ภาพของการใช้ “กัญชา” เพื่อการพาณิชย์เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อผู้ประกอบการเอกชนรายใหญ่ประกาศตัวรุกตลาด เตรียมปล่อยสินค้า-บริการออกมา หลังภาครัฐปลดล็อกผลักดันให้ “กัญชา” เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ และเมื่อธุรกิจนี้เริ่มคิกออฟ อุตสาหกรรมกัญชาไทยจะทะยานพุ่งสูงถึง 661 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.1 หมื่นล้านบาทในปี 2567 ตามประมาณการของ The Global Cannabis Report โดย Prohibition Partners ตลาดนี้จึงเป็น “บลูโอเชี่ยน” ของทุกคน
โดยเซ็กเมนต์ของอุตสาหกรรมกัญชาไทย จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กัญชาทางการแพทย์ โดยการนำสารสกัดพืชกัญชา ไปใช้ทางการแพทย์และการวิจัย รวมถึงผลิตภัณฑ์กัญชา เพื่อใช้ทางการแพทย์ เช่น เม็ด สเปรย์พ่นในช่องปาก นํ้ามันหยดใต้ลิ้น แท่งเหน็บทวารหนัก เป็นต้น และ 2 กลุ่มกัญชาเพื่อการสันทนาการ รวมถึงการอุปโภคบริโภคและการต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเชิงเกษตรกรรม
ซีพี-บีเจซี แห่ศึกษา
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวยอมรับว่า วันนี้มีผู้สนใจยื่นขออนุญาตปลูกและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกัญชากว่า 2,000-3,000 รายต่อวัน ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชงที่รัฐบาลผลักดันและส่งเสริมได้แก่ยาแผนไทย เพื่อใช้ในผู้ป่วยโรคต่างๆ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
อย่างไรก็ดี พบว่า อุตสาห กรรมกัญชาในกลุ่มผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค ได้รับความสนใจอย่างมาก เห็นได้จากผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ประกาศตัวร่วมพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์จากกัญชา ไม่ว่าจะเป็น เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ที่มอบหมายให้ซีพีเอฟนำโนฮาวที่มีมาจับมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมกัญชงเพื่อสุขภาพออกวางจำหน่าย ,ขณะที่ “เบอร์ลี่ยุคเกอร์” หรือบีเจซี ก็ยอมรับว่าสนใจและศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์จากกัญชามาต่อเนื่อง 3-4 ปี, คาราบาว กรุ๊ป ศึกษาและพัฒนาเครื่องดื่มจากกัญชงและกัญชา, อาร์เอส วิจัยนำผลิตภัณฑ์จากกัญชง ได้แก่ ช่อดอกนำไปผลิตยา ,สารสกัดจากกัญชงนำไปทำเครื่องดื่ม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพร และมีแผนต่อยอดสู่สกินแคร์และอาหารเสริม เป็นต้น
อาหาร-เครื่องดื่มแรง
ขณะที่ในหมวดอาหาร-เครื่องดื่ม ซึ่งมีความคักคักอย่างมาก หลังจากที่อภัยภูเบศร หนึ่งในผู้ที่ศึกษาวิจัยและพัฒนากัญชา มาต่อเนื่องทั้งในส่วนของตำรับยาแผนไทย พร้อมเปิดตัว 4 เมนูอาหารจากใบกัญชาทั้งรื่นเริงบันเทิงยำ , เล้งแซ่บซดเพลิน , ข้าวกระเพราะสุขใจ และขนมปังคิกคัก ล่าสุดเชนร้านอาหารดัง ต่างพาเหรดเปิดตัวเมนูอาหาร อาทิ เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN กับเมนูไก่ต้มอารมณ์ดี และยำอารมณ์ดี ร้านอโณไทย สบาย สบาย แบรนด์ลูกของ ARNO’S ได้เพิ่มส่วนผสมของใบกัญชาในทุกเมนู เช่นเดียวกับร้านแบล็คแคนยอน ที่นำร่องวางจำหน่ายเครื่องดื่มสมุนไพรที่มีส่วนผสมของใบกัญชา 4 รสชาติ และไอศครีมอีก 3 รสชาติ เป็นการทดลองตลาด
นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้บริหารร้านตำมั่ว, เดอ ตำมั่ว ,ลาวญวนและเขียง ยอมรับว่า มีแผนนำเมนูกัญชาเข้าไปเป็นไฮไลท์หนึ่งในทุกร้าน เพราะกัญชาเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลก และเชื่อว่าเมนูกัญชาจะช่วยเพิ่มปริมาณลูกค้าเข้าร้านอีก 15-20% ดังนั้นจึงมีแผนนำไปพัฒนาและต่อยอดในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น นํ้าปลาร้า ผสมกัญชา ซึ่งจะออกวางจำหน่ายในครึ่งปีหลังนี้
“ปัจุบันปริมาณใบกัญชาไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้สินค้าขาดตลาดในบางสาขา แต่เชื่อว่าภายในระยะเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าปริมาณสินค้าจะสมํ่าเสมอมากยิ่งขึ้น และจะมีสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาดในอนาคต และบริษัทมีแผนพัฒนาสินค้าใหม่ๆออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากเครื่องดื่ม จะมีเมนูอาหารที่นำใบกัญชามาเป็นส่วนประกอบ เช่น ผัดไท ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น” นายประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
บูมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
อีกหนึ่งช่องทางที่นำ “กัญชา” มาต่อยอด คือ ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม ซึ่งภาคเอกชน เริ่มมีผู้สนใจพร้อมลงทุนมากขึ้น โดยนางศิริญา เทพเจริญ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมองเห็นโอกาสในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยมีกัญชา กัญชงเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนหลังสถาน การณ์โควิดคลี่คลาย โดยณุศาศิริ ร่วมกับธนัทเฮิร์บ พาณิชย์
ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์กัญชา เพื่อสร้าง “มายโอโซน” ให้เป็นเมืองกัญชาเพื่อสุขภาพครบวงจร
“เป้าหมายของเราคือการพลิกให้มายโอโซน เป็นศูนย์สุขภาพเวชศาสตร์กัญชาระดับโลกที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวรายได้สูงให้เดินทางมารักษาและฟื้นฟูสุขภาพในประเทศไทยแบบระยะยาว”
นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีจุดขายใหม่เช่น เที่ยวชมฟาร์มกัญชา เยี่ยมชมกระบวนการผลิตและแปรรูป การฝึกทำอาหารที่มีส่วนปรุงด้วยกัญชา รวมทั้งสร้างแพลตฟอร์มด้านสุขภาพ worldmedicalalliance (WMA) ที่สามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้ทั่วโลก เป็นศูนย์รวมในการขายผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อสุขภาพอีกด้วย
ในขณะที่นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า ผู้ประกอบการผลิตสินค้าต่างๆ ที่ต้องการใช้สารสกัดจากกัญชงเป็นส่วนผสมในอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และยา อาจต้องพิจารณาให้ดี เนื่องจากปัจุบันเป็นเพียงการอนุญาตให้บริษัท จำนวน 7 บริษัท เป็นผู้มีคุณสมบัตินำเข้าเมล็ดพันธุ์ แต่ยังไม่มีใครได้รับอนุญาตให้นำเข้า
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,664 วันที่ 25 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2564