โควิด-19 ที่ระบาดในสองรอบแรก และกำลังระบาดรอบใหม่ที่ขยายวงมีผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็วมากกว่าทุกรอบในระดับมากกว่า 1,000 คนต่อวันในช่วงสงกรานต์ต่อเนื่องถึงเวลานี้ นอกจากเป็นภาระอันหนักอึ้งของรัฐบาลในการออกมาตรการคุมเข้มเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดโดยเร็วที่สุดแล้ว ภาคธุรกิจเอกชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนภารกิจของภาครัฐให้สำเร็จลุล่วงได้
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ซึ่งมีเครือข่ายหอการค้าจังหวัด และภาคธุรกิจกระจายอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ล่าสุดทางหอการค้าฯได้ประสานกับกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมวางแผนการฉีดวัคซีน โดยใช้เครือข่ายของหอการค้าไทยทั่วประเทศในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ในส่วนของกรุงเทพมหานครที่ภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะได้รับโควตาวัคซีนประมาณ 10 ล้านโดส แต่ความสามารถในการฉีดวัคซีนของกทม.ในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 คนต่อวันเท่านั้น ผ่านโรงพยาบาลในสังกัด กทม. 11 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัดอื่น 31 แห่ง รวม 42 แห่ง หากมีวัคซีนเข้ามา 1.5-2 ล้านโดสต่อเดือนหลังเดือนมิถุนายน การที่จะฉีดให้ได้ครบจำนวนจะต้องมีแผนการฉีดให้ได้ 3-5 หมื่นคนต่อวัน
ดังนั้นเพื่อเพิ่มปริมาณการฉีดต่อวันให้ได้ครบ หอการค้าไทยจะร่วมกับภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ล่าสุดมีผู้ประกอบการในเครือข่ายของหอการค้าไทย ได้เสนอพื้นที่มาแล้ว 49 แห่ง กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ มีทั้งที่เป็นโรงแรม สถานประกอบการ และห้างสรรพสินค้า หลังจากที่หอการค้าไทยสำรวจความพร้อมในเบื้องต้นแล้ว จะได้นำเสนอต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาคัดเลือกพื้นที่นำร่องที่เหมาะสมที่สุดก่อน 7 แห่ง ภายในเดือนเมษายนนี้
ทั้งนี้ หากโมเดลการดำเนินงานในกรุงเทพฯ เกิดผลดีเป็นรูปธรรมแล้ว จะนำไปใช้เป็นต้นแบบสำหรับการฉีดวัคซีนในต่างจังหวัดต่อไป ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมแผนการดำเนินงานไว้ล่วงหน้าแล้วเช่นกัน โดยมีผู้ประกอบการในเครือข่ายหอการค้าฯ แสดงความจำนงในการเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนแล้ว 234 แห่ง กระจายอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ
“วันนี้เรารู้แล้วว่าจุดไหนที่เราจะซัพพอตที่เขายังขาดอยู่ ซึ่งทางหอการค้าไทยกับ กทม.เราจะจับมือกันในการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชาว กทม.ที่จะมาฉีด เพราะตอนนี้กระแสมันมาแล้ว ประชาชนอยากจะฉีด จากตอนแรกเขาไม่กล้าฉีด และเรารู้ละว่าสถานที่เราจะต้อง provide อย่างไร เรื่องอำนวยความสะดวกอย่างไร การที่ลงทะเบียนอย่างไร การที่จะออกใบรับรองอย่างไร ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ทางเอกชนเก่ง วันนี้ก็ไล่ฉีดกันเป็นพันคนต่อวัน และเรา(หอการค้า)เห็นแล้วว่าจะไม่ทัน หากต้องฉีดถึง 3-5 หมื่นคนต่อวัน"
-วัคซีนทางเลือกให้เอกชนนำเข้า 10 ล้านโดส
เดิมองค์กรเภสัชกรรมนำเข้ามาได้อยู่แล้ว เอามากระจายให้เอกชนได้ เราซื้อจากเภสัชกรรมได้ อันนี้เป็นของเก่า แต่ที่คุยกันก็คือว่าทางเอกชนก็สามารถจะนำเข้ามาได้ โดยที่ในนี้จะต้องมีตัวแทน และตัวแทนจะต้องไปขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา(อย.) ว่าเอา(วัคซีน)ตัวไหนเข้ามา เสร็จแล้วคุณจะต้องมีหลักประกันว่า ถ้าฉีดแล้วเกิดอันตราย แพ้หรืออะไร ที่นำเข้ามาที่มีไลเซ่นส์จะต้องเป็นคนที่รับผิดชอบ เช่นเป็นตัวแทนของซิโนฟาร์ม ถ้าจะเอาเข้ามาคุณต้องมีตัวแทนของซิโนฟาร์มที่อยู่ที่นี่ ที่ต้องรับผิดชอบในส่วนที่หากเกิดความเสียหาย ก็เหมือนรัฐบาลที่ต้องไปรับผิดชอบที่เอาวัคซีน 2 ยี่ห้อเข้ามา(ซิโนแวค และแอสตราเซเนกา) อย่างนี้ส่วนนี้ก็ให้เป็นลักษณะไฟเขียว ซึ่งยังต้องผ่านอย.
