แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปี 2563 สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) คาดการณ์ผลผลิตมีปริมาณ 14.112 ล้านตัน คาดการณ์การใช้มีปริมาณ 13.532 ล้านตัน ปริมาณยางโลกเกินอยู่ที่ 5.8 แสนตัน และจากการประมาณการเบื้องต้น การใช้ยางของโลกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่าในไตรมาสแรกลดลงร้อยละ 19.53 และ การคาดการณ์ของแต่ละประเทศไตรมาสที่ 2 ลดลงร้อยละ 1.47 โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีสัดส่วนในการใช้ยางสูงคิดเป็นร้อยละ 40.64 ของการใช้ยางโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลต่อโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
โดยในเดือนมกราคม 2563 การใช้ยางลดลงร้อยละ 27.14 และเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ลดลงร้อยละ 73.46 แต่ครึ่งหลังของเดือนมีนาคมภาคการผลิตของอุตสาหกรรมยางจีนเริ่มฟื้นตัว ส่วนประเทศผู้ใช้ยางอื่น ๆ ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่าเป็นผลให้การใช้ยางในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนคาดว่าจะลดลงจากที่คาดการณ์ไว้
จากข้อมูลการส่งออกยางในปี 2562 ประเทศที่มีการส่งออกยางมากที่สุด ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยมีการส่งออกจำนวน 3.979 ล้านตัน 2.902 ล้านตัน และ 1.520 ล้านตัน ตามลำดับ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (2557 – 2562) พบว่า ปริมาณการส่งออกยางโลกมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.65 และประเทศที่มีอัตราการขยายตัวมากที่สุด คือ ประเทศกัมพูชา รองลงมา คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และประเทศไทย โดยมีการขยายตัวร้อยละ 22.31 ร้อยละ 8.02 ร้อยละ 2.7๒ และร้อยละ 2.51 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศมาเลเซียมีการส่งออกลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.73 หากพิจารณาในภาพรวมจะเห็นว่าประเทศไทยมีส่วนแบ่งการตลาดลดลงจากร้อยละ 37.84 ในปี 2557 เหลือร้อยละ 35.86 ในปี 2562สำหรับปี 2563 ภาพรวมการส่งออกยางในไตรมาสที่ 1 ลดลงร้อยละ 5.48 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และคาดว่าไตรมาสที่ 2 การส่งออกยางอาจจะเพิ่มขึ้น
“นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ได้ให้ความเห็นว่า กยท. ควรสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในการโค่นต้นยาง โดยพิจารณาทบทวนมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มากขึ้นจากเดิมในการให้เงินสงเคราะห์โค่นยางไร่ละ 16,000 บาท ที่จะช่วยลดปริมาณยางในประเทศ เพื่อแก้ยางล้นโลกและราคายางจะได้ไม่ตกต่ำ มีเสถียรภาพด้านราคา”
แต่ทางนายประพันธ์ บุญยเกียรติ ประธานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่าปัจจุบันกำลังพิจารณาปรับโครงสร้างการจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางมี 3 รูปแบบได้แก่ การสงเคราะห์ปลูก
แทนด้วยยางพันธุ์ดี สงเคราะห์ปลูกแทนด้วยไม้เศรษฐกิจและไม้ยืนต้นอื่น และสงเคราะห์ปลูกแทนแบบเกษตรผสมผสาน โดยจะมีข้อสรุปภายในเดือน ก.ค.นี้
เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี ประธาน กนย. ได้มีข้อสั่งการมอบหมายให้ กยท. ทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของมาตรการลดพื้นที่ปลูกยาง โดยการปลูกแทน ปลูกแซมยาง ปลูกพืชร่วมยาง หรือประกอบอาชีพเสริมในสวนยางว่าเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการหรือไม่ รวมถึงหามาตรการที่สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วม โดยขอให้คำนึงถึงความคุ้มค่าของเงินงบประมาณ และเกิดประโยชน์กับเกษตรกรชาวสวนยาง