12 มิถุนายน 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 (ศบค.) แถลงมติ ศบค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน โดยที่ประชุมเห็นชอบในการหลักการในการเปิดประเทศเพื่อท่องเที่ยวอย่างจำกัด ตามที่การท่องเที่ยวเสนอ เป็น “ทราเวลบับเบิล” (Travel Bubble) หลักการ คือ มีบางเมืองดูแลภายในประเทศในการป้องกันการติดเชื้ออย่างดี เช่น จีน กับ สิงคโปร์บางเมือง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์บางเมือง
สิ่งที่เริ่มต้น คือ เลือกเป้าหมายในการควบคุมการระบาดให้ได้คนเดินทางระหว่างกันต้องตรวจเข้มงวดก่อนออกประเทศ ตรวจซ้ำ ซื้อประกันเพื่อลดภาระในการเจ็บปวด แต่ที่สำคัญ คือ ต้องการกักตัวหรือไม่นั้น ต้องมาทลายข้อนี้ออกไป ต้องมั่นใจก่อนมาด้วยความมั่นใจ อาทิ นักธุรกิจ นักท่องเที่ยวในบางเรื่อง เช่น เล่นกอล์ฟ ในสนามกอล์ฟก็มีบริเวณแค่ตรงนั้น เมื่อเสร็จแล้วก็กลับไป รวมทั้งคนในสนามก็สามารถติดตามได้ด้วยระบบแทร็กแอนด์เฟซ
ดังนั้น มีการพูดคุยหลากหลาย อาจจะจัดการในบางพื้นที่ หรือ ซีลแอเรีย ที่ต้องได้รับการรับรองจาก สธ. และกระทรวงท่องเที่ยวก่อน นักธุรกิจ ที่มีการวางแผนการเข้ามา มีระบบติดตาม และกลุ่มที่มารับบริการทางแพทย์ หรือ เมดิคัลทัวร์ลิสต์ ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวและมีความจำเป็นต้องเข้ามา จึงจะเปิดให้เข้ามา อาทิ จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ลาว เมียนมา
ทั้งนี้ ผอ.ศบค.ได้เห็นชอบในหลักการแล้วแต่รายละเอียดต้องมีกรรมการชุดย่อยทำออกมาเพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนทั่วไปต้องเข้าใจและได้รับประโยชน์ด้วย
นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุเพิ่มเติมว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้นำเสนอ Travel Bubble หรือ การเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด โดยเริ่มต้นด้วยการเลือกเป้าหมายประเทศที่มีความสามารถในการควบคุมการระบาดที่ดี มีการตรวจเชื้ออย่างเข้มงวดตั้งแต่ก่อนออกประเทศและตรวจซ้ำเมื่อถึงประเทศเรา ผู้ที่เดินทางต้องซื้อประกันสุขภาพ
เบื้องต้นอาจเป็นนักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเฉพาะเจาะจง เช่น นักท่องเที่ยวที่จะมาเล่นกอล์ฟ เข้าพักในโรงแรมที่อยู่ในสนามกอล์ฟแล้วเดินทางกลับประเทศสามารถติดตามได้ เรียกว่า Track and Press ซึ่งติดตามผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือหรือมีที่อยู่ติดต่อสามารถติดตามได้ทุกคน กลุ่มเป้าหมายคือ
1. กลุ่มนักธุรกิจที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายที่สูง มีการตัดสินใจเดินทางวางแผนเป็นลำดับและมีหนังสือรับรองจากบริษัทสามารถติดตามตัวได้
2. กลุ่มที่มารับบริการการตรวจรักษาทางการแพทย์ หรือ Medical Tourist ที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป มีความจำเป็นในการเดินทางเข้ามา สามารถติดตามจากประวัติการตรวจรักษาและหนังสือรับรองจากโรงพยาบาล
ด้านประเทศกลุ่มเป้าหมาย เช่น จีน ฮ่องกง มาเก๊า เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา ตะวันออกกลางบางประเทศ
ทั้งนี้ ผอ. ศบค. เห็นชอบในหลักการ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการชุดย่อยหารือร่วมกันในการลงรายละเอียดตามมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการ เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนชาวไทยจะต้องได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินการนี้ รวมทั้งประชาชนจะต้องเข้าใจด้วย เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวเดินทางเข้ามาแล้วจะทำให้เกิดรายได้ แต่ก็ต้องมีการควบคุมโรคด้วย ไม่ใช่การนำเชื้อมาติดคนในประเทศ