-ถ้าอย่างนี้มีตัวแทนนำเข้ามา กว่าจะผ่านรับรองจาก อย.จะใช้เวลานานแค่ไหน
อย.ผมคิดว่า ถ้าคุณมีอยู่แล้ว ในเมืองนอกที่เขาได้รับรองอยู่แล้วจากองค์การอนามัยโลก(WHO) ก็คิดว่าภายใน 1 สัปดาห์ หรืออย่างช้า 1 เดือนก็น่าจะเอาเข้ามาได้
-การระบาดของโควิดรอบใหม่คาดจะคลี่คลายลงเมื่อไร
ภายใน 2 เดือนน่าจะเอาอยู่ครับ เพราะอย่าง กทม.รอบนี้ระบาดในกลุ่มของ VVIP พวกนี้เขาต้องช่วยตัวเองเร็วที่สุดอยู่แล้ว และมันก็ทำให้คนตื่นตระหนกกันเอง ทุกคนก็หยุดเกี่ยวกับเรื่องกิจกรรมต่าง ๆ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งภายใน 2 เดือนก็คงจะเอาอยู่ และเราคิดว่าถ้าเอาอยู่ทั่วประเทศก็คงจะเสียหายประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท ก็อยู่ที่มาตรการของแต่ละจังหวัดในเรื่องความเข้มงวดมาตรการที่จะป้องกันอย่างไร
แต่ 100,000 ล้านบาทเราไม่ห่วงกระทบเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ(จีดีพี)โดยรวม ถ้า 2 เดือนนี้เอาอยู่ เนื่องจากว่าทำไม เพราะว่ารัฐบาลจะต้องออกมาตรการจ่ายเงิน ถ้ารัฐบาลปั๊มเงินออกมา 5 หมื่นล้าน ประชาชนสมทบอีก 5 หมื่นล้านไปซื้อของ ก็เท่ากับ 100,000 ล้าน เงินก็ออกมาหมุนเวียนทดแทนส่วนที่เสียหายไป
-หมายถึงคนละครึ่งเฟสใหม่?
ใช่ พฤษภาคมคมนี้มาแน่นอน เขาเร่งอยู่
- เพื่อลดผลกระทบโควิดระบาดรอบใหม่ รัฐบาลควรออกมาตรการอะไรมาเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร
ผมว่าตอนนี้ทุกคนตื่นตระหนกกันละว่ามาตรการในการที่จะป้องกันเพื่อที่ควบคุม ทุกจังหวัดจะต้องคุยกับภาคเอกชนด้วย ผู้ว่าฯควรคุยกับภาคเอกชน ขอความเห็นของภาคเอกชนก่อนออกมาตรการ หรือล็อกดาวน์จังหวัดว่าถ้ามาตรการออกมาอย่างนี้แล้ว มันจะกระทบแค่ไหนต่อเศรษฐกิจของจังหวัด คืออาจจะต้องผ่อนปรนบางส่วน
ทั้งนี้ทางกทม.ถือว่าทำได้ดีมากในครั้งนี้ เพราะล็อกดาวน์ยังไม่มี และก็ไปสั่งปิดเฉพาะสถานที่ที่มันระบาดจริง ๆ ที่มันไม่ระบาดท่านผู้ว่า กทม.ไม่ได้สั่งปิด ผมว่าอันนี้ผู้ว่าฯแบบนี้ดี คือถ้าสั่งอะไรต้องคำนึงถึง 2 เรื่อง 1.ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนในกทม. 2.อย่าให้กระทบสู่เศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจในกทม.ใหญ่มาก พยายามให้กระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ 2 เรื่องนี้เอกชนไปช่วยคิดได้เลย หรือไปให้ความเห็นได้ เป็นต้น
-มองรัฐบาลจะต้องใช้เงินฟื้นฟู หรือเยียวยาโควิดเพิ่มเติมหรือไม่ เพาะล่าสุดเงินกู้ 1 ล้านล้าน เหลือเพียง 2.4 แสนล้าน
ช่วงนี้ผมคิดว่า ถ้าปล่อยให้โควิดระบาด วัคซีนออกมาช้าผมว่ามันจะกระทบกี่แสนล้าน คาดเดาไม่ถูก ผมว่าช่วงนี้อย่าไปพูดถึงอะไรทั้งนั้น แต่ 1.วัคซีนจะต้องจัดหาให้มีจำนวนมากที่สุด และก็กระจายให้เร็วที่สุด แล้วก็ให้วัคซีนเข้าถึงประชาชน ไม่ใช่รอประชาชนมารับวัคซีน ก็จะช่วยแก้ไขเศรษฐกิจได้เร็วมากขึ้น
-ตามไทม์ไลน์รัฐต้องจัดหาและต้องฉีดประมาณ 70 ล้านโดสจนถึงสิ้นปีจะช้าไปหรือไม่
มันช้าไป ตอนนี้ทุกภาคส่วนก็ระดมแล้ว อย่างที่บอก ถ้าอย่างพวกเอกชน พวกโรงพยาบาลเอกชนก็สามารถที่จะทำได้เลย อย่างนี้เป็นต้น ผมว่าส่วนนี้จะช่วยได้ ทำให้เกิดความคล่องตัว ไม่ต้องมารอวัคซีน ใครได้ก่อนต้องรีบเอาเข้ามา แล้วก็ฉีดเลย ฉีดให้คนมีกำลังซื้อ ต้องยอมเสียเงินหน่อย คนเขายอมเสียเงินอยู่แล้ว
-ต้องมีการคุมราคาวัคซีนด้วยหรือไม่
คืออะไรที่ไปควบคุม มันก็จะไม่ธรรมชาติ และผมคิดว่าเขาไม่กล้าไปคิดราคาซี้ซั้ว ถ้าคนไม่ยอมไปใช้บริการวัคซีนมันมีอายุไง ถ้าคุณเก็บก็ต้องไปหาตู้เย็นต่าง ๆ มาเก็บ เรื่องนี้ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ถ้าใครคิดแพงคนก็ไปหาเจ้าอื่น และรัฐบาลก็จ่ายให้ฟรีอยู่แล้วสำหรับประชานทั่วไป
“ต้องปลุกกระแสให้คนเชื่อมั่นว่า ฉีดแล้วมีความปลอดภัย ที่มาแล้วปลอดภัย คนก็อยากจะฉีด จำนวนเขาก็สามารถหาเพิ่มขึ้นมาได้ในส่วนของหอการค้าไทยจะสนับสนุนและทำงานร่วมกับ กทม. ถ้าทำงานกันแบบนี้ ความเชื่อมั่นมันมาแน่นอน และก็ช่วยกันมันมีความสร้างสรรค์ขึ้นมาแต่ละส่วน เช่น เดอะมอลล์ เซ็นทรัล แม็คโคร ไอคอนสยาม และอื่น ๆ ที่เป็นสมาชิกเขามีพื้นที่รองรับการฉีด และมีพนักงานให้ความสะดวกพร้อมช่วยความอำนายสะดวก เกณฑ์คนจากพวกผู้ประกอบการ เดี๋ยวเอาน้ำดื่มสิงห์-ช้างมาบริการฟรี อะไรอย่างนี้ ถ้าสามารถจะฉีดทั่วถึงและกทม.เป็นเมืองที่รับแขกได้ โดยเอาจุดต่าง ๆ มาเชื่อมเข้าด้วยกัน และให้เกิดในสิ่งที่ไร้รอยต่อ
-ภูเก็ต 1 ก.ค. เปิดได้แน่
ส่วนที่ภูเก็ตเราก็มีการส่งคนลงไปแล้ว ที่ภูเก็ตที่ว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยววันที่ 1 ก.ค.2564 เปิดได้แน่นอนเลย ถ้าทำงานกันในลักษณะภาคเอกชนกับทางจังหวัด และผมได้คุยกับประธานหอการค้าภูเก็ตเขายืนยัน ตอนแรกเรามีการทำเซอร์เวย์สมาชิกของหอฯมีพวกโรงแรม มีร้านค้าปลีกอะไรต่างๆ ปรากฏว่ามีคนกล้าฉีดวัคซีนเพียงประมาณ 30% ซึ่งถ้า 70% ไม่ฉีดภูเก็ตจะเปิดได้ไง แล้วโดสมันลงไปแล้วก็ไม่มีประโยชน์ แต่หลังจากที่เรามีการประชาสัมพันธ์ ประธานหอฯ และกรมการหอฯ สมาชิกหอการค้าต่าง ๆ มีการรณรงค์ให้ฉีด ประธานหอฯก็ฉีดแล้วอะไรอย่างนี้ มีการสื่อสารต่าง ๆ อะไรออกมา ตอนนี้ฉีดกันชนิดที่ว่าเรามีความมั่นใจทันแน่นอน ทันกับที่จะเปิดวันที่ 1 ก.ค.64 ซึ่งต้องรีบฉีด เพราะเข็มที่ 2 ก็จะใกล้กับวันที่ 1 ก.ค. เพราะต่อคนต้องฉีด 2 เข็ม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เหลือ 3.8 แสนล. รับมือโควิด ดันคนละครึ่งเฟส3 เอกชนจี้ตุนกระสุนเพิ่ม
ติดเชื้อโควิด 16 เม.ย. 64 รายใหม่ 1,582 ราย ในประเทศ 1,577 ตปท. 5 ราย
สมุทรสงคราม สั่งปิดโรงแรมชูชัยบุรี ศรีอัมพวา 14 วัน พนง.ติดโควิด
ธอส. พบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 6 ราย
กทม.ย้ำให้ผู้เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงเข้าระบบคัดกรอง BKK COVID 19