ทั้งนี้ภาคการส่งออกไทยถือเป็นเครื่องยนต์หลักเครื่องยนต์เดียวในยามนี้ที่ช่วยพยุงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วประเทศ ขณะที่ภาคบริการ ท่องเที่ยว ภาคการลงทุน การบริโภคเครื่องยนต์ยังสลบไสลจากพิษโควิด รัฐบาลต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการเยียวยาภาคธุรกิจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และกระตุ้นกำลังซื้อทุกช่องทาง
ล่าสุดนับเป็นข่าวดี กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออกของเดือนพฤษภาคมมีมูลค่า 23,058 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 41.5 % ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวมากที่สุดในรอบ 11 ปี (จากเดือนเดียวกันของปีก่อนฐานตัวเลขส่งออกตํ่า ส่งออกได้ 16,285 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากผลกระทบโควิดที่กำลังแพร่ระบาดทำให้การค้าโลกชะงัก) และภาพรวม 5 เดือนแรกปีนี้ส่งออกไทยมีมูลค่า 108,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ดีท่ามกลางข่าวดีส่งออกไทยกำลังโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียนนี้ ก็มีข่าวร้ายและเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องพึงระวังนั่นคือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในคลัสเตอร์โรงงานทั่วประเทศ โดยข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงอุตสาหกรรม(ณ วันที่ 23 มิ.ย.64) มีโรงงานทั่วประเทศที่มีผู้ติดเชื้อตัวเลขสะสมจำนวน 183 แห่ง รวมคนงานที่ติดเชื้อ 10,643 คน ใน 28 จังหวัด ถือเป็นความน่ากังวลของโรงงานผลิตเพื่อการส่งออก เพราะหากมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสายพันธุ์ใหม่ ๆ และการฉีดวัคซีนเป้าหมาย 100 ล้านโดส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทั่วประเทศเป็นไปอย่างล่าช้า อาจส่งผลต่อเครื่องยนต์ส่งออกที่อาจติด ๆ ขัด ๆ จนเครื่องน็อกได้
ทั้งนี้การติดเชื้อโควิดในภาคการผลิตหรือในโรงงานผลิตเพื่อการส่งออก ผลที่จะตามมาคือ การผลิตของแต่ละโรงงานตามที่เป็นข่าวเช่น โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ ไก่ แปรรูปอาหาร ถุงมือยาง สิ่งทอ และอื่น ๆ ที่ใช้แรงงานคนเป็นหลักจะเดินเครื่องได้ไม่เต็มร้อย จากต้องคัดแยกคนที่ติดเชื้อออกจากกลุ่มคนงาน การปิดไลน์ผลิต หรือปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อเคลียร์ให้ปลอดเชื้อ ส่งผลอาจต้องชะลอการรับคำสั่งซื้อ หรือส่งสินค้าให้คู่ค้าได้ไม่ทันตามเวลาที่กำหนด กระทบกับซัพพลายเชนในห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวเนื่อง
ขณะที่คู่ค้าจะขาดความเชื่อมั่นว่าสินค้าที่ส่งไปจะมีการปนเปื้อนเชื้อโควิดหรือไม่ ทำให้มีการตรวจเข้มก่อนนำเข้า หรือเรียกหาใบรับรองมากขึ้น และท้ายที่สุดหากสถานการณ์ยังลุกลามเอาไม่อยู่อาจส่งผลกระทบกับเป้าการส่งออกที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าปีนี้จะโตได้ที่ระดับ 5-10% อาจไปไม่ถึงฝั่งและจะกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่อาจลดลงไปอีก จากที่ในเดือนมิถุนายนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) คาดการณ์ขยายตัวของจีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัวที่ 0.5-2% ขณะที่ล่าสุด (23 มิ.ย.64)คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัวลดลงเหลือ 1.8% จากเดิมคาดขยายตัว 3% จากมีความเสี่ยงจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์
สอดคล้องกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ที่ระบุว่า แม้ว่าสถานการณ์ส่งออกไทยเวลานี้จะไปได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกแต่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์โควิดที่ระบาดเข้าไปยังโรงงานผลิตเพื่อส่งออกในหลายแห่งทั่วประเทศที่อาจกระทบกับการผลิตและการส่งมอบ รวมถึงยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังผันผวน ตู้คอนเทนเนอร์ใส่สินค้าส่งออกยังขาดแคลน ค่าระวางเรือยังสูง ตัวเลขส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ 5-7% หรือไม่ คงต้องรอประเมินสถานการณ์ และตัวเลขอีกครั้งหลังเข้าสู่ไตรมาสที่ 3
เช่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ที่ให้ความเห็นว่า สมุทรสาครถือเป็นเมืองหลวงหรือดงโรงงานของประเทศมีสถานประกอบการโรงงานมากกว่า 6,000 แห่ง ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เวลานี้มีหลายโรงงานในพื้นที่ติดเชื้อโควิด ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เต็มร้อย เมื่อรวมกับสถานประกอบการในจังหวัดอื่น ๆ ที่พบปัญหาเดียวกัน หากไม่เร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และเอาไม่อยู่ อาจมีผลต่อตัวเลขส่งออกไปไม่ถึงเป้าหมายแน่นอน
ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตในจังหวัดได้ขอให้ทางรัฐบาลได้จัดสรรวัคซีน ควบคู่การสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกเพื่อฉีดให้กับคนงานโดยเร่งด่วนก่อนที่จะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจของจังหวัดเพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,691 วันที่ 27 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ส่งออกเฮ เดือนพ.ค.โตพรวด 41.59% สูงสุดรอบเกือบ 11 ปี
ส่งออกเม.ย.พุ่ง 13% โตสูงสุดรอบ 36 เดือน
"ไบเดน"ลุยฉีดวัคซีน-ฉีดเงิน ดันศก.มะกันผงาด-ฉุดส่งออกไทยฟื้น
สกัดโควิดลามทุบส่งออก ประเดิมเทวัคซีน 8 นิคมใหญ่
72 โรงงานอาหารทะเล ผ่านรับรองปลอดโควิด พร้อมลุยส่งออกทั่วโลก