นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโรงสีข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ราคาข้าวในปัจจุบันกำลังเข้าสู่ช่วงปรับฐานเนื่องจากหลายปัจจัย และจากการประเมินเมื่อต้นปีว่าในปีนี้ไทยน่าจะส่งออกข้าวประมาณ 6 ล้านตัน แต่ในขณะนี้ได้เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของปีแล้วปริมาณการส่งออกยังคงมีไม่มาก ซึ่งจากเดิมผู้ส่งออกได้เคยคาดการณ์ไว้ว่า 4 เดือนแรกของปี 2564 น่าจะส่งออกได้ถึง 2 ล้านตันข้าวสาร แต่ล่าสุด 27 พฤษภาคม 2564 นายก สมาคมส่งออกข้าวไทย แจ้งว่า (เดือนมกราคม-เมษายน 2564) มียอดส่งออกเพียง 1.45 ล้านตัน ทั้งนี้จึงคาดและมีความเป็นไปได้ว่าประมาณการส่งออกปี 2564 รวมไม่น่าจะเกิน 6 ล้านตัน หรืออาจน้อยกว่า 5 ล้านตันก็เป็นได้
ทั้งนี้สิ่งที่เกษตรกรควรที่จะต้องเตรียมตัวในช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูก และราคาข้าวมีทิศทางกำลังปรับฐานนี้ ที่น่าจะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร โดยหากอ้างอิงย้อนดูราคาส่งออกข้าวไทยในอดีตปี 2559 ข้าวขาว 5% ของไทยเคยปรับลงไปอยู่ที่ฐานราคาที่ 370 ดอลล่าร์สหรัฐ/ตัน (ที่มา: สมาคมผู้ส่งออก) หรือคิดเป็นราคาข้าวเปลือกที่ความชื้น 15% จะขายได้ราคาอยู่ที่ประมาณ 7,700-8,000 บาท/ตันข้าวเปลือก ราคาเฉลี่ย 8,095 บาท/ตันข้าวเปลือก (ที่มา:กรมการค้าภายใน)
โดยหากเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันด้านราคานั้น ณ ปัจจุบันข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ 496 ดอลล่าร์สหรัฐ/ตัน ส่วนข้าวขาว 5% ของอินเดีย ณ ปัจจุบันราคาอยู่ที่เพียง 398-402 ดอลล่าสหรัฐ/ตัน ซึ่งนับว่าข้าว 5% ของอินเดียถูกกว่าราคาข้าวไทยถึง 100 ดอลล่าร์สหรัฐ/ตัน ก็ยิ่งมีผลทำให้ข้าวไทยขายแข่งได้ยากมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญในช่วงหลังมานี้สถานการณ์ราคาข้าวขาวของเวียดนามที่เคยถูกกว่าไทยมาตลอด แต่หลังจากที่เวียดนามได้เร่งพัฒนาพันธุ์และเพิ่มศักยภาพด้านการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง
“ปัจจุบันข้าวขาว 5% เวียดนามก็สามารถเบียดขึ้นมาอยู่ที่ราคา 493-397 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน (ราคา ณ สิ้นเดือน เมษายน 2564 ที่มา: International Trader) อีกทั้งในบางช่วงยังสามารถขายได้ในราคาที่เทียบเท่าหรือสูงกว่า ข้าวขาว 5% ของไทยอีกด้วย โดยขายได้ราคาถึง 496 ดอลล่าร์สหรัฐ/ตัน (ราคา ณ สิ้นเดือน เมษายน 2564) จึงน่าจับตามองว่าไทยจะเสียส่วนแบ่งนี้ไปในระยะยาวหากยังไม่รีบปรับตัว”
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากกลุ่มของข้าวขาวแล้ว ปัจจุบัน "ราคาข้าวหอมของกัมพูชา" มีราคาสูงถึง 800 ดอลล่าร์สหรัฐ/ตัน ในขณะที่หอมมะลิไทย 781 ดอลล่าร์สหรัฐ/ตัน (ราคา ณ สิ้นเดือน เมษายน 2564 ที่มา: International Trader) ซึ่งถือว่าแพงกว่าไทยมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาก็เร่งพัฒนาหาสายพันธุ์ใหม่ๆที่เป็นที่ยอมรับในตลาดและแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทยได้แล้ว
