ปัจจุบันหลายโรงพยาบาลเริ่มประสบปัญหาเตียงในการรองรับผู้ป่วยเต็มแล้ว ประกอบกับการแพร่ระบาดของ โอมิครอน ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อย และเป็นผู้ป่วยสีเขียว ไม่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ดังนั้นภาครัฐจึงได้ปรับวิธีการรองรับผู้ป่วย โดยใช้ระบบ Home isolation หรือ Community isolation สำหรับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการเปิดระบบ Hotel Isolation เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยว
นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลในภูเก็ตเตียงเต็มแล้ว สสจ.ภูเก็ตจึงเปิดระบบ Hotel Isolation ให้โรงแรมที่นักท่องเที่ยวเข้าพักอยู่แล้วแต่ติดโควิด สามารถพักต่อไปได้ โดยกักตัวอยู่ในห้องพักของโรงแรม ตามที่ภาคเอกชนนำเสนอ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาการใช้เตียงในโรงพยาบาล และสร้างความสะดวกให้นักท่องเที่ยวมากกว่า
ขณะนี้มีโรงแรมในภูเก็ตกว่า 130 แห่ง ราว 1 พันกว่าห้อง ได้ยื่นขอสมัครลงทะเบียน Hotel Isolation คาดว่าสสจ.ภูเก็ตจะอนุมัติได้ในอีก 1-2 วันนี้ โดยโรงแรมที่เป็น Hotel Isolation จะต้องมีการจัดโซนหรือห้องพักในบางชั้นเพื่อให้บริการเฉพาะลูกค้าที่ติดโควิด โดยจะมีการส่งอาหารให้ทุกมื้อ ยา และการมอนิเตอร์อาการจากบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งแนะนำให้โรงแรมกันห้องไว้ส่วนหนึ่ง ที่จะแยกออกจากการรองรับนักท่องเที่ยวทั่วไป
“Hotel Isolation นอกจากจะตอบโจทย์เตียงในโรงพยาบาลที่เต็มแล้วได้แล้ว ยังตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่มีปัญหาในเรื่องการติดต่อประกันด้วย เพราะกว่าจะติดต่อประกันนานาชาติได้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 48 ชั่วโมง ดังนั้นการให้ลูกค้าที่ติดโควิดพักโรงแรมต่อไปได้ก็จะสะดวกกว่า” นายก้องศักดิ์ กล่าว
นางสาวศศิธร กิตติธรกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กล่าวว่าขณะนี้สมาคมฯอยู่ระหว่างประกาศเชิญชวนโรงแรมลงทะเบียนเป็น Hotel Isolation
Hotel Isolation และฮอสพิเทล แม้จะรองรับผู้ป่วยโควิดในกลุ่มสีเขียวที่มีอาการเล็กน้อย และต้องมีคู่สัญญาเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่เหมือนกัน แต่จะมีความแตกต่างกันตรงที่ Hotel Isolation ไม่จำเป็นต้องมีพยาบาล มาประจำที่โรงแรม เพราะจะใช้วิธีติดตามอาการเป็นระยะ ผ่านโทรศัพท์ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการให้บริการ Hotel Isolation จึงต่ำกว่าฮอสพิเทล โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 3 พันบาทต่อวัน (รวมที่พัก อาหารทุกมื้อและค่ายา) ขณะที่ฮอสพิเทลจะอยู่ที่ราว 4-5 พันบาทต่อวัน
ดังนั้น Hotel Isolation จะเน้นรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ดังนั้นนักท่องเที่ยวก็คงอยากได้ค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าหรือมีวงเงินตามประกันที่ทำมา เพราะการรักษาต้องใช้เวลาราว 10 วัน ส่วนฮอสพิเทล ส่วนใหญ่จะเป็นการรับผู้ป่วยโควิดในพื้นที่เป็นหลัก เบื้องต้นตั้งเป้าว่าจะมีโรงแรมเข้าร่วมลงทะเบียนเป็น Hotel Isolation อยู่ที่ราว 500 เตียง โดยโรงแรมที่จะเข้าลงทะเบียนได้ต้องมีมาตรฐานและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้
