การบินไทย-ไทยแอร์เอเชีย จัดทัพโครงสร้างใหม่รอธุรกิจดีดกลับปี 66

19 พ.ย. 2564 | 04:20 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2564 | 11:33 น.

กว่า 2 ปีที่โควิดส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจการบิน การเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ของการบินไทยและไทยแอร์เอเชีย ปัจจุบันเดินหน้ามาได้ไกลแล้ว และเป็นแต้มต่อ ที่จะทำให้สายการบินอยู่รอดได้ระหว่างรอธุรกิจกลับคืนสู่ปกติอีกครั้งในปี 66-67 นี้

เริ่มจากการเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ที่เห็นผลสัมฤทธิ์ชัดเจนในปีนี้ สะท้อนได้จากผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ที่พลิกจากขาดทุน 49,561 ล้านบาท มากำไร 51,115 ล้านบาท  ซึ่งหลักๆ เป็นกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 60,730 ล้านบาท และกำไรจากการขายเงินลงทุนและทรัพย์สิน 2 พันกว่าล้านบาท รวมถึงประสิทธิภาพในการปรับลดขนาดองค์กรและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และการลดค่าใช้จ่ายต่างๆลงได้44,800 ล้านบาทต่อปี ส่วนรายได้จากธุรกิจการบินอาจยังน้อยอยู่เพราะที่ผ่านมารายได้หลักจะมาจากธุรกิจคาร์โก้เป็นส่วนใหญ่

 

การบินไทยคาดรายได้ 1 แสนล้านปี 66

 

ขณะที่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้การบินไทยก็ยังมีแต้มต่อจากการขายเครื่องบิน 11 ลำ คือโบอิ้ง 747 จำนวน 10 ลำ และแอร์บัสเอ 300-600 จำนวน 1 ลำ ที่ขายได้แล้วรอลงบัญชีไตรมาส 4 ปีนี้หรือไตรมาส 1 ปีหน้า รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจ่ายชดเชยให้พนักงานก็จะลดลงอย่างมากในเดือนก.ค.ปีหน้าและในปลายปีหน้าก็จะหมดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ประกอบกับการบินไทยเริ่มกลับมาเปิดทำการบินระหว่างประเทศหลังการเปิดประเทศ ตั้งแต่เดือนพ.ย.64 เป็นต้นไป  การบินไทยและไทยสมายล์ได้ให้บริการเส้นทางบินรวมกัน 44 จุดหมายปลายหลักทั้งในประเทศและภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกรวมกว่า 400 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งวันนี้การบินไทยกลับมาทำการบินได้ราว 30% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มเป็น 750 คนต่อวันจากก่อนหน้าอยู่ที่ 300 คนต่อวัน

การบินไทย

 

สำหรับแผนหาแหล่งเงินใหม่ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ย้ำว่า คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูและเจ้าหนี้สถาบันการเงินรู้อยู่แล้วว่ากระทรวงการคลังจะไม่สนับสนุนเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาทให้การบินไทย ซึ่งถ้ารัฐไม่ช่วยก็ไม่มีปัญหาเพราะการบินไทยจะใช้เงินกู้จากสถาบันเจ้าหนี้ 2.5 หมื่นล้านบาทที่เงินจะได้เข้ามาในต้นปีหน้า โดยจากการดำเนินงานภายใต้แผนฟื้นฟูทำให้เงิน 2.5 หมื่นล้านบาทนี้เพียงพอที่การบินไทยจะใช้ได้ตลอดช่วงการฟื้นฟูกิจการ

 

“การลงเงินใหม่ของเจ้าหนี้สถาบันการเงินภาคเอกชน เขาก็จะมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคา 2.54 บาทต่อหุ้น ดังนั้นถ้ากระทรวงการคลังไม่แปลงหนี้ 1.3 หมื่นล้านบาทเป็นทุน และหรือซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่จะเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม สัดส่วนการถือหุ้นของรัฐก็จะลดลงจาก 48% มาเหลือ 8% ซึ่งเราได้แจ้งให้รัฐบาลรับทราบแล้ว และคาดหวังว่ารัฐจะให้คำตอบโดยเร็วว่าจะเดินอย่างไร เพราะถ้าไม่สรุป เราก็ต้องเดินหน้าต่อตามแผนเพราะรอไม่ได้ และสิ่งที่เราขอจริงๆคือต้องการให้ภาครัฐคืนหนี้ที่มีกับการบินไทยราว 5 พันล้านบาท ทั้งหนี้ค่าซ่อมเครื่องบิน และเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญ

