ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.)พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)ได้นำเสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณาผลการศึกษา ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพื่อเร่งเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ และเพื่อตัดสินใจเชิงนโยบายว่าจะพิจารณาอนุมัติให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP หรือไม่ หลังจากเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบข้อเสนอรายงานของ กมธ. CPTPP แล้ว โดยในส่วนของประเด็นผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช คณะอนุกรรมาธิการฯเห็นว่าไทยยังไม่พร้อมที่จะเข้าเจรจาความตกลง CPTPP หากยังไม่มีการเตรียมพร้อมและทำความเข้าใจให้แก่เกษตรกรในหลายเรื่อง เช่น การยอมรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV, การเพิ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช และขยายพันธุ์เพื่อเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรและเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
CPTPP “ไบเดน” มาแน่ ไทย จะเอาอย่างไร
RCEP เดินหน้าสะเทือนมะกัน บีบ‘ไบเดน’เร่งคานอำนาจจีน
“CPTPP” เปิดคำชี้แจง 6 หน่วยงาน ก.เกษตรฯ
กมธ.ชงหมื่นล้านจัดระเบียบพันธุ์พืช ก่อนร่วม CPTPP
อีกด้านหนึ่งในข้อเท็จจริงของความตกลง CPTPP ซึ่งมีสมาชิก 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ข้อตกลงได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2561 โดยสมาชิกที่ให้สัตยาบันรับรอง CPTPP แล้ว 7 ประเทศได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม ขณะที่ยังมีสมาชิกที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันฯอีก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย บรูไน ชิลี และเปรู ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่า ความตกลง CPTPP ดีจริงหรือ เพราะมีผลบังคับใช้แล้วมาเกือบ 2 ปี แต่ทำไม 4 ประเทศนี้ยังไม่ให้สัตยาบันรับรอง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าแต่ละประเทศยังอยู่ในสถานะและขั้นตอนที่แตกต่างกัน ดังนี้
เปรู : ขณะนี้เปรูมุ่งให้ความสำคัญกับประเด็นการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ดีรัฐสภาไม่มีประเด็นขัดแย้งต่อเนื้อหา CPTPP เนื่องจากทุกกระทรวงได้ให้ความเห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างรอรัฐสภาเห็นชอบ
ขั้นตอนต่อไป : หากรัฐสภาเห็นชอบ จะต้องนำเสนอต่อประธานาธิบดีเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนประกาศเป็นกฎหมายต่อไป
ประเทศสมาชิก CPTPP ลงนามความตกลงเมื่อ 8 มี.ค.2561
ชิลี : CPTPP ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร(สส.)แล้วแต่ยังเหลือขั้นตอนของวุฒิสภา(สว.) ล่าสุดผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการด้านรัฐธรรมนูญของวุฒิสภาแล้วเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562
ขั้นตอนต่อไป : จะต้องเข้าสู่การพิจารณาและลงคะแนนเสียงของวุฒิสภา แต่เกิดการประท้วงภายในประเทศชิลีเมื่อปลายปี 2562 เรื่องสวัสดิการสังคม ความเท่าเทียมทางรายได้ และต่อต้านการดำเนินนโยบายของรัฐ รัฐบาลจึงยังไม่ผลักดันประเด็นนี้ให้วุฒิสภาพิจารณา ทั้งนี้หากสภาสูงให้ความเห็นชอบแล้ว ก็จะประกาศกฎหมายเป็นกฎหมายในราชกิจจาฯต่อไป
บรูไน : เนื่องจากสถานการณ์โควิด จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบัน โดยแผนเดิมบรูไนตั้งเป้าให้สัตยาบัน CPTPP ในช่วงกลางปี 2563
มาเลเซีย : เนื่องจากมาเลเซียมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเมื่อเดือนมีนาคม 2563 และให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 จึงต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลชุดใหม่ในการให้สัตยาบัน
ขั้นตอนต่อไป : มาเลเซียอยู่ระหว่างการดำเนินการทบทวน และศึกษาความตกลงฯให้ถี่ถ้วนก่อนให้สัตยาบัน