“Hotel Isolation จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่กระบี่มีฮอสพิเทลราว 2 พันกว่าห้อง และโรงแรมที่เป็น AQ ราว 3,000 กว่าห้อง ขณะนี้โรงแรมในกระบี่มีอัตราครองเตียงอยู่ที่ 31.5% ที่ยังรองรับผู้ป่วยได้ แต่ด้วยความที่เรามีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาในแบบTest & Go มาก และเมื่อมีการแพร่ระบาดของโอมิครอน ซึ่งการตรวจเชื้อแบบ Rt-Pcr ครั้งที่ 1 ส่วนใหญ่ไม่พบเชื้อ แต่จะมาพบเชื้อในการตรวจครั้งที่2 และการแพร่ระบาดอยู่ในอัตรา 1:8 ซึ่งไวมาก
ทำให้ทางกระบี่ต้องเตรียมแผนรับมือเอาไว้ โดยตั้งแต่เปิดประเทศกระบี่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศบินตรงเข้าสนามกระบี่ราว 2 พันกว่าคนส่วนใหญ่เดินทางมาในแบบTest & Go และที่ยังเหลือรอเดินทางเข้ากระบี่อีกราว 1 พันคน” นางสาวศศิธร กล่าว
นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า นอกจากพัทยาจะเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุกประชาชนในพื้นที่เมืองพัทยาและบางละมุงแล้ว ยังได้เร่งหารือร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนดูแลและรักษาผู้ติดเชื้อใน 2 ระบบ คือ 1.Home Isolation หรือกระบวนการรักษาตัวที่บ้านสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งพบเชื้อ และ 2.การจัดตั้ง Hospitel ขึ้นอีกครั้ง
นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เดอะทวิน ทาวเวอร์ กล่าวว่า ในขณะนี้ฮอสพิเทลในกรุงเทพฯเริ่มกลับมามีลูกค้าอีกครั้งหลังการแพร่ระบาดของโอไมครอน เนื่องจากเริ่มมีโรงพยาบาลทยอยส่งผู้ป่วยเข้ามาบ้างแล้ว จากเดิมที่ก่อนหน้านี้มีการส่งผู้ป่วยเข้ามาน้อยมาก ซึ่งในกรุงเทพฯยังมั่นใจว่าโรงพยาบาลยังรองรับผู้ป่วยได้
ประกอบกับการที่รัฐบาลเปิดให้ทำ Home isolation ได้ ก็เชื่อว่าความต้องการฮอสพิเทลในกรุงเทพก็คงจะไม่ได้มากมายเหมือนช่วงการแพร่ระบาดในครั้งก่อนหน้า ต่างจากโรงพยาบาลในต่างจังหวัดที่มีโรงพยาบาลน้อย เตียงรองรับไม่พอ และการทำ Home isolation บางคนก็ไม่พร้อมที่จะกักตัวอยู่บ้าน เพราะเป็นครอบครัวใหญ่ ความต้องการฮอสพิเทล จึงยังคงมีความต้องการเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่า โรงพยาบาลเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิดเต็มที่ โดยจัดสรรพื้นที่รองรับเฉพาะ แยกกับผู้ป่วยอื่น พร้อมเพิ่มมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยมีขั้นตอนและการคัดแยกผู้ป่วย หากอยู่ในกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ หรือไม่รุนแรง จะให้รักษาโดยใช้ระบบ Home isolation หรือ Community isolation และให้ยาต้านเชื้อโควิด
ส่วนกรณีที่มีอาการปอดอักเสบแต่ไม่รุนแรง จะจัดอันดับการใช้เตียงเริ่มตั้งแต่ระดับ 1 ถึงระดับ 3 ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลจะพิจารณาในการรักษา ตามขั้นตอนที่เหมาะสมรวมถึงการจัดหาพื้นที่ในการรักษาตัวในฮอทพิเทล เป็นต้น
ขณะที่จากการสอบถามไปยังโรงพยาบาล รามคำแหง พบว่าเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดที่จัดไว้ 3 วอร์ด มีผู้เข้ารับการรักษาเต็มหมดแล้ว ขณะเดียวกันได้เตรียมขยายเตียงในโรงพยาบาลสนามเพื่องรองรับหากมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่ปัจุบันยังไม่มีการเปิดใช้แต่อย่างใด
ส่วนโรงพยาบาลประชาพัฒน์ ในเครือโรงพยาบาลอินเตอร์เมดฯ ระบุว่า ร.พ.มีความพร้อมในการรับผู้ป่วยเต็มที่ ล่าสุดได้จัดซื้อชุดโควิดแบบใหม่ Flowflex ATK ซึ่งมีความไวต่อการตรวจจับไวรัสโควิดได้กว่า 6 สายพันธุ์ รวมทั้งจัดเตรียมศูนย์พักคอยเขตราษฎร์บูรณะ จำนวนกว่า 200 เตียงสนาม และ 9 เตียงความดันลบเพื่อเปิดรับผู้ป่วยด้วย