นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่าโครงการพักทรัพย์พักหนี้ มีโรงแรมเข้าร่วมโครงการน้อยกว่าที่ควร เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ ตั้งเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่น ให้ลูกหนี้ชั้นดีเท่านั้น ประเมินจากมูลค่าหนี้ในระดับต่ำก่อน เมื่อนโยบายไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทำให้ยากในการเข้าถึงโครงการ
ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอี ต้องการให้หาแหล่งเงินทุนที่ตั้งเงื่อนไขการกู้ผ่านการค้ำประกันไขว้ระหว่างธุรกิจกันเองมากกว่า เนื่องจากหลายรายไม่มีเงินทุนในมือแล้ว รวมถึงหลักทรัพย์ค้ำกันที่ต้องใช้
ทำให้เข้าถึงเงินกู้ทำได้ยาก จึงรัฐบาลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยเหลือพักเงินต้นและดอกเบี้ย และช่วยเรื่องเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยไม่เกิน 2% เพราะหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือด้านเงินทุน ก็จะเห็นภาพการเปลี่ยนมือของธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้น
ขณะที่รายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล ระบุว่า ครึ่งแรกของปีนี้ มีการลงทุนซื้อขายโรงแรมในเอเชียแปซิฟิกเกิดขึ้น 61 รายการ รวมกว่าหมื่นห้อง มูลค่าการซื้อขายรวม 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (119,510 ล้านบาท) ลดลง 3.7% จากครึ่งแรกของปี 2563
นายไมค์ แบทเชเลอร์ ซีอีโอหน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรมภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า ความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมในเอเชียแปซิฟิกยังคงมีอยู่สูง โดยนักลงทุนมองที่ศักยภาพระยะยาว
การลงทุนซื้อขายโรงแรมยังคงเกิดขึ้นแม้จะมีมาตรการล็อกดาวน์และควบคุมการเดินทาง แสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังคงสนใจในตลาดการซื้อขายโรงแรมอยู่ต่อเนื่องตลอดช่วงวิกฤติการณ์โรคระบาดรายงานจากเจแอลแอล เปิดเผยว่า หากมองเฉพาะที่เอเชีย (ไม่นับรวมออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) การลงทุนซื้อขายโรงแรมช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีมูลค่ารวม 3.53 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 94% ของมูลค่าทั้งหมดของเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการลงทุนซื้อขายเกิดขึ้นมากที่สูงสุด มีมูลค่ารวมกันคิดเป็น 86%ของภูมิภาค
จีนเป็นตลาดโรงแรมที่มีการซื้อขายมูลค่าสูงสุดในภูมิภาคที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แซงหน้าโตเกียว ซึ่งเดิมเป็นตลาดที่มีการลงทุนซื้อขายโรงแรมมูลค่าสูงสุด โดยในครึ่งปีแรก โตเกียวมีการซื้อขายมูลค่ารวม 1.1 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 47%
นายนิฮาท เอร์แคน กรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านการขาย หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า ราคาที่ผู้ซื้อและผู้ขายคาดหวังยังคงมีช่องว่าง แต่ส่วนใหญ่ เจ้าของโรงแรมในภูมิภาคนี้ ยังไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันสูงจนถึงกับต้องยอมขายลดราคาลงมาก
เนื่องจากไม่ได้มีหนี้สูง อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสถาบันการเงิน/เจ้าหนี้ และในบางกรณียังได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการรัฐฯด้วย
ทั้งนี้ยังพบว่านักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อรายหลักในตลาดโรงแรมของออสเตรเลียและญี่ปุ่น ในขณะที่ในจีนและเกาหลี ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนภายในประเทศนอกจากนี้ เมืองที่เป็นตลาดรีสอร์ทกลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกครั้ง
เนื่องจากเป็นที่คาดหมายว่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าตลาดโรงแรมทั่วไป จากการมีความต้องการสะสมของผู้คนที่ไม่สามารถออกเดินทางท่องเที่ยวมาเป็นเวลานาน
ทั้งนี้มัลดิฟส์ ภูเก็ต เกาะสมุย และบาหลี คาดว่าจะเป็นตลาดรีสอร์ทที่มีการซื้อขายโรงแรม-รีสอร์ทเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะมัลดิฟส์จะเป็นตลาดรีสอร์ทที่มีการซื้อขายคึกคักมากที่สุดในปีนี้
“เราคาดว่าการฟื้นตัวของธุรกิจจะมีความชัดเจนขึ้น จะเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้การลงทุนในตลาดโรงแรมทั่วภูมิภาคดำเนินต่อไป ทั้งนี้มีรายการซื้อขายโรงแรมสำคัญๆ หลายรายการที่คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นในออสเตรเลีย ไทย ญี่ปุ่น และจีน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าการลงทุนซื้อขายโดยรวมของภูมิภาคปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
โดยยอดมูลค่าการลงทุนซื้อขายโดยรวมของทั้งปี น่าจะอยู่ที่ 7 พันล้านดอลลาร์ (ราว230,510 ล้านบาท) ที่เราประมาณการณ์ไว้ ณ ช่วงต้นปี ซึ่งจะสูงกว่าปี 2563 ราว 20%” นายเออร์แคนกล่าว
นายจักรกริช จักรพันธุ์ ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม ภาคพื้นเอเชีย เจแอลแอล กล่าวว่า ตลาดโรงแรมของไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ภูเก็ต และสมุย ยังคงได้รับความสนใจสูงจากนักลงทุนในภูมิภาค
จากข้อมูลการลงทุนซื้อขายที่เรารวบรวม ในครึ่งแรกของปีนี้ มีการซื้อขายโรงแรมเกิดขึ้น 2 รายการ และจะมีการซื้อขายอีกอย่างน้อย 5 รายการที่มีกำหนดจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในครึ่งหลังของปีนี้
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,701 วันที่ 1 - 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564