สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ได้เชิญผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ 16 บริษัท ประชุมหารือและติดตามการดำเนินการส่งออกไข่ไก่ ในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน 2563 (ประชุมเมื่อ 5 ส.ค.63) ที่ประชุมมีมติจะเสนอต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ให้พิจารณาขยายระยะเวลาการส่งออกไข่ไก่ออกไปอีก (เดิมสิ้นสุดเดือน พ.ย.63) มี 3 บริษัทที่จะส่งออกนำร่อง ได้แก่ 1. บริษัท อาหารเบทเทอร์ จำกัด (บจก.) 2. บจก.อัครา กรุ๊ป และ 3. บจก.เกษมชัยฟู๊ด เพื่อที่จะขอรับการสนับสนุนค่าบริหารจัดการในการรวบรวมไข่ไก่เพื่อส่งออก คาดจะส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารโครงการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ปี 2563 ในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ มีนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน
นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และกรรมการกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นอกเหนือจากประเด็นมาตรการที่จะชดเชยผู้ประกอบการในเรื่องค่าบริหารจัดการในการรวบรวมไข่ไก่เพื่อส่งออกแล้ว ยังจะมีการประชุมเรื่องความคืบหน้าของการจัดตั้งกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ ผู้แทนองค์กรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บริหารจัดการเมื่อเกิดปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดและทำกิจกรรมรณรงค์เพิ่มการบริโภคไข่ไก่ มีนายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ เป็นประธานกองทุนฯ และมีกรมปศุสัตว์ เป็นที่ปรึกษา
ทั้งนี้จากที่ได้มีการประชุมเบื้องต้น โมเดลรายได้กองทุนจะมาจากการเรียกเก็บเงินจากผู้นำเข้าผู้นำเข้าปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) อัตราตัวละ 100 บาท (กราฟิกประกอบ) ผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ตัวละ 50 บาท และผู้เลี้ยงไก่ไข่ ตัวละ 1 บาท ซึ่งต้องหารือข้อสรุปกันอีกครั้งในวันที่ 18 สิงหาคมนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายชัยพร สีถัน ประธานชมรมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีใครจ่ายเงินเข้ากองทุน แต่เบื้องต้นผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์จะให้เกษตรกร หรือผู้เลี้ยงไก่ไข่จ่ายเงินเข้ากองทุนก่อนนำร่องตัวละ 1 บาท แล้วค่อยมาเก็บเงินกับผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ 16 บริษัท และผู้นำเข้าปู่ย่าพันธุ์อีก 1 บริษัท ตามลำดับ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวควรที่จะไปเก็บเงินจากผู้นำเข้าเข้าพ่อแม่พันธุ์ และปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่เข้ากองทุนก่อน ง่ายกว่าที่จะมาเก็บจากเกษตรกร มองว่าเป็นการถ่วงเวลา ที่สำคัญง่ายมากที่จะควบคุม 16 บริษัท หากไม่จ่ายเงินเข้ากองทุนก็จะถูกตัดโควตา หรือยึดโควตานำเข้าก็จบ
“เกษตรกรพร้อมที่จะจ่ายค่าพ่อแม่พันธุ์หรือพีเอสเข้ากองทุน หากเปิดโควตาให้นำเข้าเช่นเดียวกับ 16 บริษัท ซึ่งหาก 16 บริษัท ยังไม่พร้อม 11 สหกรณ์ ที่จะขอนำเข้าพ่อแม่พันธุ์พร้อมที่จะจ่ายก่อนนำร่อง เพราะการเก็บเงินค่าลูกไก่จากเกษตรกรเข้ากองทุนตัวละ 1 บาทยุ่งยาก แต่ถ้าเก็บจากผู้นำเข้า เข้ามากี่ตัว แล้วตัดจ่ายไปเลย ง่ายกว่า ความจริงจีพีผมว่าควรจะเก็บตัวละ 1,000 บาท ส่วนพีเอสควรที่จะเก็บตัวละ 100 บาท เพราะผู้นำเข้าได้ผลประโยชน์มาก”
นายชัยพร กล่าวอีกว่า ยังมีข้อสงสัยการตั้งโควตานำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ใช้มาตรฐานอะไรเป็นตัวตั้ง วันนี้ทางกลุ่มสหกรณ์และบริษัทอีก 11 ราย จะขอนำเข้าพีเอสเอง จำนวน 4 หมื่นตัว เพื่อที่จะมาดูแลในกลุ่มประมาณ 4 ล้านตัว ซึ่งเราพร้อมที่จะจ่ายให้กับกองทุนตัวละ 100 บาท เท่ากับ 4 ล้านบาท
“ผมนำเข้ามาเลี้ยงเอง 100% ไม่ได้มาธุรกิจแบบบริษัทอื่น (บางรายนำเข้ามาเลี้ยงเองครึ่งหนึ่ง ขายอีกครึ่งหนึ่ง) ในเร็วๆ นี้จะขอเข้าพบนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ (มิสเตอร์ไข่ไก่) เพื่อขอโควตานำเข้าพ่อแม่พันธุ์ เพื่อแก้ปัญหาลูกไก่แพง ตัดปัญหาที่จะซื้อจากบริษัท ที่ส่วนใหญ่ขายลูกไก่พ่วงอาหารสัตว์ ทำให้ต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ณ เดือนสิงหาคม 2563 ลูกไก่ ต้นทุน 16 บาทต่อตัว ปัจจุบันขายตัวละ 26 บาท กำไรตัวละ 10 บาท แต่ถ้ามาเลี้ยงเองจะตัดปัญหาตรงนี้ไป อยากให้รัฐบาล โดยกรมปศุสัตว์ ช่วยเปิดโอกาสให้เกษตรกรด้วย”
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,601 วันที่ 16 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563