ธุรกิจอีเว้นท์อ่วม รายได้สูญนับหมื่นล้าน

13 ต.ค. 2564 | 04:30 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2564 | 11:34 น.

การจัดงานอีเว้นท์เป็นหนึ่งธุรกิจในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ ที่ไม่เพียงถูกมรสุมโควิดถาโถม แต่ยังต้องเผชิญกับผลกระทบของการถูกล็อกดาวน์ ซึ่ง ณ วันนี้แม้หลายธุรกิจจะได้รับการผ่อนผันให้กลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง แต่การจัดกิจกรรมด้านไมซ์ก็ยังคงติดล็อกอยู่

ดังนั้นกลุ่มงานอีเว้นท์จึงเป็นหนึ่งใน 4 สมาคมในอุตสาหกรรมนี้ จึงได้ร่วมออกมาร้องขอนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาคลายล็อก เพื่อช่วยให้ธุรกิจกลับมามีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง อ่านได้จากการเปิดใจของนายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไร้ท์แมน จำกัดและในฐานะนายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA)

 

ภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ ปี 2563 (ต.ค 62-ก.ย. 63) จากผลกระทบของโควิด สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอันเกิดจากค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมไมซ์ รวมมูลค่ากว่า 165,823 ล้านบาท ติดลบ 70.38%เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 559,840 ล้านบาท ก่อให้เกิดรายได้ประชาชาติ (GDP Contribute) รวมมูลค่า 162,976.01 ล้านบาท

ธุรกิจอีเว้นท์อ่วม รายได้สูญนับหมื่นล้าน

รายได้ที่ลดลงอย่างมากเป็นเพราะตลาดไมซ์จากต่างประเทศหายไปทั้งจากที่ไทยล็อกดาวน์และการห้ามบินเข้าไทย กลุ่มอุตสาหกรรมจากต่างประเทศจึงไม่สามารถเดินทางเข้ามาจัดงานได้ โดยนักเดินทางกลุ่มไมซ์มีการใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 4-5 เท่า คือราว 3-4 หมื่นบาทต่อหัว เพราะเป็นกลุ่มที่เข้าทำธุรกิจ ส่วนตลาดภายในประเทศบางส่วนยังสามารถจัดได้

 

โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บได้คาดว่ารายได้จากธุรกิจไมซ์สำหรับปี 2564 นี้ น่าจะยังคงลดลงต่อเนื่องอีกประมาณ 90% เมื่อเทียบกับปี 2563 และคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 3-4 ปีกว่าธุรกิจจะกลับมาเหมือนปี 62 ก่อนเกิดโควิด โดยประเมินว่าในปี 2565 นี้ ธุรกิจจะกลับมาในระดับประมาณ 25% ปี 2566 กลับมาได้ราว 50% และเพิ่มเป็นประมาณ 70% ในปี 2567 และกลับสู่ภาวะปกติได้ในปี 2568 หรือมีอัตราประมาณ 80-100%

ธุรกิจอีเว้นท์อ่วม รายได้สูญนับหมื่นล้าน

ในส่วนของธุรกิจอีเว้นท์ก่อนเกิดโควิด มีมูลค่าการจัดงานอยู่ที่ราว 1.3-1.4 หมื่นล้านบาทจากจำนวนการจัดงานต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 200 งาน แต่ในปี 63 มีการล็อกดาวน์ช่วงมี.ค.-พ.ค. ก่อนจะคลายล็อกในเดือนมิ.ย. ก็ยังทำให้ในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ก่อนคริสมาสต์ก็ยังพอจัดงานได้ ทำให้ประเมินว่าในปี 63 ธุรกิจอีเว้นท์มีรายได้ลดลงเหลือราว 6 พันล้านบาท ลดลงราว 50-60%

 

แต่ในปี 64 ถือว่าแย่กว่าเพราะจากโควิดระลอกปลายธ.ค.-ก.พ.64 ทำให้รัฐมีมาตราการเข้มมาก การจัดอีเว้นท์ได้รับผลกระทบมาร่วม 10 เดือนแล้ว จึงทำให้ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจอีเวนท์มีการจัดงานได้ราว 150 งาน ที่เป็นการจัดแบบเวอร์ชัล มีรายได้ราว1-1.5 พันล้านบาทเท่านั้น หรือลดลงไปกว่า 70-80% สูญรายได้ไปกว่า 1 หมื่นล้านบาท

 

อีกทั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ยังถือว่าเป็นช่วงพีคของการจัดอีเว้นท์ จึงอยากให้ศบค.เร่งพิจารณาคลายล็อกดาวน์ให้ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงนิทรรศการกลับมาจัดงานได้เหมือนเดิมโดยเร็ว เนื่องจากการจัดงานจะต้องใช้เวลาเตรียมงานกว่า 1-2 เดือน แตกจากธุรกิจร้านอาหารหรือศูนย์การค้า ที่พอเปิดบุ๊ปก็กลับมาให้บริการได้ทันที

 

การคลายล็อกรอบล่าสุดที่เปิดให้หลายธุรกิจกลับมาเปิดได้ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ตอนแรกกลุ่มไมซ์ก็หวังไว้ว่าเราจะได้รับการผ่อนผันแต่ก็ต้องผิดหวัง โดยศบค.ขอดูสถานการณ์อีก 14 วัน ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเปิดได้หรือไม่ ทำให้ล่าสุดทั้ง 4 สมาคมด้านไมซ์ ได้แก่ สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA

 

สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ(ไทย) หรือ TICA สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน หรือ (EMA)และสมาคมโรงแรมไทย (THA) ได้ทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ผ่อนผันให้กิจการและกิจกรรมด้านไมซ์กลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ เพื่อให้ธุรกิจไมซ์ กลับมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง เหมือนธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ศูนย์การค้าและบริการอื่นๆ

   ธุรกิจอีเว้นท์อ่วม รายได้สูญนับหมื่นล้าน    

เนี่องจากที่ผ่านมาการจัดงานด้านไมซ์มีแนวปฏิบัติในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มข้น ตามมาตรการปกติใหม่ (new normal) ซึ่งสมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ ได้จัดทำขึ้นและได้รับความเห็นชอบจากสาธารณสุข และ ศบค. ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อใช้กำกับการดำเนินกิจการ และกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านตั้งแต่การเข้าร่วมไปงานไปจนถึงระบบการตรวจสอบย้อนกลับได้ 100% ทำให้รู้ข้อมูลของผู้ร่วมงานทุกราย การคุมคนเข้างานที่ 4 ตรม.ต่อคน มาตรการตรวจคัดกรอง และที่ผ่านมาก็ไม่ปรากฏผู้ติดเชื้อรายใหม่ขึ้นในการจัดงานแต่อย่างใด

 

ธุรกิจไมซ์ทั้งแบบ B2B และ B2C ล้วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะเอ็กซิบิชั่น เพราะทำให้เกิดการลงทุนและอุตสาหกรรมต่อเนื่องก็ได้รับอานิสงส์ด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องของเอ็นเตอร์เทน ซึ่งในภาวะโควิดเรารู้อยู่แล้วว่าการจัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ก็คงยังไม่สามารถจัดได้ต้องรอเวลาที่เหมาะสม

 

จึงอยากให้มองถึงเนื้อแท้ว่ากิจกรรมด้านไมซ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดสรรงบปี 65 ของรัฐบาลก็ควรส่งเสริมให้เกิดการจัดประชุมสัมมนาในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนโดเมสติกไมซ์ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากการหายไปของลูกค้าต่างชาติมาเป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่งแล้ว และตอนนี้การกระจายวัคซีนร่วมมีมากขึ้น ปัญหาตอนนี้คือคนกลัวไม่มีกินมากกว่ากลัวการติดเชื้อ การผ่อนคลายกิจกรรมไมซ์ก็จะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นกัน

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,720 วันที่ 7 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2564