ธุรกิจการบินหัวทิ่ม จะรอดต้องมีสายป่านยาวถึงปี 67

26 พ.ค. 2564 | 18:05 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2564 | 09:08 น.

โควิด-19 ไม่เพียงฉุดให้ธุรกิจการบินของไทยวิกฤติสุดในรอบ10ปี การเข้าสู่ธุรกิจนี้ของผู้ประกอบการรายใหม่สะดุด กว่าจะฟื้นตัวต้องรอถึงปี 67 ขึ้นกับสายป่าน-การเร่งฉีดวัคซีนของรัฐ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงฉุดให้ธุรกิจการบินของไทยวิกฤติสุดในรอบ 10 ปี สายการบินที่เคยสยายปีกอยู่เดิม ยังคงเผชิญกับปากเหว ขณะที่การเข้าสู่ธุรกิจนี้ของผู้ประกอบการรายใหม่ก็ต้องสะดุด ซึ่งกว่าธุรกิจการบินจะกลับมาฟื้นตัวต้องรอถึงปี 67 งานนี้ขึ้นกับสายป่าน และการเร่งฉีดวัคซีนของรัฐ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในการเดินทางทางอากาศอย่างแท้จริง

ผู้โดยสารลดฮวบรอบใน 10  ปี

ในรอบปีที่ผ่านมาจากผลกระทบของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 63 มาถึงระลอกใหม่ที่ปะทุขึ้นเป็นระยะจนถึงขณะนี้ ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งทางอากาศของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขนส่งผู้โดยสาร ทั้งเที่ยวบินระหว่างประเทศและเที่ยวบินในประเทศ ที่วิกฤติสุดในรอบ 10 ปี

โดยการขนส่งทางอากาศของไทย ติดลบเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา จากจำนวนผู้โดยสารในปี 62 รวม 165 ล้านคนต่อปี ลดลงมาเหลือ 58.25 ล้านคนในปี 63 ลดลง 64.7% จากผู้โดยสารเส้นทางบินระหว่างประเทศ 89 ล้านคนลดลงเหลือ 16 ล้านคนและผู้โดยสารเส้นทางบินในประเทศจาก 76 ล้านคนเหลือ 42 ล้านคน

ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกปี 64 มีผู้โดยสารอยู่ที่ 6.66 ล้านคน ลดลง 79.1% จากผู้โดยสาร 25.27 ล้านคนในไตรมาสแรกปี 63 มีเพียงการขนส่งสินค้าเท่านั้นที่กระทบน้อยกว่า และเริ่มเห็นสัญญาณบวก เพราะแม้ช่วงไตรมาสแรกของปี 64 อาจจะยังติดลบอยู่ แต่หากเทียบกับไตรมาส 4 ปี 63 พบว่าการขนส่งสินค้าทางอากาศในภาพรวมเพิ่มขึ้น 13.9% ส่วนใหญ่เป็น การเพิ่มขึ้นจากปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 14.7%

ธุรกิจการบินหัวทิ่ม จะรอดต้องมีสายป่านยาวถึงปี 67

สวนทางกับการขนส่งสินค้าทางอากาศภายในประเทศที่ยังติดลบอยู่ 11.2% การลดลงมาจากการปรับลดเที่ยวบินและเส้นทางบินจากดีมานด์ความต้องการในการเดินทางในประเทศที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้สายการบินต่างๆของไทยได้ทยอยลดจำนวนเที่ยวบินและยกเลิกเที่ยวบินลงมาตั้งแต่เดือนเม.ย. เป็นต้นมา ซึ่งการปรับลดลงจะยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนกว่ารัฐบาลจะควบคุมการแพร่ระบาดในระลอกนี้ได้

โดยในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ สายการบินที่มีการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศมากที่สุด คือ สายการบินเอมิเรตส์ ส่วนสายการบินที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศมากที่สุด คือ การบินไทย และสายการบินของไทยที่ทำการบินภายในประเทศมากสุด คือไทยแอร์เอเชีย

5 รายใหม่ชลอเปิดธุรกิจ

แต่อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์โควิดที่มีความผันผวน ทำให้ธุรกิจการบินของไทยมีความเปราะบางขึ้นไปอีก เพราะต้องเผชิญกับการเดินทางที่หดตัวลงจากโควิด-19 มาร่วม 1 ปีแล้ว การถูกซ้ำเติมด้วยโควิดระลอก 2 และระลอก 3 ทำให้หลายสายการบินไปต่อไม่ไหว และต้องหาแหล่งเงินตุนสภาพคล่อง เพื่อประคองตัว เพราะกว่าธุรกิจการบินจะกลับมาฟื้นตัวต้องรอถึงปี 67หรือมีจำนวนผู้โดยสารกลับมาเท่ากับปี 62

สายการบินที่จะอยู่รอดได้จึงต้องยืนระยะให้ได้ถึงปี 67 ดังนั้นจึงเห็นว่าในปีนี้สายการบินและธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างดิ้นหาแหล่งเงินเข้ามากว่า 8.6 ล้านบาทเพื่อตุนสภาพคล่อง อาทิ การปรับโครงสร้างของไทยแอร์เอเชีย นำบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนบริษัท แอร์เอเชีย เอวิเอชั่นจำกัด และการดึงกลุ่มทุนใหม่มาปล่อยกู้รวมกว่า 6 พันล้านบาท

การหาแหล่งเงินใหม่ของการบินไทย ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ การกู้เงินของบริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือทอท. 2.5 หมื่นล้านบาท การกู้เงินของบางกอกแอร์เวย์ส 4 พันล้านบาท รวมถึงการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของนกแอร์ เป็นต้น ส่วนที่ไปต่อไม่ไหวและหยุดกิจการไปแล้ว ก็มีสายการบินนิวเจนแอร์, สายการบินนกสกู๊ต ที่ปิดฉากธุรกิจไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

ไม่เพียงแต่สายการบินที่เปิดให้บริการอยู่เดิมเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ แต่สำหรับการเข้าสู่ธุรกิจนี้ของผู้ประกอบการรายใหม่ก็ต้องหยุดชะงักลงไปด้วย ทั้งๆที่ในปีที่ผ่านมามีธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการเพิ่มขึ้นจำนวน 5 ราย แต่ก็ยังไม่สามารถประกอบกิจการได้ ไม่ว่าจะเป็น บริษัททีเอสเอสพี แพล็ตฟอร์ม จำกัด และบริษัทวินเซอ ฟลายอิ้ง จำกัดที่ได้รับใบอนุญาติการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบไม่ประจำ

รวมถึงบริษัท ดรอปโซน (ไทยแลนด์ )จำกัด บริษัท เอเซีย เอวิเอชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด ที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตการทำงานทางอากาศ ขณะที่บริษัท อวานติ แอร์ ชาร์เตอร์ จำกัด ที่ได้รับใบอนุญาตฯอยู่ก่อนแล้ว แต่อยู่ระหว่างปรับแก้ไขแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

จี้เร่งฉีดวัคซีนฟื้นการบิน

อย่างไรก็ตามท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้การฉีดวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเดินทางทางอากาศ ซึ่งการดำเนินการฉีดวีคซีนให้ครอบคลุมประชากรในภายในประเทศอย่างน้อย 70% จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นความต้องการการเดินทางทางอากาศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และช่วยฟื้นฟูการเดินทางทางอากาศภายในประเทศให้กลับมาสู่ภาวะปกติ รวมถึงสามารถเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วให้มาเที่ยวไทยได้ตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางไว้

ไทยจะต้องเร่งฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน ซึ่งจากข้อมูลอัตราการฉีดวีคซีน, Our world in data พบว่าไตรมาสแรกของปี 2564 ประชากรทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 1 ล้านโดส หรือคิดเป็น 7.65% โดยทวีปอเมริกาเหนือเป็นทวีปที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดถึง 28.04% รองลงมาคือยุโรป 16.79% อเมริกาใต้ 8.77% เอเชีย 5.49% ออสเตรเลีย 2.63% แอฟริกา 0.83% ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 0.26% เท่านั้น

การฉีดวัคซีน การคุมการแพร่ระบาด และการเปิดประเทศ จึงเป็น 3 ปัจจัยหลักในการชี้ชะตาธุรกิจการบินว่าจะประคองตัวให้อยู่รอด ไปจนกว่าธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวในอีกหลายปีที่เกิดขึ้น

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,682 วันที่ 27 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวเกี่ยวข้อง: