นายธนากร คุปตจิตต์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือศบค. ได้ออกข้อกำหนดและข้อห้ามตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 16) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 6.00 น. ของวันที่ 4 ม.ค. 2564 โดยมีข้อห้ามการดื่มสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด อาทิ กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ฯลฯ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยังส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องรวมกว่า 1 ล้านคน“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะช่วงที่เป็นโอกาสทำธุรกิจได้ดีที่สุดในหนึ่งปีของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือ ธันวาคม-เมษายนของทุกปี เบื้องต้นหลังเกิดการระบาดระลอกใหม่ในเดือนธันวาคมและมกราคมประเมินว่าจะสร้างความเสียหายทำให้ธุรกิจสูญรายได้ไปกว่า 1 หมื่นล้านบาท หากต่อเนื่องทั้งปีคาดว่าจะหายไปกว่า 30% หรือกว่า 9 หมื่นล้านบาทจากมูลค่าตลาดรวมที่ลดลงเหลือ 3 แสนล้านบาท”
ทั้งนี้มูลค่าตลาดที่ลดลงมาจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งสุราในประเทศ สุรานำเข้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 3.7 แสนล้านบาทในปี 2562 หายไปกว่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่มาจากการเสียภาษี ยังไม่นับรวมตัวเลขที่สูญหายไปจากการจำหน่ายผ่านภัตตาคาร ร้านอาหารและโรงแรม
“การประกาศปิดสถานบันเทิง ภัตตาคาร ร้านอาหารไม่ใช่กระทบเฉพาะผู้ประกอบการเจ้าของกิจการร้านค้า หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ยังส่งผลกระทบถึงพนักงานในร้าน เด็กเสิร์ฟ แม่บ้าน ในระดับรากหญ้า ซึ่งมีมากกว่า 1 ล้านคนและยังไม่นับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย”
มาตรการดังกล่าวถือเป็นแนวทางร่วมในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการภาคเอกชนเองก็พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อลดการแพร่ระบาด ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพยุงตัวเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้ เพราะต้องเลี้ยงปากท้องของตนเอง ครอบครัว รวมถึงพนักงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้รับผลกระทบจากการออกประกาศเรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2563
“ถือว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบทั้ง 2 ด้านห้ามขายในร้านอาหาร และยังห้ามขายในช่องทางออนไลน์ ดังนั้นจึงอยากร้องขอนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ลงนามในประกาศดังกล่าวให้ยกเลิกหรือพักการใช้ประกาศฉบับนี้ไปก่อน ซึ่งสามารถกระทำได้เพราะเคยมีการยกเลิกประกาศในลักษณะเดียวกันมาแล้วในปี 2552 เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเดินหน้าในธุรกิจต่อได้”
นายธนากร กล่าวอีกว่า เมื่อจำหน่ายผ่านร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง ฯลฯ ไม่ได้ ขอช่องทางออนไลน์เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้สั่งซื้อ เพราะเขาเองก็ไม่อยากเดินทาง และยังสอดคล้องกับมาตรการของภาครัฐที่ให้เว้นระยะห่าง อยู่กับบ้าน ลดการออกนอกบ้านอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้สมาคมได้ผลักดันให้รัฐทบทวนการออกประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์มาต่อเนื่อง เพราะมองว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่สุจริตและเปิดเผย และทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้หันไปขายในรูปแบบอื่นที่ไม่เหมาะสมและถูกต้องได้
ขณะที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขายในช่องทางออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจคราฟท์เบียร์ เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพ ไม่มีช่องทางการขายอื่นซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการขายราว 3,000-4,000 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจคราฟท์เบียรส่วนใหญ่เจาะตลาดระดับกลางถึงบน และ 60-70% ขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ส่วนอีก 30-40% เป็นการขายผ่านร้านค้า เช่น ร้านอาหาร ผับ บาร์ ฯลฯ ซึ่งเมื่อทุกช่องทางการขายถูกปิดก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ได้รวมกลุ่มกันและอยู่ระหว่างร่างจดหมายเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาการออกประกาศดังกล่าวและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหากมีการปิดกั้นการขายที่ถูกต้องตามกฏหมายของผู้ประกอบการที่ปฏิบัติอย่างถูกต้อง ซึ่งหากมีการปิดกั้นทุกช่องทางผู้ประกอบการก็จำเป็นจะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และหันไปขายในรูปแบบอื่นเช่น เว็บไซต์เถื่อน ใต้ดิน เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประกาศกทม.ล่าสุดคุมเข้มร้านอาหาร หาบเร่ภัตตาคาร ฝ่าฝืนปิด14วัน
ราชกิจจาฯเผยแพร่ "ข้อกำหนด-ข้อห้าม" ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,642 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2564