Zipmex ระดมทุน พร้อมพุ่งทะยานแตะเป้าเทรด 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

03 ก.ย. 2564 | 05:15 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2564 | 13:17 น.

Zipmex ระดมทุน 1.33 พันล้าน พร้อมพุ่งทะยานแตะเป้าเทรด 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ประกาศเป็นมากกว่าสินทรัพย์เก็งกำไร

Zipmex ร่วมมือกับบริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด พร้อมบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ เช่น MindWorks Capital ซึ่งเป็นบริษัทจากฮ่องกง รวมถึง Jump Capital ผู้บริหารเงินร่วมลงทุนในสหรัฐฯ ระดมทุน รวมจำนวน 41 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.33 พันล้านบาท โดยในรอบนี้ได้รวมถึง บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด(มหาชน) และบริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด(มหาชน) ที่เข้าร่วมการลงทุนในรอบนี้ด้วย

ดร. เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Zipmex เปิดเผยว่า การระดมทุนครั้งนี้ จะช่วยสร้างมูลค่าหลักทรัพย์ให้ Zipmex แตะที่ระดับหลักพันล้านเหรียญสหรัฐได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา Zipmex มีมูลค่าการซื้อขายทะลุเป้าทุกเดือน ทำให้มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งถือว่าเติบโตเร็วกว่ากำหนด ทำให้มั่นใจว่าการระดมทุนครั้งนี้ จะสร้างโอกาสให้ Zipmex เป็นยูนิคอร์นได้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้าแน่นอน”

Zipmex ระดมทุน พร้อมพุ่งทะยานแตะเป้าเทรด 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ Zipmex ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น เพิ่มสินทรัพย์ให้สามารถชำระค่าสินค้าได้หลากหลาย โดยเตรียมเปิดตัวบัตรคริปโต การ์ดในประเทศออสเตรเลียและสิงคโปร์ ส่วนในประเทศไทยนั้นยังอยู่ระหว่างหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และกำลังทดลองชำระสินค้าในไทย ด้วยผลิตภัณฑ์ ZipWorld ตั้งเป้าขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่นทั่วโลก ภายใต้แนวคิด “Think Global, Understand Local” ที่เน้นการให้ความรู้ ดูแล สร้างแรงผลักดัน และเสริมสร้างความมั่งคั่งให้ลูกค้า

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ดิจิทัลที่เปรียบเสมือนเป็นอุตสาหกรรมใหม่ มีทั้งโอกาสและอุปสรรคในธุรกิจ มีพัฒนาการใหม่ๆ เป็นโจทย์ท้าทาย Zipmex ว่าจะนำผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบายและมีความปลอดภัยได้อย่างไร

ทั้งนี้ กฎระเบียบหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ใช้กำกับดูแลนั้น ไม่ใช่อุปสรรค แต่มองว่าเป็นเรื่องการสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และ Zipmex ยังเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายเดียวที่ดำเนินการภายใต้กฎหมาย 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย

“การเก็งกำไรย่อมมีอยู่ในการลงทุนสินทรัพย์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินฟอเร็กซ์(Forex) หุ้น ทองคำ ซึ่งมูลค่าตลาดสินทรัพย์ดิจิตอลอยู่ที่ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของทองคำที่มีมูลค่าตลาด 9 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้สินทรัพย์ดิจิตอลจะเป็นตลาดใหม่ มีความผันผวนสูง แต่พบว่าในแต่ละปีที่ผ่านมาจะเห็นปรากฏการณ์บริษัทชั้นนำ เช่น เทสลา ยังยอมรับการชำระค่ารถด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล โดยลูกค้าสามารถนำ ZMT ไปซื้อกับบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถเทสลาในประเทศไทยได้เช่นกัน นอกจากนี้ สถาบันการเงิน กองทุนระดับโลกก็เข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิตอลเพิ่มขึ้น และทุกปีที่ผ่านไปความผันผวนก็ลดน้อยลง และเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนมากขึ้น ไม่ใช่สินทรัพย์ที่มุ่งเก็งกำไรเพียงอย่างเดียว”ดร. เอกลาภ กล่าว

ที่สำคัญ ZMT เป็นสินทรัพย์ดิจิตอลที่เป็นมากกว่าการลงทุนในหุ้น กล่าวคือผู้ลงทุนจะได้รับเงินปันผลและกำไรจากการขายหุ้นที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และมีสิทธิ์ออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น แต่ ZMT นอกจากจะได้ปันผลในเชิงโบนัส รวมทั้งกำไรจากการลงทุนแล้ว จุดเด่นที่ทำให้ ZMT แตกต่างจากการลงทุนในหุ้น คือ สามารถนำมาใช้ในระบบนิเวศของ Zipmex ได้ ใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้าที่มีใน Zip World และในอนาคตจะสามารถนำมาลดค่าธรรมเนียมการซื้อขายได้ ต่างจากถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์

ขณะที่ นางสาวพราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด Zipmex กล่าวว่า ก้าวต่อไป Zipmex จะจับมือกับ Visa นำ ZMT มาชำระค่าสินค้าและบริการที่มีในระบบนิเวศของเรา แทนสกุลเงินทั่วโลกที่ปัจจุบัน Visa รองรับแล้วกว่า 160 สกุลเงิน ผ่านบัตรชำระเงินรูปแบบใหม่ Zipmex Card ทำให้สกุลเงินดิจิตอลได้รับการยอมรับในการใช้จ่ายมากขึ้น จริงๆ แล้ว เป้าหมายคือการทำธุรกิจที่ดีต่อเนื่อง ยูนิคอร์นเป็นแค่ชื่อ แต่สิ่งที่เป็นจริงคือการให้บริการลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์และบริหารให้ลูกค้าพึงพอใจ

ปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิตอลของซิปเม็กซ์ โทเคน (Zipmex Token: ZMT) ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก เห็นได้จากปริมาณการซื้อขายผ่านบริษัทมีอัตราการเติบโตกว่า 256% ทั้งจากเงินออมกระแสรายวัน เงินฝากประจำ 45 วัน และการใช้จ่าย มีการลงทุนโตถึง 450% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันพบว่าจำนวน registered users ของ Zipmex มี เกือบ 1 ล้านคน  โดยประเทศไทยนับเป็น 40% มีปริมาณการเทรดกว่า 140,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นในประเทศไทย 50% Zipmexตั้งเป้าปริมาณการเทรดอยู่ที่ 300,000 ล้านบาทภายในสิ้นปี 2564

ด้านนายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่ากรุงศรีเล็งเห็นศักยภาพ Zipmex ในการเป็นพันธมิตรพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ ทางการเงินที่หลากหลาย และพร้อมให้การสนับสนุนทางการเงินแก่สตาร์ทอัพ ซึ่งเราไม่ได้หวังเพียงการลงทุนระยะสั้น แต่กรุงศรีต้องการต่อยอดสตาร์ทอัพให้เติบโตไปด้วยกัน ให้กรุงศรีเป็นดิจิทัลแบงก์กิ้งในอนาคต และให้ Zipmex ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป