อาเซียนเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ  เดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียน

15 มิ.ย. 2564 | 07:35 น.

“พาณิชย์”เผยผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน เร่งเดินหน้าการทำงาน พร้อมดันแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 แก้ไขการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี ห้ามกีดกันสินค้าจำเป็น เร่งเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจดิจิทัล  

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน หรือ SEOM ครั้งที่ 2/52 ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 8-10 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมาในการเร่งรัดการทำงานตามพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) เช่น การทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ATIGA) เพื่อรองรับรูปแบบการค้าปัจจุบันและลดอุปสรรคมากขึ้น การปรับปรุงตารางข้อผูกพันการเปิดตลาด การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาให้ภาคเอกชนและนักลงทุนเข้าใจง่ายและเป็นรูปแบบเดียวกัน และเตรียมการประชุมหาแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับประเทศนอกภูมิภาค ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐฯ แคนาดา และอินเดีย

อาเซียนเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ   เดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียน

  ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนงานด้านเศรษฐกิจสำคัญประจำปี 2564 (PED) ที่บรูไน ในฐานะประธานอาเซียนผลักดัน ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการฟื้นฟู ด้านการเป็นดิจิทัล และด้านความยั่งยืน จำนวน 13 ประเด็น เช่น การจัดทำเครื่องมือประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTM) ของประเทศสมาชิก (NTM Toolkit) ซึ่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 การหารือจัดทำเอกสารอ้างอิงเพื่อนำไปสู่การประกาศเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ช่วงปลายปี เป็นต้น

อาเซียนเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ   เดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียน

สำหรับไฮไลต์ของการประชุมในครั้งนี้ คือ การหารือประเด็นใหม่ ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมให้เศรษฐกิจอาเซียนฟื้นตัว เช่น 1.การปรับปรุงแนวทางเพื่อส่งเสริมให้สินค้าและบริการของอาเซียนมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก (GVC) มากขึ้น โดยจะตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ 2.การเตรียมความพร้อมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในภูมิภาคตามแนวโน้มของโลก โดยไทยได้เสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่อาเซียนสามารถนำไปปรับใช้ได้ 3.การจัดทำแผนงานระยะสั้นและกลางเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค (แผนงานบันดาร์เสรีเบกาวัน) เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในระยะยาว
   

 นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจตามที่ผู้นำอาเซียนได้มอบหมายไว้ เช่น การจัดตั้งคณะผู้พิจารณาอิสระเพื่อหาแนวทางแก้ไขหรือไกล่เกลี่ยปัญหามาตรการที่มิใช่ภาษี (NTM) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน การพิจารณาขยายบัญชีสินค้าจำเป็น (essential goods) ที่อาเซียนจะไม่จำกัดการส่งออกในช่วงโควิด-19 เพิ่มเติมจาก ยา และเวชภัณฑ์ ไปยังสินค้าเกษตรและอาหารบางรายการ

อาเซียนเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ   เดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียน
ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2563 มีมูลค่า 94,838.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน 55,469.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน 39,368.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีตลาดสำคัญ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งสำนักเลขาธิการอาเซียนประเมินว่า ในปี 2564 เศรษฐกิจในภูมิภาคมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะกลับมาเติบโตในอัตรา 4.4% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% ในปี 2565