อย่างไรก็ดีปริมาณการส่งออกข้าวหลักของไทยอยู่ที่ข้าวขาว การปรับตัวลงของไทยทั้งปริมาณและมูลค่าส่งออก หากเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สูงขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ซึ่งสวนทางกับไทย ทั้งหมดนี้กำลังเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง และเป็นสัญญาณบ่งชี้ความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวของตลาดข้าวไทยด้วยหรือไม่ รองจากข้าวขาวที่ส่งออกในปริมาณมากที่สุด ก็จะเป็น ข้าวนึ่ง และข้าวหอมมะลิ มียอดขายลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยอดบริโภคข้าวของโลกกลับเพิ่มในส่วนของข้าวนุ่มจากประเทศคู่แข่งแทน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเราผลิตข้าวส่งออกไม่ตรงกับความต้องการผู้บริโภคหลักที่เปลี่ยนไปแล้วหรือไม่
โดยปัจจัยทั้งหมดมีผลกดดันให้ข้าวไทยในปีนี้เข้าสู่ช่วงปรับฐานราคาลง และเพื่อให้เกษตรกรสามารถอยู่รอดหรือเพิ่มรายได้ขึ้นบ้างในช่วงที่ราคาปรับตัวลงนี้ หลักคือต้องเน้นเพิ่มผลผลิตต่อไร่อย่างจริงจัง ใช้พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ซึ่งขณะนี้ก็ใกล้เข้าสู่ฤดูนาปี เกษตรกรจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องพิจารณาในกาาเลือกพันธ์ุข้าวที่จะใช้ปลูก เลือกใช้พันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ ให้ผลผลิตต่อไร่สู่ มีความต้านทานต่อโรค ตรงกับความต้องการของตลาด เหมาะสมกับพื้นที่ที่เราจะเพาะปลูก ที่สำคัญในพื้นที่ๆเน้นกลุ่มข้าวหอมมะลิยิ่งต้องพิถีพิถัน ในเรื่องของพันธ์ุข้าวปลูก การเตรียมพื้นที่เพื่อป้องกันปัญหาข้าวที่จะมีข้าวเมล็ดสั้น และเมล็ดปน เป็นสิ่งสำคัญมาก
การที่มีผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น โดยเริ่มต้นที่พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงนั้น เป็นการช่วยลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา เน้นตรงกับความต้องการของตลาดที่นิยมพื้นนุ่ม และปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ ดังนั้นการเลือกใช้พันธุ์ข้าวปลูก จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวนามาก
ทั้งนี้เป็นเรื่องดีอย่างยิ่ง ที่ทางสมาคมผู้ส่งออกฯ และหน่วยงานรัฐจะร่วมกันจัดโครงการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ เพื่อการพาณิชย์ 2564 ขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยกลับมามีความสามารถในการแข่งขันได้ใหม่อีก และยังมีการสร้างแรงจูงในให้นักพัฒนาพันธุ์ข้าวอีกด้วย ซึ่งหากไทยเราทำอย่างต่อเนื่อง และเป็นผลสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายได้พันธุ์ที่ดีและตอบโจทย์ตลาด คุณภาพและผลผลิตสูง ก็จะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่จะช่วยคืนชีพตลาดข้าวไทย ยกระดับเพิ่มรายได้เกษตรกร ให้อยู่ได้และลดการพึ่งพาการอุดหนุนช่วยเหลือจากทางรัฐได้อย่างมากอีกด้วย
สมาคมโรงสีข้าวไทย รายงานสถานการณ์ราคารับซื้อข้าวสาร/ข้าวเปลือก ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง