เทรนด์ท่องเที่ยวปี 64 ธุรกิจขยับรับวัคซีน มุ่งเป้า ‘ทราเวล บับเบิล’

02 ธ.ค. 2563 | 01:30 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2563 | 02:35 น.

เทรนด์การท่องเที่ยวในปี2564 จะเริ่มเห็นธุรกิขขยับตัวรับการคิดค้นวัคซีน ที่น่าจะเริ่มหวังผลการใช้งานได้ภายในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อการเปิดทราเวล บับเบิล ที่จะเกิดขึ้น

     การคิดค้น วัคซีนโควิด-19 ที่มีความคืบหน้ามากขึ้น ส่งผลให้การท่องเที่ยวในปี64หน้าพอจะเริ่มมีความหวังถึงการฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง แม้สถานการณ์อาจจะยังกลับมาไม่เท่ากับก่อนเกิดโควิด แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างในปีนี้ ส่วนการจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาในระดับใด ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของวัคซีนที่จะเกิดขึ้น  

    การฟื้นตัวที่เกิดขึ้น สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(ไออาต้า) คาดการณ์ล่าสุดว่าในปี64 สายการบินทั่วโลกจะมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 2.8 พันล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี63 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.8 พันล้านคน จากก่อนโควิดในปี62ซึ่งอยู่ที่ 4.5 พันล้านคน

    ในปีหน้าธุรกิจสายการบินและธุรกิจท่องเที่ยวต่างก็ยังคงเผชิญกับการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง คนที่มีสายป่านพอก็ยังอยู่รอดสู้ต่อไป การกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างเดียวไม่พอ เพราะหลายประเทศไม่ได้มีประชากรมากเหมือนคนจีน ที่กระตุ้นให้เดินทางเที่ยวในประเทศก็จะพอพยุงไปได้ หรือเวียดนาม ที่กระทบน้อยสุดในอาเซียน เพราะได้ประโยชน์จากโรงงานต่างๆย้ายฐานการผลิตเข้าไปลงทุน

    ทำให้เกือบจะทุกประเทศในปีหน้าต้องหันมาโฟกัสการรักษาสมดุลระหว่างการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยไม่เพียงไออาต้า จะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ เปลี่ยนจากการดำเนินมาตรการกักตัวนักท่องเที่ยวหรือการห้ามเดินทาง ไปเป็นการตรวจสอบหาเชื้อโควิด-19 ให้มากขึ้นแทน แต่หลายประเทศรวมถึงไทยก็มองถึงเรื่องดังกล่าวเช่นกัน

เทรนด์ท่องเที่ยวปี 64 ธุรกิจขยับรับวัคซีน มุ่งเป้า ‘ทราเวล บับเบิล’

จ่อเปิดทราเวล บับเบิล

    นี่เองจึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เริ่มหารือถึงการผลักดันเรื่องของ “หยุดโควิด ไม่หยุดเศรษฐกิจ” โดยการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัดหรือ ทราเวล บับเบิล ที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างหารือร่วมกันใน 7 แนวทาง

     ได้แก่ 1. นำเสนอเมืองที่เหมาะสม จำนวน 8 เมือง (ปลอดเชื้อมากกว่า 150 วัน) คือ กวางเจา, คุนหมิง, เฉินตู, ฉงชิ่ง, เซี่ยเหมิน, ซีอาน, หนานจิง,หางโจว 2.พิจารณาหลัก “มากี่วัน กักตัวเท่านั้น” 3.ผลักดันลดจำนวนวันกักตัวจาก 14 วันเป็น 7 วัน หรือไม่กักตัวเลย 4.ผลักดันแนวทางการดำเนินการที่ชัดเรื่อง Area Quarantine ในรูปแบบเวลเนส โปรแกรม คือ แพ็กเกจ 7-10 วันขึ้นและกักตัว 14 วันในเมดิคัล สปา, เวลเนส รีสอร์ท หรือสปา รีสอร์ท โปรแกรม Long Term Care สำหรับผู้สูงอายุ แพ็กเกจ 1 เดือน และ Golf Quarantine หรือการกักตัวในสนามกอล์ฟ

      5.หาตลาดที่มีความเป็นไปได้มากกว่าจีน เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เพราะปัจจุบันจีนยังไม่มีนโยบายให้กรุ๊ปทัวร์เดินทางออกนอกประเทศ มาเพียงการเดินทางของกลุ่มเอฟไอที และการเดินทางเพื่อธุรกิจเท่านั้น 6.ผลักดันการกักตัวในสนามกอล์ฟให้เป็นรูปธรรมโดยด่วน และ 7.ออกแคมเปญให้คนไทยยอมรับที่จะอยู่กับโควิด เพื่อลดกระแสต่อต้านในการเปิดรับนักท่องเที่ยว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ไทย”เสียแชมป์แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนจีน
ท่องเที่ยวไทย หากยังฟื้น เป็นรูปตัว K ปีหน้าธุรกิจ 50% ปิดตาย
ท่องเที่ยวปี64 ททท.ดันรายได้ต่างชาติเที่ยวไทย ติดTop5 โลก
ท่องเที่ยวเฮ รัฐปลดล็อกต่างชาติเที่ยวไทย ไฟเขียวกต.ออก "ทัวริสต์ วีซ่า"

 

    การเปิดทราเวล บับเบิล จึงเป็นความหวังเดียวที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องการ เพราะที่ผ่านมาแม้รัฐบาลทยอยอนุมัติวีซ่าเพื่อเปิดรับต่างชาติบางกลุ่ม พบว่าตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.-11พ.ย.63 มีต่างชาติเข้าไทย 1,907 คนเท่านั้น ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นวีซ่าลองสเตย์ (วีซ่าO-A) 682 คน ตามมาด้วยวีซ่าพิเศษหรือ STV 379 คน สมาชิกอีลิทการ์ด 357 คน น้อยมากเมื่อเทียบกับก่อนโควิดที่ต่างชาติเที่ยวไทยเดือนร่วม 3 ล้านคน

เทรนด์ท่องเที่ยวปี 64 ธุรกิจขยับรับวัคซีน มุ่งเป้า ‘ทราเวล บับเบิล’

แอร์ไลน์ปรับมาตรการรับวัคซีน

    อย่างไรก็ตามการเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบจำกัด ประกอบกับแม้จะมีวัคซีนเริ่มใช้งานได้ แต่การเข้าถึงวัคซีน ที่ยังไม่ทั่วถึงอย่างแน่นอนในปีหน้า ส่งผลให้แนวโน้มการท่องเที่ยวในปี64 การเดินทางระหว่างประเทศ ก็จะเป็นการเดินทางระยะสั้น กลุ่มคนเดินทางจะไม่ใช่กรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่อย่างอดีต แต่จะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวแบบเอฟไอทีเป็นหลัก หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพมากขึ้น

   อีกทั้งขณะนี้ก็จะเห็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบิน ต่างออกมาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยหน่วยงานหลักอย่างไออาต้า อยู่ระหว่างการแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ภายใต้ชื่อ Travel Pass ซึ่งจะบันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้โดยสารแต่ละคน โดยจะสามารถนำข้อมูลทั้งเอกสารส่วนตัว และเอกสารสุขภาพ มาเก็บไว้ในที่เดียวได้ สำหรับตรวจสอบว่าผู้โดยสารมีผลตรวจเชื้อเป็นอย่างไร ได้รับวัคซีนชนิดใดมาแล้วบ้าง เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

     ปัจจุบันไออาต้า พัฒนาแอปฯ ไปถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว จะเริ่มทดลองใช้งานภายในสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะนำมาใช้จริงได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 และสายการบินรายใหญ่ของโลก อาทิ ลุฟท์ฮันซ่า ก็เริ่มทดสอบการตรวจเชื้อโควิดบนเที่ยวบินระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกแล้ว เพื่อเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ นอกจากนี้สายการบินแควนตัส ยังเตรียมเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและเงื่อนไขสำหรับนักเดินทางต่างชาติ โดยขอให้ผู้เดินทางฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ก่อนขึ้นเครื่องบินด้วย

OTA ข้ามชาติรุกพันธมิตรในประเทศ

     ขณะเดียวกันนักเดินทางยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัย และคนยังคงเลือกที่จะเดินทางเที่ยวในประเทศเป็นหลักอยู่ ซึ่งมีทั้งการท่องเที่ยวและวันทำงานเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศหรือ Workcation ส่วนการเดินทางระหว่างประเทศก็จะเป็นในลักษณะทราเวล บับเบิล อีกทั้งจะเริ่มเห็นบทบาทของออนไลน์ ทราเวล เอเจนซี่ หรือ OTA รวมไปถึงธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ข้ามชาติ จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการหรือหน่วยงานรัฐของประเทศต่างๆเพื่อกระตุ้นตลาดเพิ่มมากขึ้น

    ไม่ว่าจะเป็น “อโกด้า” ที่ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดบริการแพลตฟอร์มจองแพ็กเกจโรงแรมสถานที่กักตัวทางเลือก (alternative state quarantine -ASQ) แบบดิจิทัล “Klook” แพลตฟอร์มการจองกิจกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของโลก ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไทย เปิดตัวโครงการ “ภูเก็ต...อย่าเดี๋ยว เที่ยวเลย” นำเสนอแพ็กเกจเที่ยวภูเก็ตสุดคุ้มไว้ทั้งหมด 4 แพ็กเกจ คือ สิมิลัน,สุรินทร์,พีพี,บานาน่าบีช โรแมนซ์สำหรับนักท่องเที่ยวไทยกระตุ้นท่องเที่ยวภูเก็ต

     ส่วน “Airbnb” ก็ออกแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยในสถานการณ์โควิด-19 ให้เจ้าของที่พักและนักเดินทางในการปฏิบัติตามเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักเดินทาง

ทั้งหมดล้วนเป็นแนวโน้มการท่องเที่ยวหลังโควิดที่จะยังคงเป็นทิศทางหลักในปีหน้าที่จะเกิดขึ้น

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,631 วันที่ 29 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563