อัพเดต วัคซีนจุฬา Chula-Cov19 ป้องกันเชื้อ"เดลตา" ได้ - ขึ้นทะเบียน เม.ย.65

28 ส.ค. 2564 | 13:35 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2564 | 23:50 น.

อัพเดตความคืบหน้า (28 ส.ค. 64) วัคซีนจุฬา Chula-Cov19 ผลทดสอบเฟสแรก พบว่าอาสาสมัครมีระดับภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ดี และ วัคซีน mRNA ฝีมือคนไทยนี้ สามารถป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ทั้ง แอลฟา เบตา,แกมมาและเดลตา ตั้งเป้าหมายขึ้นทะเบียนได้ในเดือน เมษายน พ.ศ. 2565

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลทดสอบ วัคซีน Chula-Cov19 ในเฟสแรก จากอาสาสมัคร 72 คน (อายุ 18-55 ปี 36 คน และ  อายุ 65-75 ปี 36 คน) ได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ โดยหลังจากฉีด วัคซีนจุฬา mRNA  พบว่า 

 

  • อาสาสมัครมีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 ดี กระตุ้นแอนติบอดีได้สูงมาก รวมถึงสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดที-เซลล์ ซึ่งช่วยกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสที่อยู่ในเซลล์ของผู้ติดเชื้อได้

 

  • วัคซีนสามารถป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม(อู่ฮั่น) และป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ทั้ง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ แอลฟา (อังกฤษ) วัคซีนสามารถป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) และป้องกันเบตา (แอฟริกาใต้) แกมมา (บราซิล) และเดลตา (อินเดีย)

อัพเดต วัคซีนจุฬา Chula-Cov19 ป้องกันเชื้อ\"เดลตา\" ได้ - ขึ้นทะเบียน เม.ย.65

  • จากการติดตามอาการในกลุ่มอาสาสมัครหลังฉีดวัคซีนครบ 7 วัน พบว่ามีอาการข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนใหญ่เกิดอาการขึ้นหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด เพลีย ไข้ หนาวสั่น และหายได้เองภายใน 1-3 วัน

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหาร โครงการพัฒนาวัคซีน ศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุดเด่นของวัคซีน ChulaCov19 สามารถจัดเก็บในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นาน 3 เดือนและจัดเก็บในอุณหภูมิห่อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ ทำให้เก็บรักษาได้ง่ายมากกว่าวัคซีนชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น

 

ผลการทดสอบในหนูทดลองผ่านเกณฑ์ดีมาก สามารถป้องกันอาการป่วยและยับยั้งไม่ให้เชื้อโควิด-19 เข้าสู่กระแสเลือด ลดจำนวนเชื้อไวรัสในจมูกและปอดรวมทั้งมีความปลอดภัยจากการทดสอบความเป็นพิษ

 

สามารถผลิตได้เร็ว เนื่องจากวัคซีนชนิด mRNA ไม่จำเป็นต้องเพาะเลี้ยงเชื้อเพียงทราบสายพันธุ์ของเชื้อก็สามารถผลิตวัคซีนได้ ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่และหากเกิดเชื้อกลายพันธุ์ในอนาคตจะสามารถสังเคราะห์วัคซีนรุ่นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

 

การทดสอบวัคซีน ChulaCov 19 ระยะต่อไปจะเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะที่ 2 ในกลุ่มอาสาสมัคร จำนวน 150-300 คน โดยจะเริ่มก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 และทำการทดสอบเพิ่มเติม เช่น ระยะที่ 2 บี หรือระยะที่ 3 ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมีเป้าหมายขึ้นทะเบียน วัคซีนChulaCov19 ในเดือนเมษายน พ.ศ.2565 หากเป็นไปได้

ที่มา วัคซีนจุฬา ChulaCov19