 

อย่างไรก็ตามแม้รัฐจะถือหุ้นในการบินไทยลดลง แต่การบินไทยก็ยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติได้ เพราะเป็นไปตามมติของครม. และนายกรัฐมนตรีก็ยืนยันชัดเจนว่าการบินไทยจะยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติต่อไป และเชื่อว่าในปี 66 การบินไทยจะสามารถทำกำไร คาดว่าจะมีรายได้แตะ 1 แสนล้านบาท และในปี 67 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.4-1.5 แสนล้านบาท จากเครื่องบินที่ใช้งานจำนวน 54 ลำ

 

AAV ได้เงินเพิ่มทุน1.4 หมื่นล้าน

ส่วนไทยแอร์เอเชีย แม้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 64 จะขาดทุน 10,248 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนอยู่ 6,641 ล้านบาท แต่ไทยแอร์เอเชีย ก็เดินแผนรับมือด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อเพิ่มทุน 1.4 หมื่นล้านบาท นำมาใช้เป็นกระแสเงิน ระหว่างรอธุรกิจเริ่มฟื้นตัว

 

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า หลังการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 พ.ย.นี้ สายการบินจะขออนุมัติการปรับโครงสร้าง โดยเราจะไม่นำบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนบริษัทแอร์เอเชียเอวิเอชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ AAV แล้ว แต่เลือกที่จะปรับโครงสร้างใน AAV ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว โดยเพิ่มทุนเข้าไป 100% ซึ่งจะทำให้เราได้เงินเร็วและซับซ้อนน้อยกว่าแผนเดิมคาดว่าจะได้เงินเข้ามาก้อนแรก 1.1 หมื่นล้านบาทในเดือนธ.ค.นี้และอีก 3 พันล้านบาทในเดือนม.ค.

 

โดย AAV จะเพิ่มทุนจดทะเบียนและเสนอขายหุ้นให้นักลงทุนรายใหม่มูลค่าไม่เกิน 8,800 ล้านบาท ที่จะขายแก่ AirAsia Aviation Limited (“AAA”) มูลค่า 7,800 ล้านบาท และเสนอขายแก่นักลงทุนบุคคลธรรมดา 6 ราย คือ นายพิธาน องค์โฆษิต, นายปรินทร์ โลจนะโกสินทร์, นายบัณฑิต พิทักษ์สิทธิ์, นางปิยะพร วิชิตพันธุ์, นายสุวพล สุวรุจิพร, นายวรพจน์ อำนวยพล มูลค่า 1,000 ล้านบาท การออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพมูลค่า 2,200 ล้านบาท และการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,714 ล้านหุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นรายเดิม โดยเสนอขายให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 1,200 ล้านบาท และ North Haven Thai Private Equity, L.P. มูลค่า 1,000 ล้านบาท

 

โครงสร้างใหม่ไทยแอร์เอเชีย

 

“เราคาดการณ์กันปีหน้าจะไม่แย่กว่าปี 64 เราคาดว่าโดเมสติกกลับ 100% ตั้งแต่ต้นปีส่วนเส้นทางบินต่างประเทศกลับมาบินมัลดีฟส์เดือนธ.ค.นี้ และคาดว่าไตรมาสแรกปีหน้าจะกลับมาบินต่างประเทศได้ อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฮ่องกง อินเดีย ซึ่งต้องมองหาประเทศที่เปิดการท่องเที่ยวเหมือนกับไทย ส่วนไตรมาส 2 หวังว่าจะเปิดบินจีนได้ ไตรมาส 3 จะเปิดเพิ่มได้อีกที่ญี่ปุ่นบางเมืองและจนถึงไตรมาส 4 น่าจะบินได้ 60-70% และปี 66 น่าจะบินได้ 100% ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ” นายสันติสุข กล่าวทิ้งท้าย

 

ทั้งหมดเป็นแผนปรับใหญ่ของ 2 สายการบินหลักของไทย ในการประคองธุรกิจเพื่อรอการฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,732 วันที่ 18 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564