บิ๊กธุรกิจชักแถวลุยกัญชง-กัญชา เริ่มก่อนชิงความได้เปรียบ

05 เม.ย. 2564 | 20:30 น.

 

จากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศฉบับที่ 424 ปลดล็อก “กัญชาและกัญชง” ให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ โดยยกเว้นสารสกัดกัญชาและกัญชงและบางส่วนของพืชกัญชงให้ไม่ถูกควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ได้ เช่น อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา และอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

ประกาศดังกล่าวนอกจากจะช่วยสร้างโอกาสในการรายได้ให้กับเกษตรกรในการขอรับอนุญาตปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัย และกัญชงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยต้องทำตามขบวนการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์อีกกลุ่มใหญ่คือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่เวลานี้ได้ตื่นตัวในการเตรียมพร้อมจับมือร่วมกับสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมมือศึกษาวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากทั้งสองพืชกันอย่างคึกคัก

เห็นได้จากผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำของเมืองไทยที่เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์กว่า 20 บริษัทได้ประกาศเปิดตัวพร้อมลุย อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพีจะร่วมมือทางวิชาการและร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชกัญชงกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยคาดอาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชง จะออกสู่ตลาดได้ในปีนี้,กลุ่มไทยเบฟอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชงและกัญชา, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ TU อยู่ระหว่างศึกษาการนำส่วนผสมกัญชงผสมในผลิตภัณฑ์อาหาร

บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี หรือ STA พร้อมลงทุนตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า โดยจะปลูกกัญชง 100-200 ไร่ จนถึงจะลงทุนตั้งโรงสกัดนํ้ามันจากกัญชง (CBD), บมจ.คาราบาวกรุ๊ป หรือ CBG จะผลิตเครื่องดื่มผสมกัญชา, บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG มีแผนปลูกกัญชา 1,400 ไร่เพื่อทางการแพทย์,บมจ.เซ็ปเป้ หรือ SAPPE จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ทั้งในส่วนเครื่องดื่มและไม่ใช่เครื่องดื่มจากกัญชง, บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ PTG จะยื่นขอ อย. เพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชงวางจำหน่ายร้านค้าในเครือ และบมจ.อิชิตัน หรือ ICHI ประกาศจะบุกเครื่องดื่มจากกัญชง เป็นต้น

บิ๊กธุรกิจชักแถวลุยกัญชง-กัญชา เริ่มก่อนชิงความได้เปรียบ

ขณะที่ข้อมูลจากนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ระบุว่า กระแสกัญชง-กัญชามาแรงมากสำหรับสมาชิกของสมาคมที่มีอยู่กว่า 200 ราย ซึ่งประเมินว่าในจำนวนนี้สัดส่วน 20-30% (40-60 ราย) ได้ตัดสินใจและเตรียมศึกษาทดลองผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมหรือแปรรูปจากกัญชงและกัญชา ในเบื้องต้นคงมุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากกัญชงเป็นหลัก จากกัญชงขออนุญาตปลูกได้ง่ายกว่า ทั้งในรูปเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ประชาชนทั่วไป นิติบุคคลสัญชาติไทย รวมถึงหน่วยงานรัฐ-เอกชนก็สามารถขออนุญาตปลูกได้ ขณะที่ทุกส่วนของกัญชง (ยกเว้นช่อดอก) เช่น เมล็ดกัญชง น้ำมัน และสารสกัดจากเมล็ดกัญชง (ที่มีสารออกฤทธิ์ทางประสาท ทำให้ผู้ใช้เกิดอาการเมา เคลิ้ม หรือที่เรียกว่าค่า THC ไม่เกินร้อยละ 1ที่ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด) สามารถนำมาศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ยา สมุนไพร และเครื่องสำอางได้

ส่วนกัญชายังต้องใช้เวลา เพราะยังอนุญาตปลูกเพื่อใช้ทางการแพทย์เท่านั้น และยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง ขณะการขออนุญาตปลูกจะยากกว่ากัญชง เพราะคนที่จะปลูกได้ต้องรวมกันจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ต้องได้รับอนุญาตจากองค์การอาการและยา (อย.) ต้องมีแหล่งปลูกที่ชัดเจน ที่สำคัญต้องมีสัญญาซื้อขายที่ระบุชัดเจนว่าผู้ซื้อเป็นใคร

อย่างไรก็ดีในส่วนของผลิตภัณฑ์จากกัญชงเวลานี้รอเพียง อย.ออกประกาศในเรื่องฉลากสินค้าว่าต้องระบุรายละเอียดอะไรบ้างเช่น มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชงในแต่ละผลิตภัณฑ์ได้ไม่เกินเท่าใด เป็นต้น หากมีประกาศออกมาอย่างชัดเจนเชื่อแน่ว่าผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มแถวหน้าของเมืองไทยคงพร้อมลุยผลิตสินค้าออกมาขายทันที คาดจะเห็นเป็นรูปธรรมในกลางปี หรือครึ่งหลังของปีนี้ ส่วนตลาดคงเริ่มต้นที่ตลาดในประเทศก่อน ก่อนลุยตลาดส่งออกสำหรับประเทศที่อนุญาตให้นำเข้าได้

โดยสรุปภาพรวมธุรกิจกัญชง-กัญชาเวลานี้บริษัทด้านอาหาร เครื่องดื่ม และด้านสุขภาพเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทยได้แข่งเตรียมความพร้อมกันไว้แล้วทั้งสองพืช ซึ่งหมาย ความว่าหากใครออกเส้นสตาร์ทได้ก่อน โอกาสจะไปถึงเส้นชัยคือตลาดทั้งในและต่างประเทศที่มีมูลค่ามหาศาลก็มีสิทธิ์เข้าถึงก่อน หากใครล่าช้าอาจจะไม่มีที่ให้ยืนก็เป็นได้

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 8 ฉบับที่ 3,667 วันที่ 4 - 7 เมษายน พ.ศ. 2564