาส์

 

ขณะที่โอกาสทางธุรกิจหลังจบโควิดนั้นมองว่าต่างสถานการณ์ต่างเวลาโอกาสก็ต่างกัน ซึ่งโอกาสของปัจจุบันต้องอาศัยการตัดสินใจที่รวดเร็ว มีการมอนิเตอร์สถานการณ์วันต่อวัน เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่าหลังโควิดจบมองว่าความขัดแย้งของ 2 มหาอำนาจ (จีน-สหรัฐฯ) อาจจะรุนแรงขึ้นและอาจเกิดสงครามครั้งใหม่ขึ้น ทุกคนต้องเฝ้าระวัง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดก็ได้ แต่ต้องมีการเตรียมรับมือ

 

อย่างไรก็ตามในส่วนของบริษัทเองก่อนวิกฤติโควิด-19 ตั้งเป้าโต 5-7% แต่พอวิกฤติเข้ามาก็ต้องโฟกัสเรื่องพยุงบริษัทให้ไปรอดได้ในสภาวะดังกล่าว

 

วิกฤติครั้งนี้ยุโรปและอเมริกา ต้องเผชิญภาวะดังกล่าวมากกว่าเอเชีย จากอดีตที่ยุโรปผู้นำทางวัฒนธรรม อเมริกาผู้นำเศรษฐกิจ หลังจากนี้มองว่าขั้วมหาอำนาจอาจจะเปลี่ยนมือมาฝั่งเอเชีย ขณะที่การทำธุรกิจยุคนี้ต้องยอมรับว่าการจะไปรอดหรือไม่รอดในภาวะวิกฤตินั้นขึ้นอยู่กับสายป่านของธุรกิจ หรือการมีสภาพคล่องทางการเงิน แตกต่างจากอดีตในภาวะวิกฤติต้มยำกุ้งที่สายป่านมาจากการกู้เงินตราจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยในส่วนของบริษัทเองตั้งแต่ผ่านพ้นวิกฤติต้มยำกุ้งมาได้ ไม่มีการใช้เงินกู้เลย

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,577 วันที่ 24 - 27 พฤษภาคม  2563