ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64 เพื่อช่วยเหลือด้านรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยการชดเชยส่วนต่างให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตามที่ได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการในกรอบวงเงิน 1,912 ล้านบาท โดยหลักเกณฑ์การประกันรายได้ กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ความชื้น 14.5% กิโลกรัม (กก.) ละ 8.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ และไม่ซ้ำแปลง
โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต่อกรมส่งเสริมการเกษตร มีวันเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563-31 พ.ค. 2564 และต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยตนเองและกรรมสิทธิ์เป็นของเกษตรกร มีระยะเวลาการใช้สิทธิในช่วงที่ระบุไว้ในทะเบียนเกษตรกรการคำนวณปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ จะใช้วิธีการเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2561/62-2563/64) ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 713 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ คูณด้วยจำนวนไร่ตามที่เกษตรกรได้ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แหล่งข่าวคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ราคาเกณฑ์อ้างอิงประจำวันที่ 20 พ.ย.2563 เพื่อใช้ในการชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64 (งวดที่1) สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีวันเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 และระบุวันคาดว่าเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 20 พ.ย. 2563 โดยใช้ราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้นไม่เกิน 14.5% ของกรมการค้าภายใน เฉลี่ยจากจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตข้าวโพดสำคัญ 10 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา น่าน ตาก เลย เชียงราย ลพบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก และแพร่ เฉลี่ยย้อนหลัง 30 วัน นำมาคำนวณสำหรับการจ่ายเงินงวดที่1 กิโลกรัมละ 0.54 บาท โดย ธ.ก.ส.ได้มีการคำนวณเงินที่จายในรอบกว่า 700 ล้านบาท ส่วนงวดที่2 จะจ่ายในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 จากกรอบวงเงิน 1,912 ล้านบาท
“ในวันนั้นทางคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการประเมินแล้วว่า งบประมาณที่จะจ่ายนั้นไม่เพียงพอเนื่องจากมีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ในพื้นที่โรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้หันมาปลูกข้าวโพดเพิ่มกันเป็นจำนวน มาก เป็นการตัดวงจรของโรคได้ดี แต่ก็มีปัญหาทำให้คาดการณ์เงินงบประมาณไม่น่าเพียงพอ จะต้องขอใช้งบกลางเพิ่มเติม เพื่อให้โครงการนี้เดินอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุด”
เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร สามารถตรวจสอบสถานะความเป็นเกษตรกรและสมาชิกครัวเรือน ได้ที่ http://farmer.doae.go.th/ หรือ คลิกที่นี่
เมื่อเข้าไปแล้วให้กรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เสร็จแล้วกดค้นหา ระบบก็จะแจ้งว่าท่านได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64 รอบที่ 1 เรียบร้อยแล้วหรือไม่
เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินประกันราคาข้าวโพดได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect
เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด สามารถตรวจสอบสถานะการจ่ายเงินประกันรายได้ข้าวด้วยตัวเอง ที่ chongkho.inbaac.com จากนั้นให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เสร็จแล้วกดค้นหา หากเงินเข้าระบบแล้วจะมีการแจ้งว่าโอนเรียบร้อยแล้ว แต่หากยังไม่เข้าให้รอข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง ธ.ก.ส.จะทำการโอนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 วันทำการ