วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมรัฐสภาได้โหวตเห็นชอบ ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ( RCEP / อาร์เซ็ป) ที่มีสมาชิก 16 ประเทศ(ยกเว้นอินเดียที่ยังไม่พร้อมเข้าร่วมความตกลง) ด้วยคะแนนเสียง 526 เสียง ถือเป็นความหวังกรอบการค้าเสรีฉบับใหม่ที่จะช่วยพลิกสถานการณ์การส่งออกไทยปี 2564 ให้กลับมาขยายตัวเป็นบวก จากปี 2563 ติดลบ 6% แล้วจากนี้ไทยต้องทำอะไร ยังไงต่อ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเตรียมความพร้อม หลังจากที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบันความตกลง RCEP หน่วยงานของไทยที่ต้องปรับกฎระเบียบภายในเพื่อให้เสร็จก่อนไทยยื่นหนังสือสัตยาบันต่อเลขาธิการอาเซียน ได้แก่
1.กรมศุลกากร 1.1 ต้องไปปรับพิกัดอัตราศุลกากรจาก HS 2012 ให้เป็น HS 2017 และออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรภายใต้ความตกลง RCEP 1.2 กำหนดหลักเกณฑ์และพิธีการศุลกากรให้สอดคล้องกับความตกลง และออกประกาศกรมศุลกากรและคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่เกี่ยวข้อง
2.กรมการค้าต่างประเทศ หารือกับสมาชิก RCEP ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: CO) และปรับระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และแบบพิมพ์หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้สอดคล้องกัน
3.สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ออกประกาศกระทรวงเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีเรื่องเงื่อนไขการนำเข้าสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ (Original Equipment Manufacturing: OEM) ที่จะนำเข้าภายใต้ความตกลง RCEP
นอกจากนี้ ในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีเวลา 3-5 ปี ในการปรับแก้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ลิขสิทธิ์ เพื่อเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) และสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WPPT)
“คาดว่าความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับภายในปี 2564 และเมื่อสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และสมาชิกนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว อีก 60 วันหลังจากนั้น ซึ่งขณะนี้ในเรื่องการให้สัตยาบัน ประเทศสมาชิกต่าง ๆ ยังไม่มีใครยื่นให้สัตยาบัน แต่อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนภายในเพื่อขออนุมัติการให้สัตยาบัน”
อย่างไรก็ดีประโยชน์ของความตกลง RCEP จะช่วยขยายโอกาสและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยจากการที่ 90-92% ของสินค้าส่งออกไทยจะไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าจากตลาด RCEP โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้เปิดตลาดเพิ่มเติมให้กับสินค้าไทยใน RCEP เช่น สินค้าประมง แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด น้ำมะพร้าว น้ำส้ม อาหารแปรรูป ผักผลไม้แปรรูป ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เส้นใย เครื่องแต่งกาย และกระดาษ เป็นต้น อีกทั้งยังเพิ่มทางเลือกในการใช้วัตถุดิบจาก15 ประเทศ RCEP มาผลิตและส่งออกไปตลาด RCEP โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความยุ่งยากในการบริหารจัดการ
RCEP ยังช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างสมาชิก เนื่องจากมีกฎระเบียบมาตรการทางการค้า และพิธีการทางศุลกากรที่สอดคล้องกัน รวมทั้งลดความยุ่งยากและซับซ้อน เช่นการกำหนดเวลาตรวจปล่อยสินค้า ณ ด่านศุลกากร สำหรับสินค้าเร่งด่วนและเน่าเสียง่ายต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าทั่วไป ภายใน 48 ชั่วโมง เป็นต้น
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
นอกจากนี้ ยังสร้างโอกาสในการขยายตลาดการค้าบริการและการลงทุนโดยเฉพาะธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง บริการด้านสุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง แอนิเมชั่น ตัดต่อภาพและเสียง และการค้าปลีก เป็นต้น รวมทั้งดึงดูดการลงทุนในสาขาที่ไทยมีความต้องการและเป็นเทคโนโลยีใหม่ อีกทั้งยังกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีกฎหมายเพื่อส่งเสริมการค้าไร้กระดาษ คุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ รวมถึงคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ RCEP ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือในการเข้าถึงข้อมูลกฎระเบียบทางการค้า การมีส่วนร่วมของ SMEs ในห่วงโซ่การผลิตโลกและการค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่องผลประโยชน์ RCEP โอกาสการค้าไทยในตลาดโลก
รัฐสภาเห็นชอบ! จุรินทร์ นำพาณิชย์ ชู ความสำเร็จ RCEP " คาดมีผลบังคับใช้ปีนี้